x close

เป็นสุขด้วยดนตรี

ฟังเพลง


          ร่างกายเหมือนรถยนต์ สมองเป็นพวงมาลัย จิตใจคือคนขับ ที่สั่งสมอง-ร่างกาย "ศาสตร์บำบัด ทำในสิ่งที่ยาทำไม่ได้"

          ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดบรรยายเรื่อง ดนตรีบำบัด โดย กัลยากร ฉัตรแก้ว ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ เมื่อปี 2541 ได้ไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด สุวคนธบำบัดหรืออโรมาบำบัด และนวดบำบัด จากประเทศแคนาดา ปัจจุบันทำงานที่สมาคมพยาบาล ทำงานเผยแพร่แนวทางการเยียวยาผู้ป่วยด้วยการบำบัดในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้เป็นทางเลือกร่วมกับการรักษาหลักทั่วไป

          ดนตรีบำบัดที่วิทยากรบรรยายในวันนั้น เป็นแนวทางที่บุคลากรในโรงพยาบาล หรือญาติผู้ป่วยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานๆ และแม้แต่บุคคลทั่วไปก็สามารถนำแนวทางการใช้ดนตรีบำบัดนี้ไปใช้เพื่อพักผ่อน ผ่อนคลายจากอารมณ์ด้านลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดหรือความเศร้า

          วิทยากรอธิบายว่า การใช้ดนตรีบำบัด เพื่อเป็นสื่อกระตุ้นพัฒนาการแสดงทางร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหว การนอนหลับ ความจำ การอยากรับประทานอาหาร ระบบประสาท ความเจ็บปวด และมีรูปแบบการใช้หลากหลาย อย่างใช้การฟังดนตรีหรือโคลงกลอน ใช้การร้องเพลงหรือแต่งเพลงก็ได้ การใช้อุปกรณ์หรือเครื่องดนตรี การเคลื่อนไหว การระลึกถึงความหลัง จินตนาการ เป็นต้น

          "ถ้าฟังเพลง อาจจะเป็นเพลงพวกฮีลลิ่ง เธอราพี มิวสิค เพลงบรรเลงช้าเบาๆ ให้บรรยากาศสดชื่น มีเสียงนกร้อง หรือเสียงน้ำไหลก็ได้ หรือเพลงอะไรก็ได้ที่ชอบ ส่วนพวกอุปกรณ์อย่างเช่น พวก Singing Bowl ที่เป็นเหมือนถ้วยโลหะ เคาะแล้วมีเสียงกังวาน ฟังแล้วก็ได้ความสงบและสมาธิก็ได้ หรือถ้าจะร้องก็เช่นกัน ผู้สูงอายุบางคนก็ชอบเพลงสุนทราภรณ์ หรือเพลงอะไรก็ได้ บางทีเวลาร้องก็ไม่ต้องเกร็งว่าต้องให้ไพเราะ ร้องให้สนุกๆ ก็ช่วยปลดปล่อยความเครียด ความกังวลจากความเจ็บป่วยได้"

          การใช้ดนตรีบำบัดจะทำให้คนไข้มีอาการดีขึ้นได้หรือไม่ กัลยากร อธิบายว่า ไม่เฉพาะเรื่องดนตรีบำบัดอย่างเดียว ยังสามารถใช้ศิลปะบำบัด อโรมาบำบัด และการนวด เนื่องจากแต่ละคนมีความแตกต่าง และไม่ได้มองแต่เฉพาะเรื่องของโรคเท่านั้น ต้องมองทั้งเรื่องทางกาย จิตวิญญาณ ครอบครัว อารมณ์ สังคม ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ถ้ามองคนไข้ด้วยสายตาแบบนั้นจะทำให้มองเห็นปัญหาของเขา

