x close

เผยผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตกว่า 20% เหตุผู้ใช้ถนนไม่หลีกทางให้รถพยาบาล





          สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เผยสถิติผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเสียชีวิตถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หลังผู้ใช้ถนนไม่ค่อยให้ทาง และปัญหาการจราจรติดขัด

          จากกรณีที่รถกู้ชีพของโรงพยาบาลบางบัวทองที่กำลังเดินทางไปรับผู้ป่วยเกิดเฉี่ยวชนกับรถกระบะ ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้และทางคู่กรณีไม่ยอมให้รถฉุกเฉินไปรับคนป่วยก่อน จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยวัย 74 ปี เสียชีวิตนั้น (อ่านข่าว : รถกู้ชีพ รพ.บางบัวทอง เฉี่ยวชนรถกระบะ คู่กรณีไม่ยอมให้ไป จนผู้ป่วยตาย)

     
          นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนและทีมกู้ชีพทุกคนรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากต่อเหตุการณ์ครั้งนี้  และทราบดีว่าทางครอบครัวของผู้เสียชีวิตเองก็คงรู้สึกเจ็บปวดต่อเหตุการณ์นี้มากเช่นกัน ซึ่งหลังจากนี้ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางป้องกันและแก้ปัญหาในระยะยาว

          ทั้งนี้ นายแพทย์อนุชา กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์นี้ตนมองว่าต้นเหตุของเรื่องคือการแสดงน้ำใจของผู้ที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน แต่ในเบื้องต้นทางการจะกำชับไปยังคนขับรถกู้ชีพ หรือรถฉุกเฉินให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถพยาบาลและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมาเราพบกับการสูญเสียในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง เกี่ยวกับการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินที่ล่าช้า โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชนไม่ยอมหลีกทาง หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของรถพยาบาล และมีข้อกังขาในเรื่องว่าจะไปรับผู้ป่วยจริงหรือไม่ 

          เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ บอกด้วยว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นไปอย่างล่าช้า คือ สภาพปัญหาของการจราจรที่ติดขัด และความรู้ความเข้าใจเรื่องการหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉินของประชาชนที่ยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งจากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตต้องเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์





          ทั้งนี้ นพ.อนุชา กล่าวว่า จากเรื่องดังกล่าวจึงอยากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่พบเห็นรถพยาบาลฉุกเฉิน ให้ช่วยกันหลีกทาง เพราะการที่ช่วยกันหลีกทางให้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน แม้เพียงเสี้ยววินาทีก็ถือเป็นการต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินที่นอนรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ดีที่สุด และเมื่อได้ยินสัญญาณไซเรนก็ต้องหลีกทางทันที โดยไม่ต้องคิดว่ามีกฎหมายบังคับหรือไม่ แต่ควรปฏิบัติให้กลายเป็นจิตสำนึก คือคิดง่าย ๆ ว่าให้ทาง เท่ากับ ให้ชีวิต หรือลองคิดว่าคนในรถอาจเป็นญาติของเรา และอยากให้เหตุการณ์นี้เป็นครั้งสุดท้ายที่เราต้องสูญเสียชีวิตคนคนหนึ่งไป

        
         


สำหรับแนวทางการหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉินในสากลนั้นจะปฏิบัติดังนี้

          1. เมื่อประชาชนเห็นสัญญาณไฟและได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนก็มักจะตกใจและทำอะไรไม่ถูก ดังนั้นก่อนอื่นผู้ขับขี่ควรตั้งสติ

          2. พยายามมองกระจกหลังเพื่อกะระยะของรถพยาบาลที่วิ่งมา

          3. เมื่อพิจารณาปริมาณรถทั้งซ้ายและขวาที่อยู่ใกล้แล้วพบว่าไม่มีอันตรายและเราสามารถเบี่ยงชิดซ้ายได้ ให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วรถและเบี่ยงซ้ายเพื่อหลีกทางให้รถพยาบาลทันที

          4. หากไม่สามารถหลีกทางได้ด้วยเพราะสภาพรถที่หนาแน่นและมีอันตรายก็ให้หยุดชะลอรถให้นิ่งเพื่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินหาทางวิ่งผ่านเราไปให้ได้

          5. กรณีรถติดและรถพยาบาลฉุกเฉินอยู่ด้านหลังพอดีให้พิจารณาว่าควรชิดซ้ายหรือชิดขวาดี ถ้าไม่มีใครหลีกทางให้ผู้ขับขี่เลือกว่าจะหลบทางไหนและเปิดไฟเลี้ยว เพื่อให้สัญญาณให้รถพยาบาลฉุกเฉิน ได้แซงผ่านไปได้สะดวก

          6. เมื่อรถพยาบาลฉุกเฉินวิ่งผ่านไปแล้วห้ามขับตามเด็ดขาด

   
ภาพและข้อมูลจาก
thaiemsinfo.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตกว่า 20% เหตุผู้ใช้ถนนไม่หลีกทางให้รถพยาบาล อัปเดตล่าสุด 19 มกราคม 2560 เวลา 18:16:52 5,985 อ่าน
TOP