x close

มติเอกฉันท์ส่งสำนวนยุบ ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย

บรรหาร ศิลปอาชา


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบจาก gotoknow.org

          ความคืบหน้าในการพิจารณาสำนวนยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่าง กกต. กับอัยการสูงสุด รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนครบกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด โดยภายหลังการประชุม นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการร่วมฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ข้อยุติเป็นมติเอกฉันท์ เห็นควรยื่นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคทั้งสองกรณี คือกรณีพรรคชาติไทย และกรณีของพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ที่ประชุมไม่ได้สรุปว่าทั้งสองกรณีมีความผิดถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ เพราะยังมีกรรมการบางคนมีความเห็นต่างในเรื่องระดับของความผิดที่ควรจะยุบพรรค ดังนั้นจึงเห็นว่าควรส่งศาลพิจารณาเพื่อเป็นบรรทัดฐาน 

          นายสุทธิพลกล่าวว่า ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้ กกต. จะส่งเอกสารเพิ่มเติมให้กับอัยการสูงสุด พร้อมหนังสือความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง จากนั้นอัยการสูงสุดจะเป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้สู้คดีในชั้นศาลอีกด้วย โดยจะเร่งส่งเรื่องให้เร็วที่สุด ซึ่งแม้ว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาไว้ แต่ยืนยันว่า กกต. ไม่ได้ประวิงเวลา แต่ทำตามขั้นตอน โดยคาดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะช้า เมื่อถามว่าเหตุที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วางบรรทัดฐานเพราะอัยการสูงสุดและ กกต. ยังมีความเห็นต่างกันใช่หรือไม่ นายสุทธิพลกล่าวว่า ในการประชุมครั้งก่อนมีการตั้งประเด็นเรื่องระดับความผิด เช่น กรณีแจกเงินซื้อเสียงต้องเป็นจำนวนเงินเท่าไร หรือระดับการกระทำความผิดเพราะเป็นการเตรียมการ สุดท้ายที่ประชุมจึงเห็นตรงกันว่าไม่อยากใช้ดุลยพินิจ จึงให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน นอกจากนี้ในการประชุมครั้งแรกๆ อัยการสูงสุดได้ขอเอกสารคำเบิกความของพยาน ในอีกสำนวนหนึ่งที่มารับกับสำนวนยุบพรรค รวมทั้งขอใบลงทะเบียนการเลือกตั้งล่วงหน้า และขอคัดบันทึกเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ด้วย

          นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงกรณีคณะทำงานร่วมระหว่าง กกต. และอัยการสูงสุด มีมติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคชาติไทย ว่าปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่พรรคชาติไทยยังยืนยันและมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการพิจารณาไม่ได้แค่ดูในหลักของกฎหมายเพียงด้านเดียว แต่ต้องดูองค์ประกอบทั้งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พยานบุคคลจากพื้นที่เกิดเหตุด้วย ซึ่งน่าจะเป็นกระบวนยุติธรรมที่ดีกว่าในกระบวนการพิจารณาของ กกต. เพราะศาลรัฐธรรมนูญยังเปิดโอกาสให้พรรคชาติไทยได้ชี้แจงในขั้นตอนการไต่สวน โดยนำทั้งพยานหลักฐานและพยานบุคคลมาชี้แจง ยืนยันว่าพรรคชาติไทยยังมั่นใจในกระบวนการชั้นศาลรัฐธรรมนูญเรื่องความยุติธรรม  

          ส่วนทางด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทย กล่าวยอมรับว่านายบรรหารได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นจริง แต่เป็นการเดินทางไปพักผ่อนและจะเดินทางกลับในช่วงค่ำวันที่ 12 กรกฎาคม ส่วนกระแสข่าวที่ว่าอาจเดินทางไปพบกับนายเนวินนั้น ขอปฏิเสธว่าไม่จริง จะไปพบทำไมกับคนชื่อนี้ ไม่มีอะไรที่ต้องพูดกัน ส่วนเรื่องอนุกรรมการร่วม กกต. กับอัยการสูงสุดมีมติเอกฉันท์เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยและพรรคชาติไทย เรื่องนี้ต้องต่อสู้ในทางข้อกฎหมาย ส่วนการตั้งพรรคสำรองนั้นยังไม่ทราบ ต้องรอถามความชัดเจนจากนายบรรหาร หลังเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น



ข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มติเอกฉันท์ส่งสำนวนยุบ ชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2551 เวลา 17:13:32 4,575 อ่าน
TOP