          "วิธีการนี้คือการสื่อ ผู้ป่วยจะรับรู้อย่างมาก คือความตั้งใจ ความจริงใจของเรา อย่างมีกรณีหนึ่งเป็นเด็กที่เป็นมะเร็ง กรณีนี้สับสนวุ่นวายในชีวิตมาก พอป่วย แล้วก็รู้ว่าตัวเองต้องตาย ขณะที่ดูแลเขา เราไม่ได้พูดถึงเรื่องความตายเลย ไม่ต้องมาบอกว่าความตายจะเกิดขึ้นเมื่อใด จะต้องให้เขายอมรับ จะต้องสงบ ไม่ได้ทำอย่างนั้น แต่วิธีการต่างๆ ที่ใช้กับเขา มันสื่อถึงความรู้สึกระหว่างเรา คนไข้ และครอบครัวของเขา เขารู้ได้ถึงความตั้งใจ ให้เขาผ่อนคลาย มีความสุข"

          "อย่างที่โรงพยาบาลเลิดสิน คนไข้เป็นมะเร็งที่ขา เขาก็บอกว่านวดช่วยไม่ได้หรอก เราก็ว่าช่วยได้เพราะมันมีสิ่งที่ยาทำไม่ได้แน่ๆ คือ เรื่องความรู้สึก เรื่องจิตใจ ที่เราสร้างความมั่นใจกับเขาว่า ถึงอย่างไรก็มีคนพร้อมจะอยู่เคียงข้างเขา เดินไปกับเขา สนใจปัญหาของเขา ว่าเขาปวด เราก็พยายามที่จะช่วย อาจไม่ถึง 100% แต่เรานำมาช่วยในการบรรเทา สิ่งที่ยิ่งใหญ่มหาศาลคือ การที่เขาสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของเรา แล้วตรงนั้นจะเป็นพลังให้เขาในวันข้างหน้า แม้ว่าเขาจะต้องตาย ก็สามารถที่จะตายอย่างสงบได้"

          กัลยากร อธิบายต่อว่า เช่นเดียวกันกับดนตรีบำบัด ที่ไม่ได้ฟังแล้วหายป่วย หรือไม่เจ็บปวดอีกต่อไป เพราะการนำดนตรีมาใช้เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก เป็นสื่อทางภาษา ทางจิตวิญญาณ บางทีฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็รู้ว่าเศร้า หรือฮึกเหิม ฟังแล้วมีกำลังใจ ดนตรีสื่อได้ หรือย่างบทสวดทั้งหลายก็สามารถสื่อได้ถึงพลังภายใน หรือความสงบ อย่างทางทิเบตหรือเจ้าแม่กวนอิมก็สัมพันธ์กับความสงบทางจิตวิญญาณเป็นพลังชีวิต

          "ไม่ใช่ฟังเพลงแล้ว ไม่เจ็บ ไม่ปวด แต่มันลึกอยู่ข้างใน เรื่องของจิตวิญญาณผู้ให้ต้องสัมผัสด้วยตัวเอง แล้วเราจะรู้สึก จะเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แล้วยิ่งได้เห็นคนไข้แม้จะเป็นระยะสุดท้าย เขาก็มีการเติบโตทางจิตวิญญาณ เขาเติบโตได้ เรื่องฮีลลิ่งเกิดได้"

          นอกจากนี้การนำดนตรีบำบัดมาใช้ก็มีหลายมิติ บางรูปแบบก็นำมาใช้ทำงานโดยตรงกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย อย่างเรื่องความจำหรือระบบประสาท อย่างเช่น คนที่เป็นความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์  มีการใช้เรื่องของเพลงมาเปิดซ้ำๆ กระตุ้นความทรงจำ กระตุ้นระบบประสาท

