x close

ฉาว ! แฉอาจารย์ ม. ดัง แอบซื้องานวิจัย ใส่ชื่อเคลมผลงาน ซ้ำยื่นเบิกต้นสังกัดฟันกำไรอื้อ

          นักวิชาการร่วมแฉ กระบวนการซื้อ-ขาย งานวิจัย พบมีรายชื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยดังภาคเหนือโผล่ จ่าย 3 หมื่น ก่อนเบิกต้นสังกัดได้กำไรนับแสน

แฉอาจารย์ ม. ดัง แอบซื้องานวิจัย ใส่ชื่อเคลมผลงาน
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในวงการนักวิชาการ และในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย กรณีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ออกมาแฉพฤติกรรมการซื้อขายงานวิจัยโดยไม่ต้องทำจริง โดยมีขายมากมายหลายหัวข้อ แต่ละงานจะเปิดขายสำหรับใส่ชื่อตามลำดับความสำคัญและการมีส่วนร่วม การมีชื่ออยู่ลำดับแรกจะต้องจ่ายสูงกว่าลำดับอื่น ๆ ถัดลงไป เมื่อกระบวนการนี้มีผู้ซื้อรายชื่อครบ งานวิจัยเล่มนี้ก็จะถูกส่งไปตีพิมพ์ ส่งผลให้ผู้ที่จ่ายเงินและมีรายชื่อสามารถนำมาเคลมเป็นผลงานวิชาการของตัวเองได้


           อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบจึงพบว่ามีชื่อนักวิจัยไทยปรากฏอยู่ในงานวิจัยประเภทนี้เป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งชื่ออาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือ และชื่อของอาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่ง เป็นต้น โดยเฉพาะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือ เดิมทีในปี 2562 อาจารย์รายนี้มีงานวิจัยแค่ 1 ชิ้น จากนั้นปี 2563 มีเพิ่มเป็น 40 ชิ้น และในปี 2564 มีเพิ่มถึง 90 ชิ้น ซึ่งคนในวงการวิชาการ ได้แฉเพิ่มว่า การไปซื้อชื่อเป็นผู้แต่งลำดับที่ 1 เสียค่าใช้จ่าย 900 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30,000 บาท) แต่อาจารย์สามารถนำงานวิจัยไปเบิกเงินกับมหาวิทยาลัยได้ถึง 120,000 บาท


           เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัย คือการที่นักวิจัยไปซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ เช่น ไปอ่านงานที่คิดว่าอยากมีชื่อตัวเองใน Paper นั้น ๆ แล้วใช้เงินไปซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่ง หรือ ผู้นิพนธ์ ในงานวิจัย ชื่อแรกก็จะแพงหน่อย ชื่อกลาง ๆ ก็จะถูกหน่อย เมื่อได้จำนวนผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยผี ๆ นี้ก็ส่งไปตีพิมพ์ โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่งก็จะไปสามารถ เคลมผลงานทางวิชาการ หรือ ไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อถอนทุนคืนได้

           ข้อสังเกตว่าอาจจะเข้าข่ายนั้น งานวิจัยที่ออกมาเหล่านี้ จะมีผู้แต่งแบบหลากหลายสถาบัน หลายประเทศ ซึ่งแต่ละคนไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกัน พฤติกรรมแบบนี้ไม่แตกต่างจากการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในวงการราชการ ที่เสียใจคือ เห็นชื่อนักวิจัยของไทยในงานแบบนี้ด้วย

           ด้าน ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมตีแผ่เรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์  @manopsi ความว่า "เรื่องฉาวของวงการวิจัยและมหาวิทยาลัยตอนนี้ คือการขุดพบว่า อาจารย์บางคนมีผลงานตีพิมพ์ มี ชื่ออ้างอิงในงานวิจัย (Citation) และ จำนวนผลงานวิจัย (H-index) สูงเพราะไปซื้อการเป็นเจ้าของงานวิจัย (Authorship) ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมากระดับเดียวกับ ผลการวิจัยที่ไม่มีจริง (Data Fabrication) และ การลอกเลียนงานวิจัย (Plagiarism) ซึ่ง ผู้บริหารต้องจัดการครับ สิ่งนี้ถือเป็นตราบาปรุนแรง (Unforgivable sin) ในวงการวิจัย"


