x close

ไทยไม่ถอนทหารพื้นที่ทับซ้อน พร้อมรบหากเขมรรุกก่อน

เขาพระวิหาร




        เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ภายหลังจากที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยผู้นำ 3 เหล่าทัพ ได้แก่  พล.อ.ทรงกิตติ จักกะบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์  ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เรียกประชุมด่วนฝ่ายเสนาธิการ เพื่อหารือและประเมินสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ภายหลังจากที่ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ขีดเส้นตายให้ไทยถอนกำลังทหารก่อนเวลา 12.00 น. วันเดียวกันนี้

        โดยที่ประชุม ผบ.เหล่าทัพ ได้มีมติให้ทหารในกองทัพ ยังคงตรึงกำลังตามพื้นที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา รอบปราสาทพระวิหารต่อไป โดยระบุอีกว่า กองทัพมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือหากมีการเผชิญหน้า โดย ผบ.สส. จะนำเรื่องนี้ไปรายงานให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทราบในการประชุมบ่ายนี้

        ส่วนเรื่องการอพยพคนไทยที่อาศัยอยู่ในกัมพูชานั้น โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐบาล   ทั้งนี้ ทางการได้เตรียมพร้อมอพยพคนไทยไว้ตลอดอยู่แล้ว โดยขณะนี้ได้อพยพคนไทยในพื้นที่เสี่ยงภัยบางส่วนออกมาแล้ว อย่างไรก็ตาม กองทัพเห็นว่า วิธีการเจรจาเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหาทางออกของเรื่องดังกล่าว  

        อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ต่อการให้สัมภาษณ์ของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยรู้สึกประหลาดใจ ที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ยื่นคำขาดต่อประเทศไทยให้ถอนกำลังทหารของไทย ออกจากดินแดนที่ติดกับปราสาทเขาพระวิหาร และขู่จะใช้กำลังหากไม่ดำเนินการ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าสวนทางกับการอยู่ร่วมกันฉันท์เพื่อนบ้านที่ดี และขัดต่อสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้ ยังขัดกับแนวทางสากลในการแก้ปัญหาในระดับทวิภาคี โดยใช้แนวทางสันติ ซึ่งระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ

        นายธฤต กล่าวว่า ประเทศไทยได้พยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาโดยสันติวิธี ผ่านกลไกการเจรจาทวิภาคี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความคืบหน้าที่น่าพอใจ ในการนี้ทหารของทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงที่จะจัดการประชุมสมัยพิเศษ ของคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ในวันที่ 21 ตุลาคม 2551 โดยก่อนหน้านั้นจะมีการประชุม ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ในวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ด้วย

        อธิบดีกรมสารนิเทศ ระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องดำเนินการเก็บกู้กับระเบิด ตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด (อนุสัญญาออตตาวา) ในพื้นที่ที่ติดกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายจะสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดยคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งตั้งขึ้นตามบันทึกความเข้าใจที่ลงนามกันระหว่างสองประเทศเมื่อปี 2543 การเก็บกู้กับระเบิดในบริเวณดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็นและมีความเร่งด่วน เพื่อที่จะประกันความปลอดภัยให้กับประชาชน และเจ้าหน้าที่ทหารที่สัญจรในพื้นที่ดังกล่าว และความจำเป็นเร่งด่วนของเรื่องนี้ยิ่งเห็นได้ชัด หลังจากที่ทหารพรานของไทยสองนายได้รับบาดเจ็บขาขาด จากการเหยียบกับระเบิดในบริเวณนั้น เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในดินแดนของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904  ฝ่ายไทยกำลังตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า กับระเบิดในพื้นที่ดังกล่าวเป็นกับระเบิดที่มีอยู่เดิม หรือวางขึ้นใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด

        "หากฝ่ายกัมพูชาหันไปใช้กำลัง ในการแก้ปัญหาตามที่ได้มีการยื่นคำขาด ฝ่ายไทยก็จำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิในการป้องกันตนเอง ตามกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อปกป้องบุคลากรที่ทำการเก็บกู้กับระเบิดและอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย" นายธฤต กล่าว และว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เรียกร้องมาโดยตลอด และยังคงยืนยันที่จะแก้ปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาโดยสันติวิธี ผ่านช่องทางการหารือในระดับทวิภาคี ภายใต้กรอบและกลไกต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว

        ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชา ได้ตกลงกันในการประชุมที่เมืองเสียมราฐและ อ.ชะอำ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม และ 19 สิงหาคม ตามลำดับ ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะมีการเผชิญหน้าด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งเรื่องนี้ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ย้ำกับฝ่ายกัมพูชาในระหว่างการเยือนกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ด้วย ไทยได้ยึดตามความมุ่งมั่นดังกล่าวนี้อย่างเคร่งครัด และหวังว่ากัมพูชาจะทำเช่นเดียวกัน 

        ด้าน พลเอกเชีย มอน ของกัมพูชา เปิดเผยผ่านรอยเตอร์ว่า  ทหารไทยได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่พิพาทบริเวณชายแดนติดกับกัมพูชาแล้วในวันนี้ ก่อนถึงกำหนดเส้นตาย 12.00 น. ที่กัมพูชากำหนดไว้ 

