x close

8 ข้อแนะนำ ลอยกระทงอย่างไร ให้ห่างไกลอุบัติภัย ไม่เจ็บตัว

ลอยกระทง
ภาพจาก GOLFX/Shutterstock.com

          ลอยกระทงให้สนุกสนานและสบายใจ และหากลอยกระทงปีนี้ไม่อยากเห็นข่าวอุบัติภัย รีบมาอ่านวิธีป้องกันอุบัติภัยในวันลอยกระทงกันเถอะ

          นอกจากภาพความสวยงามของกระทงแบบต่าง ๆ ที่ลอยล่องอยู่ในแม่น้ำ และภาพบรรยากาศประเพณีลอยกระทงในแต่ละจังหวัด อีกข่าวหนึ่งที่ไม่น่าจะมีใครอยากให้เกิดคงหนีไม้พ้นข่าวอุบัติภัย โดยเฉพาะเหตุที่เกิดจากการจมน้ำ พลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอยแน่ ๆ ดังนั้นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเลยจัดวิธีป้องกันอุบัติภัยในวันลอยกระทงมาแจ้งให้ประชาชนทุกคนได้ทราบ และคงจะดีมาก ๆ หากทุกคนปฏิบัติตามได้ครบทั้ง 8 ข้อดังนี้
ลอยกระทงอย่างไร ให้ห่างไกลอุบัติภัย ไม่เจ็บตัว

1. เลือกลอยกระทงบริเวณท่าน้ำหรือโป๊ะที่มั่นคงแข็งแรง

          ถ้าว่ายน้ำไม่เป็นและไม่อยากตกน้ำป๋อมแป๋ม อย่างแรกที่ควรเลือกสรรให้ดี ๆ คือทำเลลอยกระทงนี่แหละค่ะ โดยหากเป็นท่าน้ำ ก็ควรต้องเป็นท่าน้ำที่มีพื้นที่ให้นั่งลอยกระทงอย่างปลอดภัย ระยะท่าน้ำกับแม่น้ำต้องไม่สูงชันจนเอื้อมไม่ถึง อีกทั้งควรเช็กให้ดีด้วยว่า พื้นบริเวณท่าน้ำนั้น ๆ แน่นและมีหลักให้จับยึดไหม เพราะอาจเป็นไปได้ว่า ตลิ่งอาจยุบตัวลง หรือมีคนมาเบียดเสียดจนพลัดตกน้ำไปได้

          ส่วยการลอยกระทงที่โป๊ะ ก็ควรเป็นโป๊ะที่แข็งแรง มั่นคงดีด้วย หรือหากนั่งเรือไปลอยกระทง กรณีนี้ต้องสวมเสื้อชูชีพด้วยนะจ๊ะ

2. ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

          โดยเฉพาะเด็กที่ชอบว่ายน้ำไปเก็บเศษสตางค์ในกระทง หรือเด็กเล็ก ๆ วัยซน เคสเหล่านี้ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่อย่างนั้นอาจเกิดเหตุเด็กพลัดจมน้ำเสียชีวิตได้

3. ให้สัญญาณก่อนจุดพลุทุกครั้ง

          หากจำเป็นต้องจุดพลุ ควรให้สัญญาณกับประชาชนในละแวกนั้นทุกครั้งก่อนจุดพลุ อีกทั้งควรอยู่ห่างจากบริเวณที่จุดพลุอย่างน้อย 10 เมตรขึ้นไป เพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่พลุเกิดระเบิด

ลอยกระทงอย่างไร ให้ห่างไกลอุบัติภัย ไม่เจ็บตัว

4. ห้ามจุดพลุในสถานที่สุ่มเสี่ยงเกิดระเบิด

          บริเวณใกล้แนวสายไฟ สถานีบริการน้ำมัน วัตถุไวไฟ แหล่งชุมชน และบ้านเรือน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่เป็นจุดเสี่ยงของการเกิดเพลิงไหม้จากสะเก็ดไฟของพลุทั้งสิ้น ดังนั้นพยายามหลีกเลี่ยงการจุดพลุหรือเล่นดอกไม้ไฟทุกชนิดบริเวณเหล่านี้อย่างเด็ดขาด

5. ห้ามนำดอกไม้ไฟที่จุดไม่ติดมาจุดซ้ำ

          ดอกไม้ไฟที่จุดไม่ติด อย่าพยายามจุดซ้ำหรือยื่นหน้าเข้าไปดูใกล้ ๆ เพราะดอกไม้ไฟอาจเกิดระเบิดใส่หน้าจนได้รับบาดเจ็บได้

6. ไม่ดัดแปลงพลุ ดอกไม้ไฟ

          การดัดแปลงพลุ และดอกไม้ไฟให้มีแรงอัดหรือแรงระเบิดสูง เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้พลุเกิดระเบิดอย่างรุนแรงได้ ฉะนั้นอย่าดัดแปลงพลุและดอกไม้ไฟจะดีกว่านะคะ

ลอยกระทงอย่างไร ให้ห่างไกลอุบัติภัย ไม่เจ็บตัว

7. ไม่ปล่อยโคมในพื้นที่ชุมชน

          โคมลอยอาจหล่นไปตกใส่หลังคาบ้านเรือนในชุมชน ก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ และความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้นทางที่ดีพยายามหลีกเลี่ยงการปล่อยโคมไฟในเขตชุมชนหรือพื้นที่แออัดไปเลยจะดีที่สุด

8. ห้ามปล่อยโคมบริเวณโดยรอบสนามบิน

          โดยเฉพาะในช่วงที่เครื่องบินทำการบินขึ้นหรือร่อนลง เนื่องจากโคมไฟอาจไปรบกวนทัศนวิสัยในการบิน และส่งผลกระทบต่อท่าอากาศยานได้

          อย่างไรก็ดี การลอยกระทงให้รอดพ้นจากอุบัติเหตุและอุบัติภัยเหล่านี้ ก็ขึ้นอยู่ที่ความไม่ประมาทของทุกคนด้วยนะคะ โดยเฉพาะเครื่องดื่มอย่างแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจทำให้สติสัมปะชัญญะมีไม่ครบถ้วน และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินในหลาย ๆ ด้าน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 ข้อแนะนำ ลอยกระทงอย่างไร ให้ห่างไกลอุบัติภัย ไม่เจ็บตัว อัปเดตล่าสุด 31 ตุลาคม 2560 เวลา 17:12:12 7,936 อ่าน
TOP