x close

ข้อมูลว่าด้วย "ศพในโกศ" กับเรื่องราวที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับ "พระโกศ"

เรื่องราวที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับ พระโกศ

          เปิดเรื่องราวของ ศพในโกศ ว่าด้วยการบรรจุศพเจ้านายหรือผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ลงในโกศ คืออะไร มีที่มาอย่างไร ทำไมต้องลงโกศ ที่นี่มีคำตอบ

          จากข่าวการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนำความเศร้าเสียใจมาสู่พสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ และได้มีการใช้พระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" ก่อนจะมีประกาศว่า ให้ใช้พระนามเดิมของพระองค์ ได้ทั้งพระนามเต็มและพระนามย่อ แต่มิได้ยกเลิกหรือห้ามใช้พระนาม "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" แต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของสื่อ

           และแม้ว่าจะมีการอันเชิญพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ลงในหีบพระบรมศพ แทนการประทับยังพระบรมโกศตามโบราณราชประเพณี เนื่องจากพระประสงค์ส่วนพระองค์ ซึ่งสามารถทำได้ตามพระราชอัธยาศัยแล้ว แต่ก็ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่เกิดความสนใจเกี่ยวกับเรื่อง "พระบรมโกศ" หรือ "พระโกศ" ซึ่งใช้บรรจุพระบรมศพหรือพระศพพระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ หรือเจ้านายชั้นสูงในอดีต ว่าคืออะไร มีที่มาอย่างไร วันนี้เราจึงขอนำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จากทางเว็บไซต์ แพรวดอทคอม ซึ่งคุณ โลจน์ นันทิวัชรินทร์ ได้นำเรื่องราวจากหนังสือ "ศพในโกศ" ของ หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน์ มาเล่าต่อ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น มาให้ได้รับทราบกันค่ะ

เรื่องราวที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับ พระโกศ
- โกศ มีที่มาอย่างไร

           โกศ เป็นภาษาสันสกฤต ดังนั้นรากของวัฒนธรรมการบรรจุศพลงโกศ  จึงมาจากอินเดียโบราณ สำหรับในเมืองไทยนั้น การอัญเชิญพระศพเจ้านายลงในพระโกศ มีหลักฐานย้อนกลับไปถึงสมัยสุโขทัย เพราะปรากฏข้อความตอนหนึ่งใน "ไตรภูมิพระร่วง" ซึ่งมีการกล่าวถึงการอัญเชิญพระศพลงพระโกศอยู่ด้วย

- ทำไมจึงต้องอัญเชิญพระศพลงพระโกศ


           การเชิญพระศพเจ้านายลงพระโกศ เป็นการจัดท่าพระศพให้เหมือนอยู่ในท่า "นั่งตาย" ประหนึ่งเสียชีวิตในท่านั่งสมาธิ  ด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อตายในสมาธิก็ย่อมไปสู่ภพภูมิที่ดีงาม และยังมีอีกความเชื่อที่ว่า การอยู่ในท่านั่งงอตัวนั้น เหมือนกับท่าทารกในครรภ์มารดา เป็นอุบายให้พิจารณาธรรมว่า เมื่อตายแล้วยังไงก็ต้องกลับมาเกิดอีก และควรจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ จึงควรอยู่ในท่าเหมือนทารกในครรภ์ ที่เชื่อมโยงกับการกลับมาเกิดใหม่เป็นมนุษย์ได้ง่าย ๆ นั่นเอง

เรื่องราวที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับ พระโกศ

- ท่าประทับในพระโกศ

           ตามบันทึกที่มีการค้นพบ ระบุท่าประทับในพระโกศไว้ว่า "พระเพลา (ขา) อยู่ในท่าประทับนั่ง พระอุรุ (ต้นขา) แนบอยู่กับพระนาภี (ท้อง) พระชานุ (เข่า) เกยอยู่ที่พระหนุ (คาง) พระบาท (เท้า) พันธนาการไว้กับเสาไม้ พระกร (มือ) โอบรอบพระเพลา (ขา)" ไม้ที่เกยพระหนุ (คาง) ต้องเป็นไม้ที่ปลายเป็นรูปตัว Y เพื่อประคองพระศอ (คอ) และพระพักตร์ (หน้า) เป็นไม้หลักที่อยู่ในพระโกศ เรียกว่า "กาจับหลัก" ซึ่งไม่ได้มีการเสียบแทงทะลุร่างแต่อย่างใด

- การบรรจุพระศพลงพระโกศ

           เจ้าพนักงานภูษาปูผ้าขาวรวม 3 ผืน ซ้อนเป็นรูปหกแฉก อันเขิญพระศพประทับบนผ้าขาว แล้วรวบชายประชุมไว้เหนือพระเศียร ถวายสุกำ (มัด) ด้วยด้ายดิบ ปล่อยชายไว้สอดออกไปต่อกับพระภูษาโยง แล้วอัญเชิญพระศพลงสู่พระลองทอง วางพระเขนย (หมอน) หมุนรอบพระองค์กันเอียง ก่อนปิดฝาพระโกศ

เรื่องราวที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับ พระโกศ

- ภายใต้พระโกศ

           พระศพที่ประทับในพระโกศย่อมจะสลายไปตามเวลา และมีพระบุพโพ (น้ำจากร่างกาย) ที่ไหลออกมาตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีการสอดท่อเพื่อรับพระบุพโพให้ไหลลงไปรวมกันในถ้ำพระบุพโพ ซึ่งเป็นโถเซรามิกใต้ฐานพระโกศ โดยถ้ำพระบุพโพนี้จะยาขี้ผึ้งสนิทเพื่อกันกลิ่น เว้นแต่ที่เป็นรูต่อกับท่อพระบุพโพ โดยในสมัยก่อนท่อพระบุพโพทำจากลำไม้ไผ่เล็ก ๆ ส่วนในปัจจุบันเป็นท่อพลาสติกใส

           ทั้งนี้ ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ จะมีพิธีที่เรียกว่า "ถวายพระเพลิงพระบุพโพ" คือการอัญเชิญถ้ำพระบุพโพซึ่งบรรจุของเหลวที่เป็นของเสียจากพระศพไปเผาก่อน เพื่อจัดการในเรื่องกลิ่น ไม่ให้มีกลิ่นรบกวนผู้มาถวายความอาลัย เพราะจะไม่เป็นมงคล อีกทั้งยังเป็นการถวายพระเกียรติต่อเจ้านายพระองค์นั้นเป็นครั้งสุดท้ายด้วยนั่นเอง

เรื่องราวที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับ พระโกศ

เรื่องราวที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับ พระโกศ

เรื่องราวที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับ พระโกศ


ข้อมูลและภาพจาก praew.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้อมูลว่าด้วย "ศพในโกศ" กับเรื่องราวที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับ "พระโกศ" อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2559 เวลา 11:28:18 177,411 อ่าน
TOP