x close

เขมร ทวงโบราณวัตถุจากไทย ตั้งพิพิธภัณฑ์พระวิหาร

เขาพระวิหาร


         หลังจากคณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก รับขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามที่ประเทศกัมพูชาเสนอนั้น ล่าสุดสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนนำเสนอข่าวว่า กัมพูชามีแผนจะสร้างพิพิธภัณฑ์ปราสาทพระวิหารเพื่อเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งยังจะขอให้ไทยส่งมอบโบราณวัตถุ ที่เกี่ยวเนื่องกับปราสาทหลังนี้คืนให้กัมพูชานำไปจัดแสดงด้วย

         นายเมือง สอน ประธานกองทุนอารยธรรมเขมร หรือ ขะแมร์ ซิวิไลเซชั่น ซัพพอร์ต ฟันด์ กล่าวในรายงานของซินหัวว่า จะสร้างพิพิธภัณฑ์ปราสาทพระวิหารที่มีมูลค่า 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.5 แสนบาท) พร้อมทั้งวิงวอนขอให้ไทย ส่งมอบศิลปวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับประสาทพระวิหารคืน ให้เขมรนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่อไป นอกจากนี้ นายเมือง สอน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบริษัทท่องเที่ยวยูเรเชีย เทรเวล ควบอีกตำแหน่ง ยังแสดงความหวังเอาไว้ด้วยว่า ปราสาทพระวิหารจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในอนาคต 

         แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมศิลปากร แสดงความเห็นกรณีการทวงคืนโบราณวัตถุจากปราสาทพระวิหารว่า หากย้อนดูคำสั่งศาลโลกเมื่อปี 2505 จะเห็นเนื้อหาหลัก 3 ประการ คือ 1. ให้พื้นที่เฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา 2. ให้ประเทศไทยสั่งถอยกำลังทหารและตำรวจออกจากพื้นที่บริเวณนั้น และ 3. ให้ไทยส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องคืนกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลไทยช่วงนั้นก็ได้ปฏิบัติตามทุกอย่าง จากนั้นก็ไม่เคยมีการเรียกร้อง หรือร้องเรียนในเรื่องนี้จากรัฐบาลกัมพูชามาก่อน

         นักโบราณคดี กล่าวอีกว่า หากฝ่ายใดเชื่อว่า มีโบราณวัตถุจากปราสาทพระวิหารหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย ก็ต้องทำตามกติกาทวงคืนโบราณวัตถุที่ทำกันจนเป็นหลักสากล คือ ต้องแสดงรายละเอียดของรายการโบราณวัตถุที่ต้องการทวงคืน พร้อมแสดงหลักฐานว่าเป็นโบราณวัตถุของประเทศตนจริง เช่น เทวรูป รูปเคารพ ฯลฯ ว่าสร้างขึ้นสมัยใด รวมถึงรายละเอียดขนาดและรูปร่าง และที่สำคัญคือ ต้องมีการสืบข้อเท็จจริงให้พร้อมว่าสมบัติชิ้นนั้นอยู่ในประเทศใด หรือมีการแสดงโชว์ตั้งวางประจำไว้ในสถานที่ใด

         "การทวงคืนโบราณวัตถุจากประเทศอื่นนั้น จะต้องมีรายละเอียดหลายขั้นตอน ไม่เคยมีใครทวงคืนด้วยปากเปล่าโดยไม่มีหลักฐาน ก็เหมือนที่ไทยทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพราะมีหลักฐานว่าโบราณวัตถุชิ้นนั้นเป็นของประเทศเราจริง และถูกลักลอบเอาออกนอกประเทศไปวางโชว์ที่อื่น ถ้ากัมพูชาจะกล่าวถึงประเด็นนี้ ก็ต้องส่งรายละเอียดรายการโบราณวัตถุที่เชื่อว่ามีหลงเหลืออยู่ในประเทศไทยมาให้ดู พร้อมทั้งแสดงหลักฐานว่ามีโบราณวัตถุที่กล่าวอ้างถึงวางอยู่ในประเทศไทยตรงจุดไหน เพราะเรื่องโบราณวัตถุเป็นสิ่งมีค่า จะมากล่าวอ้างหรือทวงคืนแบบปากเปล่าไม่ได้" นักโบราณคดีกล่าว

         นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดียังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า โครงการก่อสร้างหรือจัดทำพิพิธภัณฑ์ภายในปราสาทพระวิหาร โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำโบราณวัตถุไปวางโชว์นั้น ตามข้อเท็จจริงแล้วพื้นที่ปราสาทพระวิหารที่เป็นของกัมพูชานั้น ไม่ใช่พื้นที่กว้างขวางหรือใหญ่โตมากพอที่จะทำพิพิธภัณฑ์ หรือหากต้องการสร้างจริง คณะกรรมการมรดกโลกก็คงไม่ยินยอม เพราะจะทำให้เค้าโครงโบราณสถานดั้งเดิมเสียหายได้ หากจะสร้างภายนอกที่ยังเป็นเขตพื้นที่พิพาทกับไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

         เช่นเดียวกับ อ.พิสิฐ เจริญวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ แห่งองค์การรัฐมนตรีศึกษา ประจำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แกนนำนักโบราณคดีที่ดำเนินเรื่องนำทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนจากสถาบันศิลปะชิคาโกของอเมริกา ให้ข้อมูลว่า ในปีที่ศาลโลกสั่งให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชานั้น หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์เขมรในเวลานั้น ซึ่งสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ไม่ต้องการทวงคืนโบราณวัตถุใดๆ จากไทย แปลง่ายๆ คือ ไม่ต้องอะไรคืนทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้วโบราณวัตถุเป็นสิ่งของ ที่มักถูกขโมยหรือลักลอบเอาออกจากแหล่งโบราณสถานอยู่แล้ว ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่มีการทำบัญชีหรือขึ้นทะเบียน จึงไม่มีใครรู้ว่าโบราณวัตถุแต่ละชิ้นของประสาทพระวิหารไปอยู่ที่ใดในโลกบ้าง

         "ตอนนี้ทั้งไทยและกัมพูชากำลังตีประเด็นเรื่องมรดกโลกผิด เพราะไม่เข้าใจเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกว่า มาจาก อนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก พวกเราลืมคำว่า คุ้มครอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขึ้นทะเบียน จุดประสงค์เพื่อให้ช่วยกันคุ้มครองและอนุรักษ์ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการค้า การท่องเที่ยว หรือผลประโยชน์ทางการเมือง ถ้าเข้าใจประเด็นนี้ก็จะรู้ว่าทุกคนมีหน้าที่ช่วยกันคุ้มครอง ไม่ใช่แย่งชิงผลประโยชน์เพื่อประเทศตัวเอง ทางออกที่ดีคือการใช้หลักวิชาการหรือความรู้ทางประวัติศาสตร์มาอธิบาย และทำความเข้าใจว่า ทุกคนต้องช่วยกันดูแลปราสาทพระวิหาร ไม่ต้องสนใจแค่เรื่อง 1 ประเทศ 2 ประเทศ หรือ 7 ประเทศ ที่จะมาดูแล แต่ควรให้ความสำคัญกับวิธีการอนุรักษ์คุ้มครองว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุดมากกว่า" นายพิสิฐกล่าว 

         ทั้งนี้ ศิลปะโบราณวัตถุที่สร้างสมัยปราสาทพระวิหารนั้น เรียกว่า "ศิลปะสมัยเกลียง" ตอนปลาย หรือ "ศิลปะปาปวน" ตอนต้น คือประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว

 

ข้อมูและภาพประกอบจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เขมร ทวงโบราณวัตถุจากไทย ตั้งพิพิธภัณฑ์พระวิหาร อัปเดตล่าสุด 10 กรกฎาคม 2551 เวลา 12:07:33 43,120 อ่าน
TOP