x close

วอนบริจาคดวงตา อย่าเชื่อชาติหน้าตาบอด

สภากาชาดไทย



          เมื่อวันที่  19 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ  ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีการแถลงข่าวการประกวดแผนการประชาสัมพันธ์ "ให้ตา ได้กุศล" โดย ผศ.พญ.ลลิดา ปริยกนก ผู้อำนวยการศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์ดวงตาฯ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี  2508 หรือ 43 ปีมาแล้ว แต่ขณะนี้สามารถผ่าตัดดวงตาได้เพียง 6,281 ดวง ซึ่งยังมีผู้ป่วยที่รอคิวรับบริจาคอีก  3,205  ราย  โดยในแต่ละปีมีผู้จองรับการบริจาคดวงตา  800-900 ราย  หากดวงตาไม่เพียงพอกับความต้องการ  จะทำให้มีผู้รอคิวสะสมเป็นหมื่นรายได้  ทั้งนี้  ปัจจุบันมีผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตา 649,000 ราย หรือ 1% ของประชากร

          "ปัญหาคือมีผู้ที่เสียชีวิตทุกๆ วันในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทำอย่างไรจะให้มีการบริจาคดวงตา   ทำอย่างไรให้ญาติบริจาคดวงตาแทนผู้เสียชีวิต   เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้แสดงความจำนงการบริจาคไว้ อีกทั้งในผู้ที่แสดงความจำนงบริจาค แต่ญาติกลับไม่อนุญาต ดังนั้นจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์การบริจาคดวงตาให้ประชาชนเข้าใจ  ซึ่งในปี  2543  ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยได้ดวงตาบริจาคเพียง 228 ดวง ทำให้มีการวางแผนโดยจัดให้มีผู้ประสานงานในการขอดวงตาผู้เสียชีวิตจากญาติ  จากโรงพยาบาลเครือข่าย  19  แห่ง  ทำให้ปี 2550  สามารถหาดวงตาได้ 453 ราย ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าจัดหาดวงตาให้ได้ 500 ดวง" ผศ.พญ.ลลิดากล่าว

          ผอ.ศูนย์ดวงตา กล่าวต่อว่า  ข้อบ่งชี้ในการเปลี่ยนกระจกตาในประเทศไทย พบว่า โรคแผลเป็นที่กระจกตาเป็นข้อบ่งชี้อันดับ 1 ในการเปลี่ยนกระจกตา   21.52%  ตามมาด้วยแผลหนองที่กระจกตา   17.23%   กระจกตาบวม  15.02%  กระจกตาเสื่อมหรือโป่งนูนผิดปกติ 11.18%   และอันดับสุดท้ายคือ การเปลี่ยนกระจกตาซ้ำ 9.88% โดยในช่วง 8 ปีหลัง สัดส่วนของโรคกระจกตาบวมเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ ในแต่ละปีมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มมากขึ้น

          "จากการสำรวจของทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ   เหตุผลที่ประชาชนไม่บริจาคดวงตา ส่วนใหญ่กลัวว่าชาติหน้าเกิดมาแล้วจะไม่มีตาและห่วงในเรื่องความสวยความงาม   กลัวศพไม่สวย   ทำให้ญาติไม่ยอมบริจาคตาให้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่  ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วจะมีการเย็บให้เรียบร้อย  ให้สภาพศพดูเหมือนเดิมไม่น่าเกลียด  นอกจากนี้ยังพบว่า  กว่า  50%  ของประชากรที่สำรวจยังไม่รู้จักศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย   ดังนั้นจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักและเข้าใจมากขึ้น  ทั้งนี้ การจัดเก็บดวงตาจะต้องจัดเก็บภายใน  6  ชั่วโมงหลังเสียชีวิตแล้ว แต่หากเสียชีวิตในโรงพยาบาลที่เป็นห้องเย็นจะต้องจัดเก็บภายใน 12 ชั่งโมง"

          ผศ.พญ.ลลิตากล่าวอีกว่า   ญาติไม่ให้จัดเก็บดวงตาเป็นปัญหาสำคัญมาก   ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายกำหนดชัดเจนว่า  เมื่อผู้เสียชีวิตบริจาคตาแล้ว แพทย์สามารถนำตาออกมาได้  เพราะถือเป็นสมบัติส่วนกลาง แต่ประเทศไทยเราไม่มีกฎหมายนี้ หากแพทย์กระทำเองจะเป็นปัญหาได้  

          ด้าน รศ.อรุณีประภา  หอมเศรษฐี  ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์  และคณะกรรมการประกวดแผนการประชาสัมพันธ์"  ให้ตา  ให้กุศล"  กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ประชาสัมพันธ์เชิงรุกต่างๆ   และเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนที่เป็นผู้ทำความเข้าใจในเรื่องบริจาค จึงได้จัดการประกวดแผนการประชาสัมพันธ์" ให้ตา ได้กุศล" เป็นครั้งแรก เพื่อให้นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปเกิดความรู้ ความเข้าใจ เกิดจิตสำนึก เห็นคุณค่าของการแสดงความจำนงอุทิศดวงตาภายหลังเสียชีวิตแล้ว   

          สำหรับหลักเกณฑ์การประกวดแผนประชาสัมพันธ์  คือ  ผู้เข้าประกวดต้องสังกัดสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา   โดยให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดส่ง โดย 1 ทีมมีสมาชิก 3 คน ให้ทำแผนประชาสัมพันธ์ระยะเวลา  1 ปี งบประมาณดำเนินการ 5-8 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกร่วมกัน  เห็นคุณค่าของการบริจาคดวงตาภายหลังถึงแก่กรรม  โดยผู้ชนะเลิศประกวดแผนประชาสัมพันธ์ได้รางวัลเงินสด   50,000  บาท  พร้อมเข้าฝึกงานด้านการประชาสัมพันธ์เต็มรูปแบบที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม  แกรมมี่  จำกัด (มหาชน) และบริษัท  ไทยประกันชีวิต จำกัด สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.eyebankthai.com/



ข้อมูลจาก

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต 



  
  

         

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วอนบริจาคดวงตา อย่าเชื่อชาติหน้าตาบอด อัปเดตล่าสุด 20 มิถุนายน 2551 เวลา 14:48:00 9,084 อ่าน
TOP