x close

วิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงกว่า Super Crisis คิวตกงานเพียบ

เงิน



สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

          เมื่อวานนี้ (27 ตุลาคม) นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงเศรษฐกิจขณะนี้ว่า วิกฤติการเงินในขณะนี้รุนแรงมากเป็นยิ่งกว่า Super Crisis และเชื่ออีกไม่นานจะถึงจุดจบ ขณะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังจะซบเซาไปอีกอย่างน้อยถึงปลายปีและต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟู 

          "สิ่งที่น่าห่วงสุดคือภาคการผลิตที่แท้จริง หรือ เรียลเซคเตอร์ ที่จะได้รับผลกระทบในปีหน้า ขณะทุกภาคส่วนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน พร้อมแนะรัฐบาลเร่งหามาตรการทางเศรษฐกิจรองรับวิกฤติและวางเป็นแผนรับมือของชาติไม่ใช่เพียงเรื่องการเมือง หลังจากนี้เศรษฐกิจจะยิ่งวิกฤติ กำลังการผลิตจะมีมากเกินความต้องการ โดยสินค้ากลุ่มยุทธปัจจัยจะได้รับผลกระทบมากสุด โดยเฉพาะ น้ำมัน เหล็ก อลูมิเนียม" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว

          ทางด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเกรงว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะบั่นทอนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2552 แย่ลง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ลดลงแล้ว 50% และมองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกปี 2552 จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่วิกฤติการเมืองยังมองไม่เห็นทางออก ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งนี้ ยังพบว่าคำสั่งซื้อสินค้า เช่น เสื้อผ้า ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และเซรามิก จากต่างประเทศเริ่มลดลงแล้ว ซึ่งทำให้ลดกำลังการผลิตลง 20-30% และจากปัญหาคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานในปี 2552 ที่คาดว่าจะลดลง 1 ล้านคน รวมทั้งกระทบแรงงานใหม่ที่จะจบการศึกษาเดือนมีนาคม 2552 ประมาณ 7แสนคน ทำให้หางานทำยากขึ้น 

          "ส.อ.ท.ต้องการเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 มาตรการของรัฐบาลเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ และอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งวางแผนร่วมกับ ส.อ.ท.เพื่อรองรับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เพียงแต่ชะลอตัวอย่างมากเท่านั้น จึงต้องการเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการกระจายงบประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งวางแผนร่วมกับ สอท.เพื่อรองรับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้" นายธนิต กล่าว

          ขณะที่ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เป็นห่วงผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่จะมาทับถมเศรษฐกิจไทย จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เพราะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่กระทบภาคการเงิน แต่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ทำให้การส่งออกชะลอตัวและกระทบภาคการผลิต ที่ผ่านมาภาคเอกชนเสนอความเห็นแก่รัฐบาลไปมากแล้ว แต่ถ้าปัญหาความรุนแรงมากขึ้นก็ต้องเสนอความเห็นเพิ่มเติม



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงกว่า Super Crisis คิวตกงานเพียบ อัปเดตล่าสุด 28 ตุลาคม 2551 เวลา 18:09:19 27,508 อ่าน
TOP