x close

สุริยุปราคา คือปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นได้อย่างไร มาไขคำตอบกัน


สุริยุปราคา

          สุริยุปราคา คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ต่างจาก จันทรุปราคา อย่างไร มาร่วมไขคำตอบพร้อมกัน ก่อนชมปรากฏการณ์ สุริยุปราคาเต็มดวง 9 มีนาคม 2559

          นับเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าจับตามอง สำหรับการเกิด สุริยุปราคา ที่ชาวไทยใกล้จะได้ชม สุริยุปราคาเต็มดวง เหนือน่านฟ้าเมืองไทยในเช้าวันที่ 9 มีนาคม 2559 เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์หายากที่หากพลาดแล้วต้องรอนานอีก 54 ปี จึงจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยอีกครั้ง

          และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนรับชมปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้พร้อมกัน รวมถึงไขปัญหาคาใจเราทั้งหลายว่า สุริยุปราคา คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และสุริยุปราคาแตกต่างจาก จันทรุปราคาอย่างไรนั้น กระปุกดอทคอมก็มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ สุริยุปราคา มาฝากกันค่ะ

สุริยุปราคา

สุริยุปราคา คืออะไร


          สุริยุปราคา หรือในภาษาอังกฤษคือ Solar Eclipse เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ดวงจันทร์บังแสงของดวงอาทิตย์ เกิดจากการโคจรของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ เข้ามาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์แทรกอยู่กึ่งกลาง ระหว่างดวงอาทิตย์ และโลก

          สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เนื่องจากดวงจันทร์มักจะโคจรในระดับที่สูงหรือต่ำกว่าแนวระนาบเดียวกันกับโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งการที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาบังแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังพื้นโลก ทำให้พื้นโลกบริเวณดังกล่าวไม่ได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ในชั่วขณะหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ยังถูกเรียกอีกอย่างว่า สุริยะคราส


สุริยุปราคา มีกี่แบบ

          สำหรับประเภทของการเกิดสุริยุปราคานั้น สามารถแบ่งได้ตามลักษณะการมองเห็นจากพื้นโลกในบริเวณที่อยู่ใต้เงาของดวงจันทร์ โดยแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ

          1. สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) คือ มองเห็นเงามืดของดวงจันทร์ บดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวง

          2. สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse) คือ มองเห็นเงามืดของดวงจันทร์ บังดวงอาทิตย์เป็นวงกลม โดยยังมีแสงสว่างคล้ายวงแหวนปรากฏอยู่ล้อมเงามืดนั้น

          3. สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) คือ มองเห็นเงามืดของดวงจันทร์ บดบังดวงอาทิตย์เป็นบางส่วน และยังมีแสดงสว่างของดวงอาทิตย์โผล่ให้เห็นบางส่วน


การเกิดสุริยุปราคา
การเกิดสุริยุปราคา

  สุริยุปราคา จันทรุปราคา แตกต่างอย่างไร

          แม้ว่าทั้ง สุริยุปราคา และ จันทรุปราคา จะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการโคจรของ ดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์ เช่นกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันมาก ทั้งลำดับของดวงดาวทั้ง 3 บนระนาบ และการมองเห็นบนพื้นโลก

จันทรุปราคา
การเกิดจันทรุปราคา

          โดย จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) เกิดจากการโคจรของโลก ที่เข้ามาแทรกอยู่ระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ในระนาบเดียวกัน เป็นผลให้โลกบดบังแสงของดวงอาทิตย์ ไม่ให้ตกกระทบที่ดวงจันทร์ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือเงาของโลกบดบังดวงจันทร์อยู่นั่นเอง ทำให้คนบนโลกเห็นดวงจันทร์ค่อย ๆ มืดลง และเปลี่ยนเป็นสีแดงอิฐ ปรากฏการณ์นี้ยังเรียกอีกอย่างว่า จันทรคราส