          "ด้วยการเปิดเพลงนี้ทุกเช้าตอนตื่นนอน พอได้ยินเพลงนี้ปุ๊บก็จะตื่น เปิดเพลงนี้ทุกครั้งที่ทานข้าว พอได้ยินเขาก็รู้ว่าต้องทานข้าว เอามาใช้ในการฟื้นฟูระบบประสาท ความทรงจำได้ อย่างโมสาร์ทเอฟเฟ็กซ์ ก็จะใช้คลื่นความถี่ของเสียงดนตรี ก็จะมีผลต่อคลื่นสมอง ทำไมฟังแล้วรู้สึกสงบได้ หรือสวดมนต์ฟังแล้วสงบได้ มันเป็นเรื่องของคลื่นเสียงที่มีผลต่อร่างกายโดยตรง จากคลื่นสมองแล้วมีผลกระทบลงมาที่ร่างกายต่อ"

          กัลยากร อธิบายต่อว่า นอกจากดนตรีจะมีผลต่อร่างกายโดยตรง ยังมีผลต่อจิตใจด้วย โดยมีคำพูดเปรียบเทียบว่าร่างกายเหมือนรถยนต์ สมองเหมือนพวงมาลัยรถ แล้วจิตเหมือนคนที่นั่งหลังพวงมาลัย เพื่อจะสั่งสมอง ร่างกายให้ทำอะไรก็ได้ ฉะนั้นการทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลาย อาจจะด้วยการนั่งสมาธิหรือฟังเพลงที่ทำให้ร่างกายผ่อนคลายให้คลื่นสมองดาต้าเวฟ คลื่นที่นิ่งสงบ ก็เป็นส่วนช่วยกล่อมเกลาจิตใจได้ด้วย

          "ถ้าได้ฟังแล้วจิตใจก็มีพลัง ความเครียดลดลง สดชื่นขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ามีคุณค่า มองเห็นตัวเองมากขึ้น หรือใช้ในคนที่มีพฤติกรรมแยกตัว เอาเพลงเข้ามาเป็นสื่อ มีคนไข้เด็กที่ถูกตัดขาเขาปวดมาก ก็จะกรี๊ด ยาเอาไม่อยู่ เด็กก็จะไม่คุยกับใคร พอรู้ว่าเขาชอบดนตรี เราก็เอาเพลงที่เขาชอบมาเปิด หาคนบริจาคเครื่องเล่นต่อกับโทรทัศน์ในห้อง เด็กก็มีความสุขขึ้น ถ้าไม่อย่างนั้นก็อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม เขาไม่รู้จะไประบายตรงไหน ก็ได้แต่กรี๊ดๆ เพลงช่วยดึงความสนใจและตัวตนของเขาออกมา ทำให้มีความรู้สึกดีๆ กับตัวเอง และภาคภูมิใจ"

          "ไม่ว่าจะเปิดฟังเองหรือเปิดให้คนอื่นฟัง ไม่ใช่เพลงนั้นเพลงนี้ดีแล้วจะบังคับให้ใครฟัง อย่างบางคนบอกว่า เพลงคลาสสิกดี แต่ถ้าไม่ชอบแล้วต้องทนฟัง มันก็ทรมาน ถ้าชอบแนวพื้นๆ สบายๆ ก็ฟัง อยู่ที่ว่าเอาไปใช้กับใคร หรือเพลงที่ทำให้รู้สึกดีได้ อย่างเพลงที่มีความหมายมีความหลัง อย่างบางคนเป็นทหารเรือ เขาภูมิใจในความเป็นทหารเรือ ก็เปิดเพลงวอลล์ราชนาวี ระลึกถึงความสุขกับอาชีพที่เขาภูมิใจ ให้เขาได้เล่า ได้ย้อนระลึก เขาก็จะภูมิใจ ความรู้สึกหดหู่ท้อแท้ก็จะบรรเทาลง ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตน่าภาคภูมิใจ" วิทยากร เล่าทิ้งท้าย


เรื่อง : รมณ รวยแสน



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เป็นสุขด้วยดนตรี อัปเดตล่าสุด 15 มิถุนายน 2551 เวลา 16:45:51 15,409 อ่าน
TOP