x close

เลี้ยบ ลั่นไม่ลาออก เล็งยื่นกฤษฎีกาตีความยุติบทบาท

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต


         เมื่อวานนี้ (28 กรกฎาคม) ที่กระทรวงการคลัง เมื่อเวลา 14.30 น. นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับฟ้องคดีการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว (หวยบนดิน) นั้น ตนมีข้อสังเกต 7 ประการ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว คือ...

         1. ศาลฎีกาเพียงรับฟ้องคดีเท่านั้น ยังไม่มีคำพิพากษาว่ากระทำความผิด และยังมีขั้นตอนที่ต้องไต่สวนเพื่อพิจารณาก่อนจะมีคำพิพากษาต่อไป ฉะนั้น ผู้ที่ถูกฟ้องคดีทั้งหมดจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์ 

         2.ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่หรือไม่ หากหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ อาจถูกฟ้องร้องได้ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

         3. กรณีที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ยกมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาว่า หากกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า ข้อกล่าวหาว่าผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ 

         4. น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่าหากศาลรับคำฟ้องรัฐมนตรี 3 รายไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 275 และ 272 วรรค 4 ใช้คำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหา ซึ่งหมายถึงตำแหน่งที่ถูกฟ้องร้อง  

         5. ตามมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ห้ามหรือกำหนดว่า ผู้ที่ถูกฟ้องคดีไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ดังนั้น หากมีผู้ถูกฟ้องในคดีหวยบนดินที่ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีก็สามารถรับตำแหน่งได้ 

         6. ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าตำแหน่งทางการเมือง ในฐานะ ส.ส.จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่ 

         7.ได้หารือกับนางอุไรวรรณ และนายอนุรักษ์ แล้วว่า พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่รอปรึกษากับคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนคาดว่า เป็นวันที่ 29 กรกฎาคมก่อน เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานและแนวทางในการปฏิบัติในกรณีนี้ต่อไป ในประเด็นอำนาจการตัดสินใจ เพื่อไม่ให้ทำไปแล้วมีผลโมฆะในอนาคตและเชื่อว่าจะใช้ระยะเวลาพิจารณาไม่นานนัก

         ''ผมยืนยันว่าจะยังคงทำงานในตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายต่อไป จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นบรรทัดฐานจากคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่โดยส่วนตัวคิดว่ายังไม่น่าจะมีปัญหา เพราะการลงนามในโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นนโยบายสำคัญปกติจะต้องส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อยู่แล้ว เช่นเดียวกับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างประเทศที่จะยังคงกำหนดการเดินทางไว้ตามเดิม ส่วนเรื่องการจัดการธนาคารไทยธนาคาร การส่งเรื่องบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง'' นพ.สุรพงษ์กล่าว



ข้อมูลจาก
 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลี้ยบ ลั่นไม่ลาออก เล็งยื่นกฤษฎีกาตีความยุติบทบาท อัปเดตล่าสุด 29 กรกฎาคม 2551 เวลา 14:19:21 3,409 อ่าน
TOP