สาวฆ่ายีราฟดำหายาก แปลกใจที่โดนด่า เผยเนื้ออร่อย ยันจะล่าสัตว์ต่อ เพราะสนุก



              พรานสาวอเมริกันล่ายีราฟดำหายาก อ้างทำไปเพราะต้องการอนุรักษ์ ควบคุมประชากร เผยเนื้อกินอร่อย ยันจะล่าสัตว์ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะชอบมาก ล่าแล้วสนุก
ล่าสัตว์
ภาพจาก Tess Talley

           เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 เว็บไซต์ซีบีเอสนิวส์ รายงานว่า เทส ธอมป์สัน ทัลลีย์ พรานหญิงชาวอเมริกัน วัย 38 ปี ได้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และสร้างกระแสโกรธแค้นอย่างรุนแรงไปทั่วโลก จากการที่เธอฆ่ายีราฟเป็นกีฬาเพื่อความสนุกสนาน หรือ Trophy Hunting แล้วยืนยิ้มโพสท่าถ่ายรูปคู่กับซากของมัน ภาพดังกล่าวได้ถูกแชร์เป็นกระแสไวรัลไปทั่วสังคมออนไลน์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้เธอถูกกระแสโจมตีอย่างหนัก แต่อย่างไรก็ตาม เทสไม่ได้ออกมาขอโทษแต่อย่างใด อีกทั้งยังภูมิใจในการล่าสัตว์ของตนเอง

           เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ เทส ออกทริปล่าล่าสัตว์ที่แอฟริกาใต้ในปี 2560 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน โดยเทสได้พบเห็นยีราฟดำที่หายากมาก เธอจึงรีบคว้าปืนและติดตามมันไป ก่อนจะลั่นไกยิงสังหาร จากนั้นเธอได้จัดท่าทางซากของยีราฟตัวนี้ แล้วโพสท่าถ่ายรูปคู่กับมัน แล้วโพสต์แชร์ลงโซเชียลมีเดียในเวลาต่อมา และเมื่อกลับมาเป็นกระแสวิจารณ์อีกครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เทสก็ได้เปิดใจกับรายการ This Morning ทางช่อง CBS ถึงชีวิตตัวเอง โดยพรานสาวกล่าวว่า เธอยังคงล่าสัตว์อยู่เป็นประจำ เพราะมันคืองานอดิเรกหลักของเธอ

           เทสอ้างว่าการล่าสัตว์ของตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะมันเป็นการลดจำนวนประชากรสัตว์ ไม่ให้มีมากเกินไป ส่วนยีราฟดำตัวนั้นที่ล่ามาได้ เธอก็จัดการกินมัน และเปิดเผยอย่างมีความสุขว่าเนื้อของมันอร่อยมาก ทางด้านพิธีกรของรายการก็ได้สอบถามเทสกลับไปว่าเธอยิ้มอยู่ตลอดเวลา แสดงท่าทางว่ามีความสุขมาก เหมือนว่าการล่าสัตว์คือสุดยอดความอิ่มเอมในชีวิต ซึ่งเทสก็ตอบกลับไปว่า แน่นอนว่าเธอมีความสุข เพราะถ้าหากการล่าสัตว์มันไม่สนุก เธอก็คงไม่ทำ

           "ฉันล่าสัตว์อย่างภาคภูมิใจค่ะ และฉันก็ภูมิใจในตัวเองมาก ๆ ที่ล่ายีราฟตัวนั้นมาได้ เพราะฉันทำในสิ่งที่ตัวเองรัก มันคือความสุข ถ้าหากมันเป็นอะไรที่ฉันไม่ชอบ ฉันก็คงไม่ทำมันหรอกค่ะ" เทส กล่าว

           พรานสาวเผยว่า คนอื่นอาจจะคิดว่าการล่าสัตว์มันเป็นเรื่องง่าย ๆ แค่เหนี่ยวไกก็จบ แต่มันเป็นสิ่งที่ยากกว่านั้น การลั่นไกสังหารสัตว์มันต้องใช้ใจทำ และมันก็ไม่ใช่ว่าทำกันได้ง่าย ๆ ดังนั้น มันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้พรานแบบเธอได้รับการเคารพ และเธอก็รู้สึกชื่นชมยินดีอย่างมากต่อสัตว์ที่เป็นเป้าหมาย เพราะเธอรู้ว่ามันกำลังจะพบเจอกับอะไร เทสกล่าวอีกว่า มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ธรรมชาติสร้างสัตว์มาเพื่อมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ล่ามันมากิน

           สำหรับคำถามที่ว่า ถ้าหากให้ความสนใจในการอนุรักษ์สัตว์มากนัก ทำไมถึงไม่ไปบริจาคเงินให้กับมูลนิธิหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือสัตว์ แทนที่จะคว้าปืนมาล่าพวกมันแบบนี้ เทสตอบว่า สิ่งที่เธอทำมันดีต่อการบริจาค เพราะ ใครจะรู้ว่ายอดบริจาคที่ให้ไปจะจบที่ตรงไหน ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ดีกว่าบริจาคไปโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าองค์กรเหล่านั้นจะเอาเงินไปทำอะไรบ้าง

