x close

นักวิชาการ - ราชบัณฑิตตื่น เด็กวรรณยุกต์ - ย่อความแย่


         ราชบัณฑิต เผยเด็กไทยผันวรรณยุกต์-ย่อความไม่ได้ เร่งสร้างแบบทดสอบวัดความรู้ครู นักเรียนประเมินตัวเอง เน้นปลูกฝังตั้งแต่3ขวบ ด้วยการ์ตูน สนองความห่วงใยภาษาไทยของในหลวง ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้พระบรมราโชวาทแก่เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เกี่ยวกับคนไทยไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทย เสียดายที่คนไทยเห็นภาษาไทยเป็นสิ่งล้าสมัย และคนไทยแสดงพฤติกรรมเป็นฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ทำให้ชาวต่างชาติมองคนไทยเป็นสัตว์ประหลาดนั้น 

         วานนี้(28 พ.ค.) นางจินตนา พันธุฟัก เลขาธิการราชบัณฑิตสถาน กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสห่วงภาษาไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะการกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญของภาษาไทย จึงทำให้รัฐบาลจัดให้การรณรงค์ความสำคัญของภาษาไทยเป็นโครงการระดับชาติ เพราะปัจจุบันปัญหาการใช้ภาษาไทยที่พบในเด็กไทย คือ ผันเสียงวรรณยุกต์ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ไม่ได้ สะกดคำผิดๆ ถูกๆ ที่สำคัญเด็กทุกวันนี้ จับประเด็นสำคัญ และย่อความไม่เป็น ดังนั้น ในปี 2552 ราชบัณฑิตยสถาน จะกระตุ้นให้ครูเน้นสอนให้เด็ก พูด อ่าน เขียน ย่อความ มากขึ้น พร้อมทั้งรณรงค์ให้ทักษะดังกล่าวเป็นหัวใจของการเรียนภาษาไทย 

         นางจินตนา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ราชบัณฑิตยสถานกำลังระดม นักวิชาการ ครูภาษาไทย มาร่วมกันจัดทำแบบทดสอบความรู้ภาษาไทยให้แก่ ครู นักเรียน ว่ามีความรู้ภาษาไทยมากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งจะนำแบบทดสอบไปให้ประชาชนทุกอาชีพทั่วประเทศทดสอบว่า ตนเองมีความรู้ภาษาไทยมากน้อยแค่ไหนด้วย เพื่อนำมาแก้ปัญหาคนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ด้วย  

         "เราจะต้องปลูกฝังภาษาไทยให้เด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป เพื่อให้เขาซึมซับภาษาไทย ด้วยกระบวนการสอนรูปแบบใหม่โดยราชบัณฑิตยสถานจัดทำสื่อการสอนภาษาไทยในรูปแบบฉบับ การ์ตูน ให้เด็กสนุกกับการเรียนภาษาไทย และเข้าใจภาษาไทยได้ง่ายขึ้น เช่น การเปรียบเทียบคำว่า แมง กับแมลง มีความแตกต่างกันอย่างไร การสะกดคำง่ายๆใช้อย่างไร เป็นต้น แจกให้ครูและโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งเราต้องปรับให้การสอนภาษาไทยไม่น่าเบื่อ เพราะเมื่อเด็กเข้าใจภาษาไทย เด็กก็จะรักภาษาไทยตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ดิฉันไม่อยากให้คนไทยมองว่า การพูดภาษาไทยที่ถูกต้องไม่ปนสำเนียงฝรั่งเป็นเรื่องที่เชย แต่สิ่งที่ทำให้เราเป็นไทย และมีวัฒนธรรมประจำชาติได้จนถึงทุกวันนี้ ก็คือ การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง"เลขาธิการราชบัณฑิต กล่าว 

         นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า ตนได้เข้าประชุมผู้บริหารระดับปลัดกระทรวงร่วมกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านห่วงภาษาไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการผันเสียงวรรณยุกต์ เพราะภาษาไทยมีหลายเสียง รวมทั้งอยากให้ครูสอนอาขยาน ร้อยกรองเด็กมากขึ้น เนื่องจากเด็กท่องไม่เป็น  

         ดังนั้น วธ.จะเร่งแก้ปัญหา คนไทยไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทย รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์ และส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ภาษาถิ่น อีกทั้งกระตุ้นให้เด็กไทยมีจิตสำนึกความไทยทั้ง การไหว้ ความมีน้ำใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส เพิ่มขึ้น โดยจะนำโครงการภาษาถิ่น ภาษาไทย โครงการภูมิบ้าน ภูมิเมือง โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน โครงการค่ายเยาวชนรักษาชาติรักถิ่น ลงไปตามชุมชนต่างๆ ส่งเสริมให้คนไทยรักภาษาไทย รักท้องถิ่นไม่ลืมความเป็นชาติของตนเอง  

         ด้านนายวัฒนะ บุญจับ นักวิชาการสำนักภาษาและวรรณกรรม กรมศิลปากร กล่าวว่า คนไทยลืมการนำภาษาไทยมาสื่อสาร หลายครั้งนำไปสื่อสารแบบผิดๆทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว จึงรู้ว่าการสื่อสารภาษาที่ถูกต้องมีความสำคัญ นอกจากนี้คนไทยยังประสบปัญหาการนำภาษาไทยพูด อ่าน เขียนไม่ถูกมากที่สุด แม้แต่ในป้ายโฆษณา 

         เช่น คำว่าขับช้าๆ อันตราย แสดงว่าขับเร็วไม่เป็นไรใช่หรือไม่ เป็นต้น ในขณะที่ สื่อมวลชนวิทยุ โทรทัศน์ ภาษาในละคร ก็ใช้ภาษาอุบาทว์ เรียกได้ว่า ผิดจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ในเรื่องนี้ไม่อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงวัฒนธรรรม เมื่อทราบปัญหาก็ออกมาแก้เป็นครั้งคราว ควรจะทำให้ต่อเนื่องมีการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักและเห็นเรื่องการใช้ภาษาผิดๆเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ราชบัณฑิตเปิดตัว "พจนานุกรมโจ๋" 
- พจนานุกรมใหม่ "คำสแลง-ศัพท์โจ๋" เพียบแพร่ผ่านเว็บ
- พจนานุกรมคำใหม่ รวมศัพท์วัยรุ่นครั้งแรกของไทย
- รวมคำศัพท์ใหม่ โดนใจวัยโจ๋! 



ข้อมูลจาก

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการ - ราชบัณฑิตตื่น เด็กวรรณยุกต์ - ย่อความแย่ อัปเดตล่าสุด 29 พฤษภาคม 2551 เวลา 16:56:26 6,388 อ่าน
TOP