x close

ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง

          วันปีใหม่ ปีใหม่ นี้ นอกจากเราจะมอบ คำอวยพรปีใหม่ กลอน กลอนปีใหม่ ให้กับคนที่เรารักแล้ว เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับ ปีใหม่ เราไปไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวงกันเถอะ ว่าแล้วเราไปดูกันดีกว่าว่า วันปีใหม่ ปีใหม่ นี้เราจะไปไหว้พระที่ไหนกันบ้าง

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          อีกไม่กี่วัน ก็จะได้เวลาโบกมือลาปีเก่า เพื่อต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง หลายคนก็คงจะใช้ช่วงเวลาหยุดยาวนี้ไปพักผ่อน ก่อนที่จะเริ่มต้นการทำงานอีกครั้ง และส่วนใหญ่ก็คงจะหาโอกาสไปทำบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในปี พ.ศ.ใหม่เช่นกัน

          พูดถึงเรื่องการทำบุญแล้ว เรามีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการทำบุญต้อนรับปีใหม่มาบอกกันค่ะ

          เนื่องด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม "ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง" ขึ้น ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 ม.ค. 2551 บริเวณ พระอารามหลวง รอบเกาะรัตนโกสินทร์

          สำหรับ 9 พระอารามหลวงนั้น ได้แก่ "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม" หรือที่รู้จักกันดีว่า "วัดพระแก้ว" ตามคติที่ว่า "เพื่อจิตใจสะอาด ดุจรัตนตรัย" เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ที่นำมาจากกรุงเวียงจันทร์ แต่แท้ที่จริงแล้ว พบเจอวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส

          สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกไม้

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

          ต่อมาคือ "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" หรือ "วัดโพธิ์"ตามคติที่ว่า "ร่มเย็นเป็นสุข" จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง

          สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 9 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น



          แห่งที่สามคือ "วัดบวรนิเวศวิหาร" ตามคติที่ว่า "พบแต่สิ่งดีงานในชีวิต"สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 สร้างขึ้นด้วยศิลปะไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์ คือ พระประธาน อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน เพชรบุรี และ พระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก

          สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 3 ดอก

วัดสระเกศ

          พระอารามหลวงแห่งต่อมาคือ "วัดสระเกศ" ตามคติที่ว่า "เสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล" ทั้งนี้ วัดสระเกศ ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อ วัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้าง พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัช กาลที่ 5

          สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 9 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 3 ดอก

วัดอรุณราชวราราม

          ถัดมาคือ "วัดอรุณราชวราราม" ตามคติที่ว่า "ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกวันคืน" ถือเป็น พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ พระอารามหลวงแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมชื่อว่า"วัดมะกอก" ต่อมา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดแจ้ง" และได้ขยายเขตพระราชฐาน จนวัดแจ้งกลายเป็นวัดในพระราชวัง ครั้นในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอรุณราชธาราม"

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม"

          สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 3 ดอก เทียนคู่

วัดสุทัศน์เทพวราราม

          พระอารามแห่งที่ 6 คือ วัด "สุทัศน์เทพวราราม"ตามคติที่ว่า "วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป" ถือเป็นวัดที่อยู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ตามตำรับมหาพิชัยสงคราม เพื่อให้เป็นวัดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ การก่อสร้างได้สำเร็จตามแผนผังที่กำหนดไว้ในสมัยรัชกาลที่ 7 จากการวางผังที่ดีตั้งแต่แรกเริ่ม จึงทำให้ได้รับการยกย่องเป็น วัดที่มีการวางผังได้สัดส่วนสวยงามที่สุด

          พระอุโบสถภายในวัดสุทัศน์เทพวราราม ถือว่าเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมที่สวยงามของช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานนามว่า "พระพุทธตรีโลกเชษฐ" หล่อโลหะปางมารวิชัยเบื้องหน้าประดิษฐานพระอสีติมหาสาวก 80 องค์

          สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป  3 ดอก เทียน 1 เล่ม

วัดชนะสงคราม

          ต่อมาคือ "วัดชนะสงคราม" ตามคติที่ว่า "มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง" เดิมชื่อ "วัดกลางนา" ถือเป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ราชวรมหาวิหาร มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากรัชกาลที่ 1 ทรงแต่งตั้งพระราชคณะฝ่ายรามัญเป็นผู้ดูแล คนทั่วไปจึงเรียกตามภาษามอญว่า "วัดตองปุ"

          เมื่อสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงกรีฑาทัพกลับพระนครหลังจากทรงมีชัยในสงคราม 9 ทัพ ทรงทำพิธีสรงน้ำและเปลี่ยนเครื่องทรงตามพระราชพิธีโบราณที่วัดแห่งนี้ก่อน เสด็จเข้าพระบรมมหาราชวัง จึงทรงโปรดฯ ให้บูรณะพระอารามใหม่เมื่อปี 2330 จากนั้นรัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชทานนามว่า "วัดชนะสงคราม"

          ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐาน "พระพุทธนรสีหจรีโลกเชฏฐ์" เป็นพระประธานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยปูนปั้นแล้วบุด้วยดีบุกลงรักปิดทองปางมารวิชัย ที่ฐานชุกชีมีพระพุทธรูปโบราณซึ่งสร้างสมัยเดียวกันประดิษฐานล้อมรอบ 15 องค์

          สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 1 ดอก(พระประธานภายในโบสถ์) เครื่องสักการะสำหรับเคารพรูปสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท คือ ธูป 5 ดอก เทียน 1 เล่ม และดอกบัว 1 ดอก

วัดระฆังโฆสิตาราม

          ถัดมาคือ "วัดระฆังโฆสิตาราม"ตามคติที่ว่า "มีชื่อเสียงโด่งดัง มีคนนิยมชมชอบ" จัดเป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร สำหรับวัดระฆังโฆสิตาราม เดิมชื่อ "วัดบางว้าใหญ่" สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา

          ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ ได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมากจึงทรงให้นำไปไว้ที่วัดพระแก้ว โดยทรงสร้างระฆัง 5 ลูกมาไว้ที่วัดแทน แล้วพระราชทานนามว่า "วัดระฆังโฆสิตาราม" เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้เปลี่ยนเป็น "วัดราชคุณฑิยาราม" ( คัณฑิแปลว่า ระฆัง ) แต่คนทั่วไปไม่นิยมยังคงเรียกกันว่า "วัดระฆัง" มาจนทุกวันนี้

          สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 3 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว

วัดกัลยาณมิตร

          ส่วนพระอารามหลวงแห่งสุดท้ายคือ "วัดกัลยาณมิตร" ตามคติที่ว่า "เดินทางปลอดภัย มีมิตรไมตรีที่ดี" วัดกัลยาณมิตร จัดเป็น พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) สร้างถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

          ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (ป่าเลไลย์) ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทาน เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และแสดงชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 และยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4

          สำหรับเครื่องสักการะคือ ธูป 3 ดอก เทียนแดงคู่ ดอกไม้พวงมาลัย

          เป็นอย่างไรบ้างคะ การเดินทางไหว้พระในแต่ละวัด ซึ่งแต่ละแห่งก็ให้คติที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราคาดว่าทุกท่านจะได้รับเหมือนๆ กันคือ ความเป็นสิริมงคล และความสุขทางใจ ที่หาซื้อไม่ได้แน่นอน
 
          สำหรับนักท่องเที่ยวท่านใดที่สนใจกิจกรรม "ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง" สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองสร้างสรรค์กิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทร.02-250-5500 ต่อ 3470-3



ข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง อัปเดตล่าสุด 23 สิงหาคม 2554 เวลา 09:59:00 29,897 อ่าน
TOP