x close

ศ.ธงทอง เปิดความรู้เกี่ยวกับการสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ




ศ.ธงทอง เปิดความรู้เกี่ยวการสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ

ศ.ธงทอง เปิดความรู้เกี่ยวการสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ

        ศ.ธงทอง เปิดความรู้เกี่ยวกับการสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

        เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2559 เว็บไซต์ข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ ในหัวข้อเรื่อง ความรู้เกี่ยวกับพระบรมศพ : การสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ มีเนื้อหาให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนที่ติดตามข่าวสารและถวายความอาลัยพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
        ทั้งนี้ ทางฝ่ายผู้สัมภาษณ์ได้ถามว่า ตามธรรมเนียมการสวดพระอภิธรรมศพของหลวงเป็นอย่างไร  ด้านศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง อธิบายว่า ในเวลาที่มีผู้วายชนม์ในสังคมไทยทั่ว ๆ ไป เราเป็นพุทธศาสนิกชนเสียเป็นส่วนใหญ่ จะมีการบำเพ็ญกุศลตามประเพณีตามความเชื่อทางศาสนาโดยการตั้งศพบำเพ็ญกุศล

        ในระหว่างนั้นจะมีการสวดเป็นวาระไป สำหรับสามัญชนทั่วไป ผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อนฝูง เราคงปฏิบัติอยู่เป็นประจำ โดยไปฟังสวดตอนเย็นเวลา 18.30-19.30 น. และมีการสวดโดยพระที่เรานิมนต์มาจำนวน 4 รูป และจะสวดเป็นจบหรือคาถายาวประมาณ 5-10 นาที และสวด 4 จบ เป็นอันเสร็จพิธีไปในค่ำคืนวันนั้น แขกเหรื่อก็ลากลับเป็นอันเสร็จพิธีไป นี่เป็นภาพที่เราเห็นอยู่โดยทั่วไป

        ปัจจุบันคนไทยก็ไม่ได้เรียนภาษาบาลีที่พอจะเข้าใจในถ้อยคำที่สวดอยู่ตามวัดวาต่าง ๆ พระเถระ พระภิกษุบางวัดก็ทรงเมตตา แปลเป็นไทย แต่ยังสวดด้วยทำนองที่เอื้อนคล้ายคลึงกับการสวดในทำนองบาลี นี่เป็นสิ่งที่เราเข้าใจโดยทั่วไป พอพูดถึงงานพระศพ หรือพระบรมศพ คติความเชื่อในเรื่องการสวดพระอภิธรรมก็ไม่ได้แตกต่างกัน คือ จะมีการเชิญพระคาถาในพระบาลีมาสวด เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลที่เกิดขึ้นจากการฟังธรรมและอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลถวายแด่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จเจ้าฟ้าที่สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปแล้ว แต่เนื่องจากว่างานพระบรมศพในขณะนี้ แน่นอนบุคคลที่ต้องไปร่วมงานหรือไปปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณนั้นมีจำนวนมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะปฏิบัติอย่างสามัญชนทั่วไปสวด 3 วัน 5 วัน 7 วัน คงจะไม่เพียงพอสำหรับคนที่ตั้งใจจะปฏิบัติถวาย สนองพระเดชพระคุณ รวมทั้งคำนึงถึงพระเกียรติยศและให้เหมาะสมกับรูปแบบ

        แต่โบราณกาลมาได้มีการสวดแบบพระศพหรือพระบรมศพ เป็นเวลาถึง 100 วัน และความเข้าใจพื้นฐานจะสวดเฉพาะตอนเย็นเท่านั้นหรือขอเรียนว่าจริง ๆ ไม่ใช่ สิ่งที่แตกต่างและเรียนเป็นข้อมูลจะมี 2-3 เรื่องด้วยกัน

        พระที่จะมาสวดนั้นเป็นพระจากวัดใด อย่างไร เราไปตั้งศพที่วัดใด โดยมากก็นิมนต์พระวัดนั้นเป็นผู้สวดพระอภิธรรม แต่ของหลวงจะมีการเฉพาะเจาะจง มีพระอารามหลวง 10 พระอาราม และเป็นพระอารามที่มีมาตั้งแต่ รัชกาลที่ 1 หรือบางพระอารามอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แบ่งปันหน้าที่กัน แต่ละพระอารามจะมีพระอยู่จำนวนหนึ่งหรือเรียกว่ามีหนึ่งสำรับก็ได้ ทำหน้าที่ครองตำแหน่งที่เรียกว่า พระพิธีธรรม เป็นคำนามเรียกพระ 4 รูป มีหน้าที่ฝึกซ้อมสวดพระอภิธรรมและมีหน้าที่อื่นที่มอบหมายให้ แต่หน้าที่หลักก็คือไปสวดพระอภิธรรมและไปสวดตามงานต่าง ๆ ไม่เฉพาะงานพระบรมศพเท่านั้น แต่เป็นงานที่หลวงทรงรับเป็นเจ้าภาพในพระบรมราชานุเคราะห์

        เพราะฉะนั้นจะเห็นผู้หลักผู้ใหญ่กราบถวายบังคมลาถึงแก่กรรม ถึงแก่อนิจกรรม ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอย่างเช่น วัดธาตุทอง ก็ใช่ว่าเจ้าภาพจะนิมนต์พระวัดธาตุทอง ในวันที่พระราชทานพระพิธีธรรมมาสวดอภิธรรม เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาจะจัดรถยนต์ไปรับพระมาสวดและไปส่งด้วย ในวันที่พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ตรงนี้เป็นรูปประโยคอย่าไปสับสน พระพิธีธรรมเป็นนาม สวดพระอภิธรรมเป็นกิริยา
 
        พระอารามหลวง 10 วัด ก็มีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร, วัดสุทัศนเทพวราราม, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร, วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร, วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารและวัดอนงคารามวรวิหาร

        ทำนองสวดมีทั้งการเอื้อน การทอดเสียง มีด้วยกัน 4 ทำนอง และที่ติดตามชมการถ่ายทอดของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จะได้ยินการสวดพระอภิธรรมโดยพระพิธีธรรมเหล่านี้ในวาระต่าง ๆ ก็เป็นภาพของการปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมที่สืบเนื่องมากว่า 200 ปีแล้ว และอาจสันนิษฐานได้ว่ามาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว สำหรับพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ก็จะได้รับการปฏิบัติถึง 100 วัน ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น.

