x close

เรื่องสั้น 9 เล่ม ที่เข้ารอบสุดท้าย ชิงรางวัลซีไรต์

ชิงรางวัลซีไรต์



          วันศุกร์ที่ 29 ส.ค.นี้ จะมีการแถลงข่าวประกาศผลตัดสินรวมเรื่องสั้น "รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์)" ประจำปี 2551 ของประเทศไทย


          รวมเรื่องสั้นส่งประกวดซีไรต์ปี 2551 นี้ มีทั้งหมด 76 เล่ม โดยที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 9 เล่ม ประกอบด้วย


          icon1. "เคหวัตถุ" อนุสรณ์ ติปยานนท์ สนพ.เคหวัตถุ


          icon2. "เราหลงลืมอะไรบางอย่าง" วัชระ สัจจะสารสิน สนพ.นาคร


          icon3. "เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า" จำลอง ฝั่งชลจิตร สนพ.แมวบ้าน


          icon4. "ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ" ศิริวร แก้วกาญจน์ สนพ.ผจญภัย


          icon5. "ตามหาชั่วชีวิต" เสาวรี สนพ.ประพันธ์สาส์น


          icon6. "หมู่บ้านแอโรบิก" ทัศนาวดี แพรวสำนักพิมพ์


          icon7. "ปรารถนาแห่งแสงจันทร์" "เงาจันทร์" แพรวสำนักพิมพ์


          icon8. "วรรณกรรมตกสระ" ภาณุ ตรัยเวช สนพ.นานมีบุ๊คส์


          icon9. "บริษัทไทยไม่จำกัด" สนั่น ชูสกุล สนพ.มติชน


          คณะกรรมการคัดสรร ได้แก่ รศ.ยุรฉัตร บุญสนิท (ประธาน) รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ,รักษ์มนัญญา สมเทพ,ร.ศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์,จรูญพร ปรปักษ์ประลัย,ผศ.ดร.สายวรุณ น้อยนิมิต,ดำรงค์ บุตรดี ร่วมกันสรุปภาพรวมเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดว่า นำเสนอเนื้อหาหลากหลาย ส่วนใหญ่จับประเด็นปัญหาของยุคสมัย เช่น วิถีชีวิตคนเมือง คนชนบท ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเมือง เศรษฐกิจ จนถึงสภาวะโลกร้อน ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น


          นอกจากเนื้อหาที่โดดเด่นก็คือศิลปะการเล่าเรื่อง หลายคนมีชั้นเชิงการเล่าเรื่องแพรวพราว ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิดในประเด็นปัญหา แต่ปล่อยให้ผู้อ่านนำไปคิดต่อตีความเอง "เรื่องสั้นไทยมาถึงจุดปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างเรื่องและการมองสังคม พยายามค้นหาอัตลักษณ์หรือลักษณะที่แหวกแตกต่างไปจากคนอื่น หาแง่มุมในการเล่าเรื่องเฉพาะแบบของตนเอง และนำเสนอในแง่มุมที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน มีพลังความสดของการสร้างแบบและการเลือกแง่มุมวิธีการมองและวิธีการนำเสนอ เรื่องสั้นจึงมีพัฒนาการที่เห็นได้ชัด ทั้งนี้ เพราะโลกโลกาภิวัตน์ที่นักอ่านสามารถเลือกรับข้อมูลได้มากมายและหลากหลาย นักเขียนได้ทำหน้าที่ตามให้ทันและต้องแซงหน้าผู้อ่านด้วย"


          ภาพรวมทั้งหมดของเรื่องสั้นที่ส่งประกวดซีไรต์ปีนี้ ในสายตาของคณะกรรมการคัดสรร โดยบ่ายสอง วันศุกร์ที่ 29 ส.ค.นี้ ที่ห้องรีเจนซี่ โรงแรมโอเรียนเต็ล ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) จะเป็นประธานแถลงข่าว


          รวมเรื่องสั้นเล่มใดจะได้รับประทับตรา "ซีไรต์" ประจำปี 2551

          แนะนำนักเขียน-ความเห็นคณะกรรมการ


 เคหวัตถุ

อนุสรณ์ ติปยานนท์


          อนุสรณ์ ติปยานนท์ เป็นคนกรุงเทพฯ จบสถาปัตยกรรมจากอังกฤษ เป็นอดีตอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร


          "เรื่องสั้น 8 เรื่องใน "เคหวัตถุ" ทำให้เราต้องมองสิ่งของต่างๆ รอบตัวด้วยดวงตาที่เปลี่ยนไป เรื่องสั้นทั้งหมดใช้ลีลาการเล่าเรื่องที่โดดเด่นและสร้างสรรค์ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงร้อยรัดกันอย่างลึกซึ้งระหว่างวัตถุและจิตใจ...