จันทร์แดง
ภาพพระจันทร์สีแดงอิฐจาก ChameleonsEye/Shutterstock.com

สุริยุปราคา ในประเทศไทย

          ประเทศไทยเกิดสุริยุปราคาขึ้นไม่บ่อยนัก แต่เมื่อดูจากหลักฐานที่อ้างอิงได้ คาดว่าน่าจะเกิดสุริยุปราคาขึ้นหลายครั้งแล้วนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กระทั่งถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เคยเกิดสุริยุปราคาขึ้นถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยทรงกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาร่วมกับคณะบาทหลวงเยซูอิต และข้าราชบริพารฝ่ายไทย ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2228 ซึ่งเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง โดยเสด็จทอดพระเนตรที่เมืองละโว้ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2231

          จากนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนวณพยากรณ์การเกิดสุริยุปราคาวันที่ 18 สิงหาคม 2411 โดยมีแนวคราสผ่านที่ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนทรงออกประกาศล่วงหน้าให้ประชาชนไทยได้ทราบล่วงหน้าถึง 2 ปี เมื่อเสด็จทอดพระเนตรพบว่าทรงคำนวณได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ทำให้พระองค์ทรงได้รับการยอมรับจากนานอารยประเทศ และทรงได้รับยกย่องว่าทรงเป็น "พระบิดาแห่งดาราศาสตร์ไทย" รวมถึงกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ถือเป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" จากนั้นยังเกิดสุริยุปราคาขึ้นอีกหลายครั้งจวบจนถึงรัชสมัยปัจจุบัน


สุริยุปราคาเต็มดวง 9 มีนาคม 2559

          สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคา ที่ชาวไทยจะสามารถสังเกตได้ในอีกไม่ช้า ก็คือ สุริยุปราคาเต็มดวง ในช่วงเช้าวันที่ 9 มีนาคม 2559 ซึ่งสามารถมองเห็นได้ใน 14 พื้นที่ทั่วประเทศ และทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สตร.) ได้ตั้งจุดสังเกตการณ์ใหญ่ไว้ 5 จุดด้วยกัน ซึ่งหากพลาดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ต้องรออีกนานถึง 54 ปี จึงจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยอีกครั้ง ในวันที่ 11 เมษายน 2613

          อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ไทยสามารถสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ในอีก 5 ครั้งถัดไป ได้แก่

          - วันที่ 26 ธันวาคม 2562
          - วันที่ 21 มิถุนายน 2563
          - วันที่ 20 เมษายน 2566
          - วันที่ 2 สิงหาคม 2570
          - วันที่ 22 กรกฎาคม 2571


สุริยุปราคา

การสังเกต สุริยุปราคา

          สุริยุปราคา เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนบนโลกจะให้ความสนใจอยากเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์นี้กัน อย่างไรก็ตามการมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าส่งจะผลเสียต่อดวงตาได้ แม้มองในขณะเกิดสุริยุปราคา ดังนั้นจึงต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยกรองรังสีบางชนิดที่จะเข้าสู่ตา เช่นการมองผ่านแผ่นฟิล์มกรองแสง เป็นต้น

ประโยชน์ของการสังเกตสุริยุปราคา

          การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถสังเกตชั้นบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ ซึ่งตามปกติจะไม่สามารถมองเห็นได้ เนื่องจากบรรยากาศชั้นโฟโตสเฟียร์ของดวงอาทิตย์นั้นสว่างกว่ามาก


อัพเดทข่าว สุริยุปราคา 2559 ทั้งหมดคลิกเลย


ภาพจาก lesa.biz
ข้อมูลจาก thaigoodview.com, rmutphysics.com, krunewkew/science, krukookkai15


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุริยุปราคา คือปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นได้อย่างไร มาไขคำตอบกัน อัปเดตล่าสุด 8 มีนาคม 2559 เวลา 11:31:41 122,957 อ่าน
TOP