        ในส่วนของข้อมูลเรื่องพระพิธีธรรมที่มาสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ จะมีการปันเวรหรือแบ่งหน้าที่กันอย่างไรนั้น ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง กล่าวว่า ตามที่ได้เรียนไว้ พระอารามหลวงมี 10 พระอารามหลวง พระไม่ได้มาพร้อมกัน ในช่วงเวลาหนึ่งท่านจะมาอยู่ที่พระมหาปราสาท ทำหน้าที่อยู่ 2 ชุดด้วยกัน จาก 2 พระอาราม อาจจะเป็นวันนี้ช่วงเวลานี้มาจากวัดสุทัศน์ 1 สำรับ และวัดสระเกศ 1 สำรับ ท่านจะประจำที่เตียงสวดพระอภิธรรมทั้ง 2 เตียงเพื่อสวดพระอภิธรรม และอยากจะเรียนว่ามีการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายภัตตาหารเช้าและถวายภัตตาหารเพลด้วยสำหรับพระที่มาสวด จะเห็นรายละเอียดของวงรอบพิธีพอสมควร ดูจากการถ่ายทอดจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยที่ผ่านมา

        ในเวลาเช้าที่เราถ่ายทอด คือ เวลา 06.00 น. จะมีพระมาสวดแล้ว จริงๆ พระที่มาสวดไม่ได้เพิ่งมา แต่มาตั้งแต่วันก่อนหน้านั้น ตอนบ่ายใกล้ค่ำและสวดมาตลอดค่ำและค้างแรม โดยสำนักพระราชวังจัดที่ค้างแรมในพระบรมมหาราชวัง และเวลารุ่งเช้าจะมาสวดอีกครึ่งชั่วโมง จนถึงเวลา 06.30 น. และหยุดพัก และย้ายไปประจำที่อาสน์สงฆ์ รอทรงเสด็จพระราชดำเนินประเคนภัตตาหารเช้า เพราะฉะนั้นพระสำรับนี้ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่เมื่อวานถึงตอนเช้า พอรับพระราชทานฉันเช้าเสร็จประมาณ 08.00 น. ซึ่งเห็นในช่วงถ่ายทอด ท่านก็กลับวัด กรมการศาสนาจัดรถไปส่งท่าน และเข้าใจได้ว่ามีพระอีกสำรับหนึ่ง มารอปฏิบัติหน้าที่ที่เตียงสวด 2 เตียง

        ก่อนหน้านั้นจะมีเจ้าหน้าที่ถวายภัตตาหารเช้าในพื้นที่ที่สำนักพระราชวังจัดเตรียมไว้ข้างล่าง ก็ถวายภัตตาหารเช้าพร้อมกัน เพียงแต่เราไม่เห็นจากการถ่ายทอด ท่านฉันเพลแล้วก็ขึ้นมาบนพระที่นั่ง เวลาดูถ่ายทอดจะเห็นเจ้านายถวายจตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับพระที่สวดพระอภิธรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นท่านก็จะจุดธูปเทียนสำหรับพระสำรับใหม่ที่เพิ่งมาเมื่อเช้านี้ที่ฉันเรียบร้อย และสวดตั้งแต่เช้าถึงเพลและรับพระราชทานฉันเพล และสวดไปจนถึงช่วงบ่ายต้น ๆ รอจนกระทั่งพระอีก 2 สำรับ มารับเวรสำหรับสวดตอนค่ำ-เช้า ตั้งแต่ 06.30 น. เป็นวงรอบ 100 วัน

        มีเกร็ดความรู้เรื่องการถวายภัตตาหารเช้าและภัตตาหารเพล สำนักพระราชวังปฏิบัติอย่างไร ตามความรู้เข้าใจว่าจะปฏิบัติตามธรรมเนียมโบราณ ถ้าเป็นความสะดวกในสมัยนี้คงจะไปจัดหามา ในสำนักพระราชวังมีหน่วยงานย่อยหน่วยงานหนึ่งเรียกว่าหมวดทรงประเคน มีหน้าที่ปรุงอาหารถวายพระภิกษุสงฆ์ ในเวลาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เช่น ถ้าทรงประเคนเวลา 07.00 น. จะต้องเทียบสำรับให้เสร็จก่อน 06.30 น. ในทางปฏิบัติงานพระบรมศพครั้งก่อน ๆ เจ้าหน้าที่หมวดนี้ต้องตื่นตั้งแต่ตี 3-4 และทำภัตตาหาร 2 รอบ ทั้งเช้าและเย็น นี่เป็นความรู้เกร็ดประเพณี ซึ่งภูมิใจได้ว่าประเทศชาติยังมีแบบแผนที่เคร่งครัด และเรื่องพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ก็เป็นหนึ่งในประเพณีที่สืบทอดมาช้านานแล้ว บางคนอาจจะสับสนในถ้อยคำ จริง ๆ คือ พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมของหลวงนั่นเอง

ข้อมูลและภาพจาก กรมประชาสัมพันธ์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศ.ธงทอง เปิดความรู้เกี่ยวกับการสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2559 เวลา 14:22:28 11,946 อ่าน
TOP