          ผู้เขียนได้ตั้งคำถามที่สำคัญแก่เราว่า มนุษย์แข็งกระด้างขึ้นจริงหรือ หรือเรายังคงเป็นเผ่าพันธุ์เดิมที่เต็มเปี่ยมด้วยความอ่อนไหว หากแต่ด้วยเงื่อนไขแห่งยุคสมัย ได้ปิดโอกาสให้เราไม่สามารถแสดงอารมณ์ที่แท้จริงออกมา"


 เราหลงลืมอะไรบางอย่าง

วัชระ สัจจะสารสิน


          วัชระ สัจจะสารสิน เป็นคนสงขลา รับราชการอยู่ที่ศาลปกครอง เคยได้รับรางวัล อาทิ พานแว่นฟ้า, รางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์


          "การตั้งชื่อชุดว่า เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นการชี้ชวนให้ผู้อ่านฉุกคิดว่าขณะที่เรามองชีวิตไปข้างหน้า และพร้อมจะก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือของโลกอย่างรวดเร็วนั้น เราหลงลืมอะไรบางอย่างหรือเปล่า เรากำลังละทิ้งความรู้สึกที่ครั้งหนึ่งเคยละเอียดอ่อน แล้วลุ่มหลงไปกับสื่อที่พัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง เราละทิ้งความฝัน ความปรารถนาและจินตนาการที่คนรุ่นก่อนเคยให้ความสำคัญไปแล้วหรือ"


 เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า

จำลอง ฝั่งชลจิตร


          จำลอง ฝั่งชลจิตร ชาวนครศรีธรรมราช ผ่านงานนิตยสารหลายเล่ม รวมเรื่องสั้น 3 เล่ม และอีก 1 นวนิยายเคยเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์


          "เรื่องสั้นทั้ง 15 เรื่อง ผูกร้อยด้วยโครงสร้างที่ไม่หวือหวา จนดูเหมือนเป็นเพียงชีวิตประจำวัน หรือการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ หากแต่ด้วยมุมมอง ชั้นเชิงการเล่า และภาษาที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ ก็ทำให้เรื่องเล็กๆ ที่ดูไม่สลักสำคัญ กลับกลายเป็นมีความหมายอันน่าพินิจ ทั้งหมดยืนยันถึงบทบาทที่แท้จริงของนักเขียนในฐานะนักเล่าเรื่อง"


 ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ

ศิริวร แก้วกาญจน์


          ศิริวร แก้วกาญจน์ เป็นชาวนครศรีธรรมราช ผลงานบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ผ่านเข้ารอบซีไรต์ถึง 5 สมัยติดต่อกัน


          "นักเขียนใช้ความเป็น "นักเล่าเรื่อง" เล่าภาพชีวิตของคนเฉพาะท้องถิ่น คนชนบทและคนเมือง "เสียงเล่า" ของเขาเป็นเสียงที่อยู่ในกระแสร่วมสมัย แต่ด้วย "กลวิธีการนำเสนอเรื่องเล่า" นักเขียนได้ใช้น้ำเสียงโน้มน้าวให้ผู้อ่าน รื่นรมย์ รันทด และสะเทือนใจได้ลึกซึ้ง และด้วยลีลาที่นักเขียนพยายามจะทำให้ "เรื่องเล่า" มีลักษณะแปลกและต่างรูปแบบ"


 ตามหาชั่วชีวิต

"เสาวรี"


          "เสาวรี" ชื่อจริงว่า เสาวรี เอี่ยมลออ เป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี บ้านเกิด มีผลงานเข้ารอบซีไรต์ 2 สมัย


