x close

10 วิธีลดเสี่ยง ห่างภัยมะเร็งร้าย

10 วิธีลดเสี่ยง ห่างภัยมะเร็งร้าย

10 วิธีลดเสี่ยง ห่างภัยมะเร็งร้าย


          มะเร็งเป็นโรคที่เกิดกับใครก็ได้ ไม่ว่าเด็ก คนแก่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย จะร่ำรวยหรือยากจน มะเร็งยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้คนทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา แต่ข่าวดีก็ยังมีอยู่ นั่นคือองค์ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรคมะเร็งได้รับการพัฒนาไปมากพอจนเราเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองจากโรคมะเร็งได้

          ในงานเปิดตัว บัตร Healthy Living Club บัตรรักษาสุขภาพของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องสุขภาพหลายอย่างที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ เรื่องโรคมะเร็ง พร้อมคำแนะนำ 10 ประการ ที่ปฏิบัติได้เพื่อชีวิตห่างไกลโรคมะเร็ง

 1. ลด หรือเลิกบุหรี่

          การเลิกสูบบุหรี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งสำคัญที่สุดที่จะลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอดและโรคอื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากบุหรี่ เลิกบุหรี่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขอคำปรึกษาถึงวิธีการเลิกแบบต่างๆ จากแพทย์ได้ ทั้งการรักษาด้วยยาหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 2. กินอาหารที่มีประโยชน์

          ตอนเด็กๆ หลายคนอาจเซ็งที่ถูกบังคับให้กินผัก แต่เมื่อโตขึ้นจะรู้ว่าผักเป็นประโยชน์มากต่อตัวเราเอง ผักจำพวกบร็อกโคลี่ กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี และกะหล่ำขาว อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นในการต่อสู้กับมะเร็ง รวมทั้งเป็นส่วนประกอบสำคัญในตำรับอาหารต้านมะเร็ง นอกจากนี้ ผลเบอร์รี่ ถั่วแดง และชาเขียว ก็อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับไวน์แดง ช็อกโกแลต และถั่วพีแกน สารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ช่วยร่างกายต่อต้านปฏิกิริยาเคมีที่ส่งผลร้ายต่อเซลล์ปกติซึ่งในท้ายที่สุดอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตาม ควรกินแต่พอประมาณ

 3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

          การออกกำลังกายนานครั้งละ 30 นาที 3-5 วัน ต่อสัปดาห์ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ การออกกำลังกายในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงแบบ นักกีฬา แต่การเล่นโยคะ เดิน หรือเต้นแอโรบิกก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งได้ดีที่สุดเช่นกัน นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยไม่ให้เป็นโรคอ้วน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหลายชนิด

 4. ตรวจสุขภาพประจำปี

          มีหลักฐานยืนยันว่าการตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจพบมะเร็งแต่เนิ่นๆ ทำให้โอกาสที่จะรักษาจนหายมีมากขึ้นเท่านั้น และยังช่วยให้การรักษาฟื้นฟูทำได้เร็วขึ้นโดยมีผลข้างเคียงลดลง ดังนั้น ควรตรวจร่างกายสม่ำเสมอและขอคำแนะนำจากแพทย์เรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งที่เหมาะกับวัย เช่น ผู้หญิงในวัย 40 ปีขึ้นไปควรทำแมมโมแกรมเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม หรือชายในวัย 40 ปีขึ้นไปควรตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก โดยที่มะเร็งบางชนิดอาจไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก

 5. ดื่มแต่พอดี

          การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปอาจเป็นผลร้ายต่อตับมากเป็นพิเศษ แม้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ (ไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน)

 6. สืบสาวเรื่องราวครอบครัว

          มะเร็งหลายชนิดมักเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ หรือพูดง่ายๆ มะเร็งสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ ดังนั้นการได้ทราบว่าคนในครอบครัวของคุณมีประวัติเจ็บป่วยด้วยมะเร็งชนิดใดถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการป้องกันมะเร็ง โดยการพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และควรแจ้งประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวให้แพทย์ทราบ เพื่อแพทย์จะให้คำแนะนำและดูแลได้เหมาะสม

 7. หลีกเลี่ยงแสงแดด

          รังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) ในแสงแดดเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งผิวหนังซึ่งส่วนมากสามารถป้องกันได้ง่ายๆ 2 วิธีคือ ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปเมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง และพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรงในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่รังสียูวีมีความเข้มสูงสุด

 8. มีเพศสัมพันธ์ปลอดภัย

          เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยไม่เพียงช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกซึ่งเป็น สาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก เชื่อกันว่าประมาณร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจาก Human Papillomavirus (HPV) ที่สำคัญ เชื้อ HPV นี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งที่ทวารหนัก และอวัยวะเพศอีกด้วย แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อ HPV ได้ในระดับหนึ่ง โดยต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์

 9. นอนหลับให้สนิท

          จากการศึกษาพบว่า การนอนหลับสนิทจะมีผลไม่ทำให้เป็นมะเร็ง เนื่องจากสารเมลาโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สมองผลิตในระหว่างการนอนหลับมีคุณสมบัติต่อสู้กับมะเร็ง แต่เมลาโทนินจะช่วยป้องกันมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อการนอนนั้นเป็นการ นอนหลับสนิทต่อเนื่องในห้องมืดเท่านั้น

 10. หลีกเลี่ยงการเผชิญกับสารเคมีอันตราย

          สารจำพวกยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด น้ำมันเบนซินนั้น เต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายที่เกี่ยวโยงกับการเกิดมะเร็ง แม้การควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเหล่านี้ในบ้านหรือที่ทำงานย่อมเป็นการลดโอกาสในการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารกันไฟ หรือ PBDE ซึ่งมักจะใช้กับผ้า เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 วิธีลดเสี่ยง ห่างภัยมะเร็งร้าย อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2551 เวลา 13:46:17 16,629 อ่าน
TOP