x close

รุมต้านภาวะฉุกเฉิน อธิการบดี ม.รัฐ 21 แห่ง จี้ยุบสภา-ลาออก

สมัคร สุนทรเวช


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

          เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 2 กันยายน 2551 ที่โรงแรมสยามซิตี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ 21 แห่งประชุมในนาม ทปอ. จากนั้นนายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ประธานในที่ประชุมพร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงแถลงว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้เสนอแนวทางต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขวิกฤตชาติ ได้แก่ 

          1. ขอเรียกร้องให้นายกฯเสียสละด้วยการยุบสภาทันทีเพื่อระงับความวุ่นวาย  

          2. ขอให้นายกฯ และ ครม.ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจ
 

          ทั้งนี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำโดยนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี รองอธิการบดี 10 คน คณบดี 20 คน ผู้อำนวยการสำนักและผู้อำนวยการสถาบัน 12 คน รวมจำนวน 42 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารและตำรวจงดเว้นการใช้กำลังและใช้ความรุนแรงใดๆ ต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่าย ขอให้ทุกฝ่ายยุติการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ขอให้นายกรัฐมนตรีเสียสละให้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ เพื่อให้เวลาและให้โอกาสแก่สังคมไทยในการเยียวยาความเสียหาย 

          ส่วนเครือข่ายคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน นำโดยนางทิชา ณ นคร ออกจดหมายเปิดผนึกถึงคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช และครอบครัวแนะนำให้นายสมัครลาออกหรือยุบสภา นอกจากนี้ รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับตัวแทนนักศึกษาและคณาจารย์ แถลงให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็ว และขอให้ผู้นำรัฐบาลพิจารณาลาออก หรือยุบสภา  

          ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากล แถลงเรียกร้องที่กรุงลอนดอนของประเทศอังกฤษ เมื่อวานนี้ (2 กันยายน) ตามเวลาท้องถิ่นให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อห้ามเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น ที่มีระบุไว้ในข้อกำหนดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และว่ารัฐบาลไม่สมควรใช้คำประกาศนี้ในการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านอื่นๆ ขณะที่นักวิจัยชื่อนายเบนจามิน ซาวัคคี ชี้ว่า กฏหมายระหว่างประเทศให้สิทธิ์แก่ประชาชนที่จะแสดงความคิดเห็นได้ แม้ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 

          อย่างไรก็ตาม คำเตือนจากองค์การนิรโทษกรรมสากลมีขึ้น หลังจากนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ออกข้อกำหนดโดยอาศัยมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้อำนาจกองทัพที่จะนำกลับมาซึ่งความสงบเรียบร้อยในประเทศ เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ยกเลิกเสรีภาพของประชาชน,ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คนขึ้นไป และห้ามสื่อมวลชนรายงานข่าวที่จะสร้างความตื่นตระหนก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รุมต้านภาวะฉุกเฉิน อธิการบดี ม.รัฐ 21 แห่ง จี้ยุบสภา-ลาออก อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2551 เวลา 17:05:30 35,742 อ่าน
TOP