        "พวกเขาได้ถอนกำลังออกไปจากดินแดนของเราแล้ว" พลเอกเชีย มอนกล่าวกับ "รอยเตอร์" ทางโทรศัพท์จากบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร

        "ดูเหมือนว่าสถานการณ์ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว" เขากล่าว

        ขณะที่ นายวีรพันธุ์ วัชราทิตย์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ถึงสถานการณ์แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดศรีสะเกษ ว่า  ทราบข่าวมีการเสริมกำลังทหาร กัมพูชาเข้าในพื้นที่ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งสถานทูตได้มีการประสานงานเพื่อเสนอทางแก้ปัญหาให้ทางกัมพูชาไปแล้ว เพียงแต่รอการติดต่อกลับมาว่า จะสามารถรับในข้อเสนอในการเจรจาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีช่องทางการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศได้ แม้สถานการณ์จะดูน่าเป็นห่วงก็ตาม

        เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถานทูตก็มีการเตรียมความพร้อมในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากที่เคยปฏิบัติเมื่อครั้งที่มีการกระทบกระทั่งกันครั้งก่อน แต่ก็มีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของชาวไทยที่อาศัยอยู่ที่นี่เช่นกัน ทั้งนี้ เชื่อว่าการหาทางออกในด้านการเจรจาน่าจะสามารถทำได้ ซึ่งขณะนี้คงได้แต่รอทางกัมพูชาติดต่อกลับมาเท่านั้น

        นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประกาศเคลื่อนกำลังทหาร เพื่อกดดันให้ไทยถอนทหารออกจากชายแดนว่า เรื่องนี้ก็ต้องคิดกัน ซึ่งเราก็หวังว่ากัมพูชาจะไม่ทำเช่นนั้น  ซึ่งในการหารือกับกัมพูชาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมกัมพูชาพูดว่าอุณหภูมิมันสูงอยู่ ตนก็ได้บอกให้ลดลงก่อนแล้วค่อยมาคุยกันอีกครั้ง

        ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังมีหนทางเจรจาให้รัฐบาลกัมพูชาสั่งให้ทหารถอยออกจากพื้นที่หรือไม่ นายสมพงษ์ ตอบว่า  "มันไม่ใช่ต้องถอยหรือไม่ถอย เพราะมันเป็นพื้นที่ของเรา เขาจะให้เราถอย ก็อ้างว่าเป็นพื้นที่ของเขา แล้วเราจะให้เขาถอยออกไป ก็บอกกับเขาไปว่า ต้องมานั่งคุยกันระดับทวิภาคีก็เสนอไปแล้ว  เมื่อวานก็คุยกันแล้ว พอผมกลับมาพวกคุณก็เอาข่าวอะไรมาให้ผม ว่าเขาจะเอากันแล้ว ตอนนี้ผมก็ให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ประสานงานและคอยรายงานมา เมื่อคืนวาน (13 ตุลาคม) กว่าจะรู้เรื่องก็ดึกแล้ว ก็จะนำเรื่องนี้ไปหารือต่อกับคณะรัฐมนตรี และรายงานให้นายกฯ ทราบ" นายสมพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังคุยกันอยู่ โดยมีตัวแทนประเทศต่างๆ กำลังช่วยพูดคุยกันอยู่

        เมื่อถามอีกว่า ทราบหรือไม่กองกำลังทหารกัมพูชาเสริมกำลังเท่าไหร่ นายสมพงษ์ กล่าวว่า  ไม่รู้ เมื่อคืนทหารหลับไปหมดแล้ว เรื่องทหารต้องไปถามทหาร

        เมื่อถามว่า ไทยจะถอยกำลังทหารออกจากเขาพระวิหารตามที่กัมพูชาเรียกร้องหรือไม่  นายสมพงษ์ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "จะทำได้อย่างไร มันก็เหมือนเราอยู่ในบ้านเรา ถ้าให้คุณออกจากบ้านคุณ คุณจะทำหรือไม่ จะให้ผมขายชาติหรืออย่างไร ผมไม่ทำแต่เราต้องหลีกเลี่ยงการปะทะเผชิญหน้า มันเป็นเรื่องจริงที่เราต้องมาคุยกัน แต่ไม่ใช่ให้เราถอยออกมา เพราะมันเป็นพื้นที่ของเรา เรื่องนี้ผมจะนำเข้าหารือในคณะรัฐมนตรี ส่วนอำนาจการตัดสินใจเป็นของนายกฯของทั้ง 2 ฝ่ายต้องคุยกัน  ผมได้รายงานท่านนายกฯไปแล้ว เดี๋ยวนี้การสื่อสารมี ดาวเทียมมี ไม่ต้องไปถึงเขมร"

        ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีของสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา และนายฮอร์ นำ ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา แข็งกร้าวจะสามารถคุยกันได้หรือ นายสมพงษ์ กล่าวว่า "เราต้องเข้าใจว่าตอนนี้เขามีอารมณ์ เราก็อย่าไปตามอารมณ์เขา คุยกันได้ อย่างเมื่อวานก็คุยกันดี หัวเราะกันดี"
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทยไม่ถอนทหารพื้นที่ทับซ้อน พร้อมรบหากเขมรรุกก่อน อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2551 เวลา 15:53:33 26,496 อ่าน
TOP