x close

ส่องเงินประกันสังคม สูงลิ่ว5แสนล้านบริการรักษา..สมดุล?

ประกันสังคม


          แทรกกระแสร้อนการเมืองออกมาเมื่อหลายวันก่อน กับข้อหารือระหว่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงแรงงาน กรณี "เชื่อมระบบประกันสังคมกับประกันสุขภาพเข้าด้วยกัน" นัยว่าเพื่อลดรายจ่ายซ้ำซ้อนของผู้ประกันตนที่ไม่มั่นใจ-ระอาใจกับการเข้ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม ซึ่งจะสรุปอย่างไรก็ต้องรอดูกัน 

          และที่น่าตามดูเป็นระยะด้วย...ก็คือ "เงินก้อนโต" เงินของผู้ประกันตน...กับ "คุณภาพการให้บริการ"

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็มีข่าวคราวการบริหารเงิน หรือข้อเสนอเกี่ยวกับการใช้เงินของระบบประกันสังคมอยู่เนือง ๆ อย่างไรก็ตาม กับเม็ดเงินก้อนมหึมาที่อยู่ในรูปของกองทุน ซึ่งผู้ประกันตนต้องคอยจับตาให้ดีกับเงินก้อนนี้นั้น หลักใหญ่ใจความมีที่มาจากการใช้ระบบประกันสังคม การจัดตั้ง "กองทุนประกันสังคม" ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542  

          "เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการ ให้ได้รับความคุ้มครองเมื่อประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ตาย ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร และชราภาพ"

          ...นี่คือวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม ที่ ประชาชนซึ่งเป็น "ผู้ประกันตน" จากการเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการต่าง ๆ เป็นผู้ถูกหักเงินเดือนจ่ายเข้ากองทุน แล้วสมทบด้วยฝ่ายนายจ้างกับฝ่ายรัฐบาลตามที่กฎหมายนี้กำหนดไว้ ซึ่งผู้ประกันตนในที่นี้ก็คือลูกจ้างที่เริ่มเข้าทำงาน อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน  60 ปี โดยสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป นายจ้างจะต้องยื่นขอขึ้นทะเบียน

          สำหรับอัตราการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมนั้น ฝ่ายลูกจ้างจ่ายอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตนก่อนหักภาษี ฝ่ายนายจ้างจ่ายสมทบอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตนก่อนหักภาษี และฝ่ายรัฐบาลแบ่งงบประมาณมาจ่ายสมทบด้วยอัตราร้อยละ 2 ของค่าจ้างผู้ประกันตนก่อนหักภาษี

          กับหลักการการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง นายจ้างต้องหักค่าจ้างของผู้ประกันตนไว้ 5% แล้วสมทบด้วยส่วนของนายจ้างอีก 5% รวมเป็น 10% ส่งให้สำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบ ซึ่งหากนำส่งเงินสมทบเกินเวลาที่กำหนด ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน

          ก็เป็นที่มา-หลักการของ "เงินกองทุนประกันสังคม" ที่ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2550 มีถึงเฉียด ๆ 5 แสนล้านบาท !!  

          จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ณ เดือน ธ.ค. 2550 ตัวเลขการคุ้มครองดูแลลูกจ้างผู้ประกันตนคือ จำนวนกว่า 9.182 ล้านคน กับสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมจำนวน 381,506 แห่ง และจากผลการบริหารกองทุนประกันสังคม ประจำปี 2550 ที่ผ่านมา ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2550 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 499,912 ล้านบาท หรือเฉียด ๆ 5 แสนล้านบาท ซึ่งก็แน่นอน...นี่เป็นจำนวนเงินที่มิใช่น้อย 

          เม็ดเงินก้อนมหึมาก้อนนี้ มีการแยกแบ่งเป็นเงินกองทุนกรณี   สงเคราะห์บุตรและชราภาพ 398,488 ล้านบาท ซึ่งกองทุนประกันสังคม ออมไว้เพื่อจ่ายบำนาญชราภาพ ในปี 2557, เป็นเงินกองทุนดูแลกรณี เจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร 72,736 ล้านบาท, เป็นเงินกองทุนกรณี ว่างงาน 28,688 ล้านบาท 

          ทางผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมเปิดเผยไว้ว่า...สำนักงานฯได้นำเงินลงทุนจำนวน 499,912 ล้านบาทนี้ แบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เงินฝากธนาคาร หุ้นกู้เอกชน 412,370 ล้านบาท  

        
  นอกจากนี้ ยังแบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ตราสารหนี้อื่น ๆ หน่วยลงทุน หุ้นสามัญ 87,542 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18  ของเงินลงทุนรวมที่มีอยู่  

          ผลจากการลงทุนปี 2550 ทำให้กองทุนประกันสังคมได้ผลตอบแทน จำนวน 21,109 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้าซึ่งได้ผลตอบแทน จำนวน 17,346 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคมระบุว่า...การนำเงิน กองทุนประกันสังคมไปลงทุนนั้น เป็นการสร้างรายได้ เพื่อให้กองทุนมีความมั่นคง 

          เพื่อที่จะดูแลสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนได้มากขึ้น ?!?

          โดยหลักการระบุไว้อย่างนี้...ซึ่งก็ฟังดูดี-ดูแล้วน่าดีใจ !?!

          ทั้งนี้และทั้งนั้น จนถึงวันนี้เรื่องของสิทธิประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มีการปรับปรุงจนดีขึ้นกว่าแต่แรกมาก... จุดนี้ต้องยอมรับ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า...จนถึงวันนี้การเข้ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตนในหลาย ๆ สถานพยาบาล ยังคง "ถูกแบ่งแยกเป็นคนไข้ชั้นสอง-ชั้นสาม" ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนอยู่ทุก ๆ เดือน จนบางคนไม่ใช้บริการไปเลย ก็กลายเป็นหนึ่งในส่วนที่ทำให้เกิดกรณีดังที่ รมว.คลัง ระบุเมื่อเร็ว ๆ คือ "เงินประกันสังคมที่หักเหมาจ่ายให้โรงพยาบาลต้องเสียเปล่า"

          เงินกองทุนฯมีอู้ฟู่...ทว่าคุณภาพการบริการดูจะยังต่ำต้อย

          ว่าที่จริง...ถึงไม่เชื่อมกับระบบอื่นก็น่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ได้

          คุณภาพการบริการรักษา...น่าจะสมดุลกับเงินก้อนโต !!!



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ส่องเงินประกันสังคม สูงลิ่ว5แสนล้านบริการรักษา..สมดุล? อัปเดตล่าสุด 14 กรกฎาคม 2551 เวลา 16:01:35 18,950 อ่าน
TOP