x close

นักเรียนโยธินฯ บุกสภา ค้านย้ายโรงเรียน

นักเรียน


          สำหรับกรณีที่คณะกรรมการจัดหาสถานที่ก่อสร้างรัฐสภา มีมติให้ใช้พื้นที่ทหารย่านเกียกกายเป็นสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยกำหนดจัดพิธีลงนามข้อตกลงร่วม ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงเย็นวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น

          ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน มีนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะจำนวนกว่า 500 คน และศิษย์เก่า เดินทางมาคัดค้านการลงนาม และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการย้ายโรงเรียนที่ก่อตั้งมากว่า 70 ปี โดยมี มานพ นพศิริกุล ผอ.โรงเรียนโยธินบูรณะ ร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา อนุญาตให้นักเรียนเข้ามานั่งรับฟังคำชี้แจงและระบายความรู้สึก โดย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้ แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ร่วมรับฟังด้วย

          โดยนายชัยกล่าวชี้แจงเหตุผลการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ว่า เพื่อให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ แต่พื้นที่นี้ได้พิจารณากันมาตั้งแต่ปี 2542 ขณะที่นายนิคมชี้แจงสาเหตุที่ต้องย้ายโรงเรียนไปอยู่บริเวณสะพานพระราม 7 ใกล้วัดสร้อยทองว่า เป็นพื้นที่ใหญ่กว่า มีพื้นที่ ถึง 16 ไร่ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1 พันล้านบาท มีทั้งสนามกีฬาในร่มและกลางแจ้ง อาคารเรียนทันสมัย คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายใน 2 ปี ส่วนเหตุผลที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ก็เพื่อความสง่างาม เป็นหน้าตาของประเทศ เพราะที่เดิมแออัดมาก 

          อย่างไรก็ตาม นักเรียนต่างแสดงความไม่พอใจ และโห่พร้อมตะโกนว่า "ไม่สง่างาม" ทำให้ นายนิคม ถึงกับหน้าถอดสีแล้วเดินหนีไปทันที พ.อ.อภิวันท์ จึงต้องรับหน้าไกล่เกลี่ย และเปิดโอกาสให้ตัวแทนนักเรียนและศิษย์เก่าแสดงความเห็น ส่วนใหญ่กล่าวตำหนิว่าไม่เคยมีการสอบถามความเห็นจากนักเรียนมาก่อน และแม้จะทุ่มเงินพันล้านบาทเพื่อสร้างโรงเรียน ก็ไม่สามารถเรียกความทรงจำดีๆกลับคืนมา และไม่เห็นด้วยที่จะย้ายไปที่วัดสร้อยทอง ที่บริเวณนั้นเป็นแหล่งสลัม มียาเสพติดจำนวนมาก หากสร้างรัฐสภาแห่งใหม่แล้ว ส.ส.และนักการเมืองจะพัฒนาดีขึ้นหรือ น่าจะนำงบประมาณรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องใช้เวนคืนที่ดินไปช่วยเหลือคนจน หรือแก้ปัญหาด้านการศึกษา ทั้งนี้ หลังจากที่เจรจากันนานกว่า 2 ชั่วโมง ก็ยังไม่มีทีท่าจะยุติ พ.อ.อภิวันท์จึงขอให้ส่งตัวแทนนักเรียน 20 คน เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการจัดหาสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ส่วนนักเรียนที่เหลือรัฐสภาได้นำรถบัสไปส่งกลับโรงเรียน 

          ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่อาคารรัฐสภา 2 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ร่วมเป็นพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ โดยมีตัวแทนจาก 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ประกอบด้วย รัฐสภา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กรมราชองครักษ์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมธนารักษ์ และ กทม. โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอ่านรายละเอียดในบันทึกข้อตกลง 2 ฉบับ

          ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ตัวแทนทั้ง 8 หน่วยงานลงนามในบันทึกข้อตกลง นายสมัคร ได้ขอให้ลงบันทึกช่วยจำว่า ในฐานะนายกฯ และ รมว.กลาโหมจะรับไปดำเนินการดังนี้คือ ปัญหาที่พักอาศัยของทหารระหว่างรอการก่อสร้าง ขณะนี้ได้จัดเตรียมบ้านเอื้ออาทรย่านงามวงศ์วานไว้ รัฐบาลจะเร่งก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้เสร็จไม่เกิน 1 ปี สำหรับห้องเรียนของโรงเรียน ขส.ทบ.ที่เดิมมี 50 ห้อง จะใช้แบบเดียวกับอาคารสนามของกรมทางหลวง จะสร้างเสร็จภายใน 2 เดือน ทั้งหมดจะรื้อถอนและขนย้ายภายใน 3 เดือน ส่วนโรงเรียนโยธินบูรณะต้องอยู่ต่ออีก 2 ปี จนกว่าโรงเรียนแห่งใหม่จะเสร็จ สำหรับที่อยู่อาศัยของประชาชนในชุมชนโรงงานทอผ้า 3 ไร่เศษ ตนจะดูราคาเวนคืนที่เหมาะสม 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัวแทนนักเรียน 20 คน เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการ แต่ปรากฏว่า พ.อ.อภิวันท์ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้ทั้งหมดนั่งรอที่ห้องรับรอง ส.ส. บริเวณชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1 โดยมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้ามาเกลี้ยกล่อมให้กลับโรงเรียน  โดยรับปากจะดูแลให้สร้างโรงเรียนใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ตัวแทนนักเรียนปฏิเสธ พร้อมกับขอดูเนื้อหาที่จะมีการลงนามก่อน เมื่อถึงเวลาลงนาม ตัวแทนนักเรียนทั้งหมดกลับถูกกันไม่ให้เข้าไปในบริเวณพิธี โดยให้นั่งรออยู่หน้าอาคารวุฒิสภา แม้จะพยายามวิ่งเข้าไปในห้องลงนาม แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ รปภ.ของรัฐสภาปิดประตูล็อกกุญแจบริเวณทางเชื่อมระหว่างอาคาร 1 และ 2 ทำให้ตัวแทนนักเรียนไม่พอใจที่ถูกหลอก บางคนถึงกับร้องไห้

          หลังพิธีลงนามเสร็จสิ้นตัวแทนนักเรียนจึงทำได้แค่ยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คุณหญิงกษมารับปากว่าจะนำเสนอรัฐบาล นอกจากนี้ตัวแทนยังได้ร้องขอให้เปลี่ยนตัว ผอ.โรงเรียนโยธินบูรณะ คุณหญิงกษมาตอบว่าจะหาคนที่มีฝีมือและอยู่ครบ 4 ปีมาติดตามการก่อสร้างโรงเรียนเข้ามาบริหารงาน จากนั้นตัวแทนนักเรียนได้แจ้งให้นักเรียนที่เหลือที่รออยู่บริเวณหน้าประตูทางเข้าออกรัฐสภาได้รับทราบ ขณะที่ศิษย์เก่าขอให้ช่วยกลับไปบอกต่อรุ่นพี่ที่ไม่เห็นด้วยกับการย้ายโรงเรียนครั้งนี้เพื่อจะนำเรื่องไปฟ้องศาล



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักเรียนโยธินฯ บุกสภา ค้านย้ายโรงเรียน อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2551 เวลา 17:29:24 62,985 อ่าน
TOP