ล่าสัตว์
ภาพจาก Tess Talley

ล่าสัตว์
ภาพจาก Tess Talley

            ทางด้าน โทนี่ โดโคฟิล อีกหนึ่งพิธีกรของรายการ ก็ได้ถาม เทส ไปว่า เขาเข้าใจว่าที่เธอล่าสัตว์ไปเพราะความชื่นชอบ เพราะทำแล้วมันมีความสุข แต่การกล่าวอ้างว่าทำไปเพราะต้องการอนุรักษ์ มันเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเลยสักนิด

           เทสก็เถียงกลับไปว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันเป็นเรื่องที่ยาก มันเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง และต้องใช้ฝีมือ พร้อมย้ำว่าตัวเองไม่ใช่นักอนุรักษ์ แต่เป็นพราน เป็นนักล่า ซึ่งก็ทำในส่วนของตัวเองแล้ว โทนี่จึงสวนไปว่า ถ้าหากรู้ว่าการล่าสัตว์มันไม่ได้ช่วยอนุรักษ์ ทำไมยังไปฆ่ามันอีก เพราะมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เทสก็เงียบ ไม่ได้ตอบคำถามในส่วนนี้

           ส่วนประเด็นภาพถ่ายที่เผยให้เห็นเธอยืนยิ้มข้างซากยีราฟนั้น เทสชี้แจงว่า การถ่ายภาพคู่กับซากสัตว์ที่ยิงมาได้ มันเป็นธรรมเนียมปกติของเหล่าพรานและนักล่าสัตว์ เป็นสิ่งที่ทำกันมาเนิ่นนานก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ต แล้วพอมามีโซเชียลมีเดีย มันก็เลยกลายเป็นประเด็นที่คนเอาไปดราม่า

           พรานสาวยอมรับอีกว่า ตัวเองรู้สึกแปลกใจมากกับกระแสวิจารณ์ที่ได้รับ ซึ่งมันบ้าบอและรุนแรงมาก ผู้คนเป็นโกรธเป็นแค้นกันอย่างหนักจนมาคุกคามชีวิตของเธอ บางคนถึงขั้นบุกมาถึงออฟฟิศ เรียกร้องให้เจ้านายไล่เธอออกจากงานเพราะเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เทสยืนยันว่าไม่ได้ยี่หระอะไร และจะยังคงล่าสัตว์ต่อไปตามปกติ

           ทางด้าน คิตตี้ บล็อก ประธานผู้บริหารสมาคมมุนษยธรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (Humane Society) ก็ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ เทส ว่า การล่ายีราฟดำเป็นการกระทำที่เย่อหยิ่งจองหองและไร้การคำนึงถึงความเป็นจริงว่าสัตว์ชนิดนี้อยู่ในสถานะที่เปราะบางแค่ไหน โดยในปี 2558 พบว่ามียีราฟหลงเหลืออยู่ในแอฟริกาน้อยกว่า 100,000 ตัว และจากการตรวจสอบของสมาคมเมื่อปี 2561 พบว่าในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา พรานชาวอเมริกันได้ทำการล่ายีราฟแล้วส่งซากนำเข้ามายังสหรัฐฯ มากกว่า 4,000 ตัว อีกทั้งยังมีการฆ่ายีราฟทุกวัน จนทำให้จำนวนประชากรยีราฟลดลงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 30 ปี

           ด้วยเหตุนี้ ทางกรมสัตว์ป่าและสายพันธ์ุของสหรัฐฯ จึงได้อนุมัติข้อเรียกร้องในการปกป้องคุ้มครองยีราฟ ตามรัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงรณรงค์ในการปกป้องคุ้มครองยีราฟ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES - Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora)

           และนอกจากการถูกล่าแล้ว ยีราฟยังพบเจอกับความเสี่ยงอีกมากมาย รวมทั้งการถูกรุกรานถิ่นที่อยู่ ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำคือการยกระดับการคุ้มครองยีราฟให้มากกว่าเดิม มิใช่การล่าเอาชีวิตพวกมันอย่างไร้เหตุผล แค่เพื่อความสนุกและสนองรสนิยมของตนเอง

ล่าสัตว์
ภาพจาก Tess Talley

ล่าสัตว์
ภาพจาก Tess Talley

ล่าสัตว์
ภาพจาก Tess Talley

ล่าสัตว์
ภาพจาก Tess Talley

ล่าสัตว์
ภาพจาก Tess Talley

ล่าสัตว์
ภาพจาก Tess Talley


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สาวฆ่ายีราฟดำหายาก แปลกใจที่โดนด่า เผยเนื้ออร่อย ยันจะล่าสัตว์ต่อ เพราะสนุก อัปเดตล่าสุด 11 มิถุนายน 2562 เวลา 11:17:33 45,283 อ่าน
TOP
x close