x close

ทุกอย่าง 10 บาท : ธรรมะ ชนะ วิกฤติ

วันงดเหล้าแห่งชาติ


          ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดเหล้าแห่งชาติ" ความจริงชาวพุทธหลายคนปฏิบัติต่อเนื่องมาหลายปีแล้วว่า ไม่ใช่จะงดเหล้าเฉพาะวันเข้าพรรษาเพียงวันเดียว แต่งดต่อเนื่องตลอดพรรษาสามเดือนเต็ม ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หากนับตามปฏิทินสุริยคติ หรือปฏิทินสากล เข้าพรรษาปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม ส่วนวันออกพรรษา ตรงกับวันอังคารที่ 14 ตุลาคม ใครที่ดื่มสุราของมึนเมาอยู่ตามปกติ มากบ้างน้อยบ้าง แล้วตั้งใจจะงดในช่วงเข้าพรรษานี้ ลองจดบัญชีรายรับ-รายจ่ายดูว่า สามเดือนนี้เราจะมีสตางค์เหลือมากขึ้น หรือไม่..? 
  
          และถ้าจะให้ดี นอกจากงดเหล้าเข้าพรรษาแล้ว ลองลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยอื่นๆ ลงด้วย สถานการณ์ชักหน้า ไม่ถึงหลัง ในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ อาจจะคลี่คลายลงได้บ้าง 
  
          ท่านเจ้าคุณ พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทโธ) พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี เนปาล ท่านบอกว่า   

          "คนเราสมัยนี้มีความรู้กันมาก แต่รู้อะไรไม่เท่ารู้เนื้อ รู้ตัว 

          ความรู้เนื้อ รู้ตัวนี้ ก็คือ มีสติ นั่นเอง 

          แล้วถ้ามีสติ ก็จะมีสตางค์ 

          เพราะคนมีสติ จะตั้งอกตั้งใจทำงานหาสตางค์ 

          พอมีสตางค์แล้ว ก็ตั้งสติในการใช้จ่าย ไม่หลงใช้ฟุ่มเฟือยเกินตัว หรือใช้ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์"


วิธี "ตั้งสติ ใช้สตางค์" ให้ดูจาก ศีล 5 ที่ชาวพุทธจำได้ขึ้นใจอยู่แล้ว แต่นำมาปรับมุมมองใหม่ ดังนี้..


           1. ปาณาติบาตฯ : (งดเว้น)การฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต 

          มองว่าคือ ใช้สตางค์เพื่อชีวิต ใช้เพื่อความอยู่รอด ซื้อหาปัจจัย 4 

           2. อทินนาทานฯ : (ไม่) ลักขโมย เอาทรัพย์ของผู้อื่น 

          มองว่าคือ ใช้สตางค์เพื่อหารายได้ หาสตางค์เพิ่มขึ้น ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า การลงทุน หรือที่ชอบพูดกันว่า "ให้เงินทำงาน" 

           3. กาเมสุมิจฉาฯ : ไม่ประพฤติผิดในกาม 

          มองว่าคือ ใช้สตางค์เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้อง ฯลฯ  

           4.มุสาฯ : (ไม่) พูดเท็จ หลอกลวง 

          มองว่าคือ ใช้สตางค์เพื่อตอบแทนให้สังคมบ้างตามสมควร  

           5.สุรา เมรยฯ : (งด) สุรา เครื่องดองของเมา 

          มองว่าคือ ใช้สตางค์เพื่อดูแลสุขภาพ อย่าใช้ไปในทางที่ทำให้เกิดความเสื่อม


          นอกจากเรื่องการใช้เงินแล้ว พุทธศาสนายังสอนวิธีหาเงินไว้ด้วย แม้บางคนจะบอกว่า การทำธุรกิจกับหลักศาสนา ดูไม่น่าจะไปกันได้ แต่ ท่านเจ้าคุณ พระราชรัตนรังษี ท่านบอกว่า


"ธุรกิจ คือ มือขวา ศาสนา คือ มือซ้าย"


          แม้คนส่วนใหญ่จะถนัดขวา แต่เวลาจะทำอะไร หยิบจับอะไร ถ้าใช้มือขวาข้างถนัดเพียงมือเดียว ก็จะสู้ใช้สองมือไม่ได้ ทั้งธุรกิจและศาสนา จึงต้องใช้ควบคู่กัน


ถามว่า ควบคู่กันอย่างไร.. ?


          ท่านบอกว่า ให้ชั่งน้ำหนักจากประโยชน์สองส่วน คือ ประโยชน์ส่วนตน และ ประโยชน์ของผู้อื่น ซึ่งถ้าสมดุลกันได้ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด


          คนเราทำธุรกิจเพื่อหาประโยชน์ส่วนตน เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องดูว่าเมื่อเราได้ประโยชน์แล้ว อย่าไปทำให้คนอื่น หรือส่วนรวมเสียประโยชน์
 

          "เพราะถ้าคนอื่นเสียประโยชน์ ก็จะมานั่ง โทษ กัน 

          ซึ่งตามปกติใครเป็นนักโทษ เขาจะกักกันตัวไว้ในคุก 

          แต่ทุกวันนี้จะเห็นว่าเรามี นักโทษ มากมายที่ไม่ได้อยู่ในคุก 

          เที่ยวได้ออกมา โทษ คนนั้นคนนี้ให้วุ่นวายกันไปหมด 

          กลายเป็นว่า เราได้ประโยชน์ แต่คนอื่นเสียประโยชน์ ก็เลยโทษกันไป โทษกันมา"
 

          นอกจากเราได้ประโยชน์ และคนอื่นได้ประโยชน์แล้ว สูงที่สุดคือต้องทำให้เกิด ประโยชน์ส่วนกลาง หรือ ประโยชน์สูงสุด ซึ่งตรงนี้ต้องใช้หลักศาสนามาช่วยคิด


          ท่านเจ้าคุณ พระราชรัตนรังษี บอกว่า แนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สอดคล้องกันอย่างยิ่งกับหลักทางพระพุทธศาสนา


          คำว่า "พอเพียง" ไม่ใช่ มีน้อย หรือ ไม่กระตือรือร้น ไม่หาเพิ่ม แต่หมายถึง มีให้พอใช้ตามสถานะของตน


          เพราะฉะนั้น "พอเพียง" จึงมากกว่า "กระตือรือร้น" เสียอีก เพราะต้องมีให้พอ


          เมื่อมีเงินพอแล้ว ก็ใช้เงินให้มีความสุข


          อย่าให้เงินใช้เรา เพราะจะทำให้มีความทุกข์ มีเงินเท่าไรก็ไม่พอ
..




ข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
โดย : คุณนายทอม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทุกอย่าง 10 บาท : ธรรมะ ชนะ วิกฤติ อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2551 เวลา 14:55:04 13,262 อ่าน
TOP