x close

เคล็ดสำคัญจาก วินทร์ เลียววาริน สร้างเรื่องแต่งอย่างสมจริง


          "เราอยากสร้างให้ตัวพ่อมีอาชีพปิ้งปลาหมึกขาย เราก็ต้องไปรีเสิร์ชว่าคนปิ้งปลาหมึกขายเขาทำอะไร อย่างไร ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะลองไปปิ้งปลาหมึกดู..."

          การเมืองไทยอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อ...

          แต่นวนิยายที่ร้อยเรียงขึ้นโดยมีฉากหลังเป็นเหตุการณ์และบุคคลสำคัญทางการเมืองของไทย ไล่ตั้งแต่ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาจนถึงสมัยพฤษภาทมิฬ กลับตรงกันข้าม

          ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้ายของ "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" สองตัวละครสมมติอย่าง ร.ต.ต. ตุ้ย พันเข็ม นายตำรวจเปี่ยมอุดมการณ์ กับเสือย้อย อดีตนายทหารที่ต้องกลายเป็นโจร ต่างขับเคี่ยวคู่ขนานกันไปอย่างสมจริงเสียจนชวนให้คิดว่า หรือคนทั้งคู่จะมีตัวตนจริงในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

          "ในงานเขียน หากเราใส่ข้อมูลอย่างแน่นหนา และเป็นข้อมูลที่คนอ่านไม่ค่อยรู้ จะทำให้เรื่องมีสีสันมากขึ้น"

          วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนเจ้าของผลงาน กล่าวถึงหลักการสำคัญที่เขาใช้เสมอในการทำงานเขียน

          ด้วยหลักการนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่งานเขียนของวินทร์มักจะดึงดูดความสนใจของคนอ่านได้ด้วยข้อเท็จจริงที่นำมาใช้เพื่อเสริมรายละเอียดของพล็อตเรื่องที่เขาคิดขึ้น จนกลายเป็นเรื่องแต่งที่"สมจริง"

          หนึ่งในผลงานของวินทร์ที่ได้รับการพูดถึงกันมาก คือ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน หนังสือรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ.2540 ซึ่งเบื้องหลังกว่าจะออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ วินทร์ต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการเมืองไทยที่รวมกันแล้วหนากว่าหนังสือนิยายของเขาหลายเท่านักหรืออย่างในการเขียนเรื่อง "ปีกแดง" นวนิยายเชิงการเมืองอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีโครงสร้างใกล้เคียงกับเล่มแรกนั้น นักเขียนหนุ่นใหญ่เล่าว่า เขาต้องอ่านตำราเกี่ยวกับการปกครองระบอบสังคมนิยมอย่างมหาศาล กว่าจะได้เป็นหนังสือนิยายความยาวห้าร้อยกว่าหน้า ที่มุ่งให้ความสนุกในการอ่านควบคู่ไปกับความรู้เกี่ยวกับการเกิดขึ้นและดับไปของลัทธิคอมมิวนิสต์

          จากประสบการณ์ทำงานด้านสถาปัตยกรรมและด้านโฆษณา ก่อนจะมาเป็นนักเขียนมืออาชีพ ทำให้วินทร์ได้ข้อสรุปว่า การค้นคว้าข้อมูลเป็นพื้นฐานในการสร้างงานเขียนเชิงพาณิชยศิลป์ทุกประเภท ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงงานเขียนด้วย

          "ก่อนจะเริ่มรีเสิร์ช ต้องดูก่อนว่าเราต้องการข้อมูลอะไรในการทำงานแต่ละชิ้น แล้วก็หาข้อมูลเรื่องนั้นๆ มาเพื่อจะนำมาย่อยเป็นเรื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็อยู่ที่ตัวเราว่าจะสร้างงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร ข้อมูลเป็นส่วนประกอบที่ทำให้งานมีความลึกขึ้น"

          เมื่อไอเดียของคนเขียนคือหัวใจหลัก ในขณะที่ข้อมูลเป็นส่วนประกอบที่ช่วยเสริมคุณค่าและแต้มสีสันให้กับงานดังนั้น คำแนะนำจากนักเขียนมืออาชีพถึงนัก (อยาก) เขียนมือใหม่ก็คือ ควรคิดพล็อดเรื่องหรือโครงสร้างให้ชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยหาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับโครงสร้างที่คิดไว้ ด้วยวิธีดังกล่าวทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการหาข้อมูลเกินจำเป็น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการหลงทางหรืออาการเมาข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกับนักเขียนที่ยังอ่อนประสบการณ์และยังไม่ชำนาญเรื่องจัดการข้อมูล

          "ไม่ได้แปลว่า ถ้ารู้ไม่จริงแล้วจะเขียนไม่ได้ ไม่รู้ก็เขียนได้ เพียงแต่งานที่ออกมา มันจะไม่มีกลิ่นของความเป็นจริงเท่าที่ควร" 

          "การวางโครงสร้างของเรื่องช่วยจำกัดขอบเขตข้อมูลที่เราต้องการหา แต่ในขณะเดียวกัน การอ่านเยอะๆ ก็ช่วยทำให้เรารู้ว่า เราควรจะไปในทิศทางไหน หรือมีทางใดที่น่าสนใจบ้าง"

          "ยิ่งเราทำงานนานเข้า เราก็จะมีประสบการณ์ในการจัดการกับข้อมูล อ่านแล้วรู้ว่าข้อมูลส่วนไหนเป็นส่วนเกิน ส่วนไหนเอามาใช้ได้ มันจะค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ รู้ไปเอง"