           ขณะที่ รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ใจความว่า มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่ง ไปตีพิมพ์ในเรื่องของวัสดุนาโนเป็นชื่อที่หนึ่งโดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท โดยที่สายงานอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์ แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้นมาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท เรื่องนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องสืบสวนสอบสวนครับ เพราะตอนนี้มีเว็บไซต์ที่ขายการเอาชื่อไปแปะในวารสารวิชาการ กำลังเป็นประเด็นอยู่

           นอกจากนี้ รศ. ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsri ใจความว่า หากเข้าไปค้นหาชื่อของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ท่านหนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึง จะมีประวัติการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษใน Academia EDU และ Loop.Frontiersin.org จะพบเรื่องที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้น เพราะชื่อของเขาที่ปรากฏร่วมกับคนอื่นในวารสารต่าง ๆ นั้น ไม่ได้มีแค่บทความข้ามศาสตร์เกี่ยวกับวิศวกรรมเท่านั้น แต่ยังมีบทความเกี่ยวกับเกษตร คริปโต เศรษฐศาสตร์การเงิน บางบทความก็เป็นการวิจัยในรัสเซีย ในอินโดนีเซีย ในโลกมุสลิม ข้อมูลเหล่านี้แสดงว่าทำมานานแล้ว และน่าแปลกใจว่าไม่มีอับอาย

           กรณีเช่นนี้ อยากให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจัดการ เพราะถือเป็นการหากินจากการนำเงินมหาวิทยาลัยไปซื้อผลงานวิจัยที่ไม่ได้เขียนเอง แล้วก็มาขอเงินรางวัลที่สูงกว่า จนมีผลงานตีพิมพ์เกินครึ่งร้อยภายในไม่กี่ปี ลองคูณด้วยแสนต่อชิ้น ก็จะรู้ว่าร่ำรวยกันขนาดไหน และก็มีวารสารประเภทนี้ในต่างประเทศที่รู้จักความด้อยพัฒนาแบบนี้เป็นอย่างดี ถึงได้หากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  

           ล่าสุด (9 มกราคม) สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทางกระทรวงจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนและติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและจริงจัง หากพบว่าดำเนินการจริงต้องถือเป็นความผิดและลงโทษอย่างรวดเร็ว

           ด้าน ศ. ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ได้แจ้งย้ำไปยังที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน และหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ให้ตรวจสอบข้อมูลของบุคลากรอย่างใกล้ชิด ตามแนวทางในการกำกับจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานวิจัย รวมทั้งการนำผลงานที่ผิดจริยธรรมมาขอตำแหน่งวิชาการ หากตรวจพบประเด็นใดให้ดำเนินการทันทีและป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำในลักษณะนี้อีก 

แฉอาจารย์ ม. ดัง แอบซื้องานวิจัย ใส่ชื่อเคลมผลงาน

แฉอาจารย์ ม. ดัง แอบซื้องานวิจัย ใส่ชื่อเคลมผลงาน

แฉอาจารย์ ม. ดัง แอบซื้องานวิจัย ใส่ชื่อเคลมผลงาน

แฉอาจารย์ ม. ดัง แอบซื้องานวิจัย ใส่ชื่อเคลมผลงาน

แฉอาจารย์ ม. ดัง แอบซื้องานวิจัย ใส่ชื่อเคลมผลงาน


ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana, ทวิตเตอร์ @manopsi, เฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong, เฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsri, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฉาว ! แฉอาจารย์ ม. ดัง แอบซื้องานวิจัย ใส่ชื่อเคลมผลงาน ซ้ำยื่นเบิกต้นสังกัดฟันกำไรอื้อ อัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2566 เวลา 15:23:33 14,932 อ่าน
TOP