          "ผู้เขียนตั้งคำถามกับผู้อ่าน ตั้งคำถามกับสังคมว่าเรากำลังตามหาอะไรกันอยู่? บางคนอาจตามหามาชั่วชีวิตแต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ากำลังตามหาอะไรโดยสะท้อนผ่านตัวละครที่ต่างมีชีวิตกะพร่องกะแพร่งไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ต่างพยายาม "ตามหา" เพื่อ "เติมเต็ม" ให้กับส่วนที่ตนขาด ตามหาการยอมรับนับถือจากผู้คน ตามหาตัวตนที่ไม่เคยมีของตัวเอง ตามหาความอบอุ่นของครอบครัว ตามหาชีวิตสมรสที่ซื่อสัตย์ ตามหารากเหง้าเผ่าพันธุ์ ตามหาความรัก ความเมตตา ต่างล้วนตามหาความสมบูรณ์ของชีวิต"


 หมู่บ้านแอโรบิก

"ทัศนาวดี"


          "ทัศนาวดี" บ้านเกิดอยู่ที่มหาสารคาม นามปากกาของ ผศ.สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร


          "8 เรื่อง ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้สะท้อนปัญหาของสังคมร่วมสมัย ด้วยทัศนคติอันเปิดเผย ผ่านมุมมองของตัวละครหลากหลายอาชีพ ที่แสดงวิถีชีวิตของคน ท่ามกลางกระแสวัตถุนิยมและเทคโนโลยีทั้งหลาย ในยุคที่คนในชนบทตกเป็นเหมือนเหยื่ออันโอชะของสิ่งเหล่านั้น ไม่ต่างจากคนในสังคมเมือง"


 ปรารถนาแห่งแสงจันทร์

"เงาจันทร์"


          "เงาจันทร์" นามปากกาของครู นักเขียนสาวชาวเพชรบุรี น้องสาวนักเขียนนักแปล แดนอรัญ แสงทอง


          "เรื่องราวในผลงานรวมเรื่องสั้นชุดนี้นับเป็นวรรณกรรมแนวโรแมนติกแห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทว่าบทบาทสำคัญของวรรณศิลป์แนวนี้ยังสามารถทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับความละเอียดอ่อนของมนุษย์ต่อมนุษย์ และแม้ต่อชีวิตอื่นที่มิใช่มนุษย์ ด้วยสายใยอันเปราะบาง อ่อนโยน และฝากรอยประทับอันงดงามระหว่างชีวิต ด้วยภาษาอันละเมียดละไมของนักเขียนที่บรรจงร้อยได้อย่างงดงาม"


 วรรณกรรมตกสระ

ภาณุ ตรัยเวช


          ภาณุ ตรัยเวช เป็นชาวกรุงเทพฯ กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่สหรัฐ เข้ารอบซีไรต์สมัยที่ 2


          "รวมเรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่องนำเสนอชีวิตของผู้คนที่แปลกแยกจากสังคม ผู้เขียนนำเสนอภาพตัวละครที่ตั้งคำถามกับความเป็นไปของคนในสังคม จากเรื่องง่ายๆ ไปสู่เรื่องราวที่ซับซ้อน แต่ละเรื่องล้วนมีทิศทางของการนำเสนอตัวละครแตกต่างกันไป บางคำถามตั้งขึ้นเพื่อ "ยั่วล้อ" กับลักษณะของวรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างที่ไม่เคยมีใคร "เล่น" กับประเด็นนี้มาก่อน"

ชิงรางวัลซีไรต์


 บริษัทไทยไม่จำกัด

สนั่น ชูสกุล


          สนั่น ชูสกุล ชาวนครศรีธรรมราช แต่ไปทำงานอยู่กับองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ แถบภาคอีสานหลายสิบปี ปัจจุบันอยู่ที่ จ.สุรินทร์


          "ผู้เขียนเสนอปัญหาสังคมผ่านมุมมองของกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในชนบท นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้เห็นวิธีคิดที่หลากหลายที่มีฐานความคิดอยู่บนผลประโยชน์ของคนต่างกลุ่ม ประเด็นที่นำเสนอไม่มีลักษณะขาว/ ดำอย่างชัดเจน แต่แสดงความซับซ้อนยอกย้อนของปัญหา"




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
โดย : องอาจ สุวรรณโชติ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องสั้น 9 เล่ม ที่เข้ารอบสุดท้าย ชิงรางวัลซีไรต์ อัปเดตล่าสุด 28 สิงหาคม 2551 เวลา 10:50:22 20,860 อ่าน
TOP