          การเขียนนิยายเชิงประวัติศาสตร์ดูจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของงานเขียนประเภทที่ผู้แต่งต้องค้นคว้าข้อมูลเพื่อให้รายละเอียดและเหตุการณ์ในยุคที่เขียนถึงนั้นไม่ขัดแย้งต่อความจริงที่เคยเกิด แต่หากว่ากันจริงๆ แล้ว ไม่เฉพาะแต่งานเขียนที่ผู้แต่งวาดภาพไว้ให้ตัวละครดำเนินชีวิตอยู่ยุคปัจจุบันก็ต้องอาศัยการทำการบ้านอย่างหนักไม่แพ้กัน

          "สมมติว่าเราจะเขียนเรื่องของครอบครัวที่มีปัญหาชีวิต โดยในรายละเอียดของเรื่อง เราอยากสร้างให้ตัวพ่อมีอาชีพปิ้งปลาหมึกขาย เราก็ต้องไปรีเสิร์ชว่าคนปิ้งปลาหมึกขายเขาทำอะไร อย่างไร ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะลองไปปิ้งปลาหมึกดูเพื่อจะได้รู้ว่ามันมีอะไรบ้าง เพราะถ้าไม่ไปรีเสิร์ช ก็จะไม่สามารถใส่รายละเอียดเข้าไปให้เรื่องมันมีมิติขึ้นได้ เราก็จะได้แต่พูดลอยๆ ว่าขายปลาหมึก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าปิ้งปลาหมึกต้องบดกี่ที ต้องหมุนกี่ครั้ง ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ผสมน้ำจิ้มต้องทำอย่างไร คือเราไม่สามารถเขียนได้ละเอียดขนาดนั้น"

          "ไม่ได้แปลว่า ถ้ารู้ไม่จริงแล้วจะเขียนไม่ได้นะ ไม่รู้ก็เขียนได้ เพียงแต่งานที่ออมา มันจะไม่มีกลิ่นของความเป็นจริงเท่าที่ควร"

          แต่ใช่ว่าวิธีการค้นคว้าหาข้อมูลมาเป็นเครื่องปรุงเสริมรสชาติให้กับพล็อตเรื่องจะใช้ได้กับงานทุกประเภท เพราะงานบางแนวอย่างเช่นเรื่องสั้นหรือนิยายเกี่ยวกับอนาคตอีกพันปี หมื่นปีข้างหน้า ต่อให้ค้นคว้าจากตำราทุกเล่มในโลกก็ไม่มีเล่มไหนทำนายข้อมูลได้ถูกตรงตามอนาคต จึงตกเป็นภาระของนักเขียนที่จะต้องจินตนาการขึ้นมาเอง 

          "ในกรณีนี้ สิ่งที่เราทำได้คือการใช้หัวใจของเราคิด ใช้หัวใจของเราสัมผัสว่า ความรู้สึกของคนในอีกหมื่นปีข้างหน้ามันน่าจะเป็นอย่างไร แตกต่างจากความรู้สึกของคนในสมัยนี้มากน้อยแค่ไหน เป็นวิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง คือใช้จินตนาการโดยคิดให้มันสมจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้" สำหรับ วินทร์ เลียววาริณ การเขียนหนังสือมีหลักในการสร้างสรรค์เช่นเดียวกับศิลปะในการวาดภาพที่ต้องจัดองค์ประกอบของภาพให้ลงตัว และเลือกใช้โทนสีให้กลมกลืน

          "ผมมักจะเปรียบเทียบการเขียนหนังสือเหมือนการวาดรูป ถ้าเราร่างด้วยดินสอมาก่อนว่าต้นไม้อยู่ตรงนี้ ภูเขาอยู่ตรงนั้น นกบินอยู่ทางนี้ กระท่อมตั้งอยู่ตรงนั้นเมื่อวาดทุกอย่างเป็นเอาต์ไลน์ชัดเจนแล้ว พอเรามาลงสี มาใส่รายละเอียดเพิ่มเติมเราก็จะรู้อยู่แล้วว่าภาพที่ออกมาจะเป็นประมาณไหน ไม่มากไปกว่านี้ ง่ายต่อการคุมให้ภาพออกมาตรงตามที่เราต้องการทั้งองค์ประกอบและโทน"

          ในทางกลับกัน การเขียนโดยไม่อาศัยภาพร่างใดๆ ย่อมมีโอกาสสูงที่ภาพนั้นจะผิดเพี้ยนไปจากความตั้งใจในหนแรก

          "ถ้าเราเขียนภาพโดยไม่มีภาพร่าง หรืออยากจะลงสีอะไรก็ลง เพนต์เอาตามใจ ดันไปเรื่อยๆ วิธีนี้ถ้ามีประสบการณ์หรือมโนภาพอยู่แล้วว่าต้องการให้ภาพหรือเรื่องที่เขียนออกไปในทางไหน ก็พอจะวาดไปตามนั้นได้ แต่ถ้าเราไม่มีประสบการณ์โอกาสที่ภาพจะเละก็มีสูง เพราะว่าการลงสีไปเรื่อยๆ โดยไม่มีภาะที่ร่างไปก่อน มันก็อาจหลงทางได้"

          "มือใหม่ก็น่าจะหัดวาดด้วยดินสอก่อน แล้วค่อยๆ ลงสีทีละส่วนจะปลอดภัยกว่า"



ที่มาและภาพประกอบจาก
 
คอลัมน์ ของฝากนัก (อยาก) เขียน
เรื่อง พนิชา อิ่มสมบูรณ์
ภาพ วธู ฤกษ์สมบูรณ์
นิตยสาร ฅ.คน ปีที่ 3 ฉบับที่ 6 (30) 7 เมษายน 2551


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เคล็ดสำคัญจาก วินทร์ เลียววาริน สร้างเรื่องแต่งอย่างสมจริง โพสต์เมื่อ 26 เมษายน 2551 เวลา 11:21:06 6,941 อ่าน
TOP