x close

บรมราชาภิเษก พระราชาธิบดีจิกมี

พระราชาธิบดี จิกมี

บรมราชาภิเษก พระราชาธิบดี "จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก" สมมุติโพธิสัตว์แห่งภูฏาน

          ผมประสงค์เขียนเรื่องนี้ก็ด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ

          ประการแรก ด้วยทราบว่า วันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 คือวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก หรือที่คนไทยรู้จักในนาม "เจ้าชายจิกมี" เมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชาธิบดี รัชกาลที่ 5 แห่งราชอาณาจักรภูฏานตามขนบธรรมเนียมราชประเพณี จึงเป็นวันที่ชาวภูฏานทั้งประเทศตั้งตาคอยและจะมีการเฉลิมฉลองกันใหญ่โตที่ กรุงทิมปู เมืองหลวง

          ผมคิดว่าคนไทยหลายคนรวมทั้งผมด้วย ตระหนักว่าชาวภูฏานคือเพื่อนร่วมโลกที่ดี และเป็นญาติพุทธธรรม จึงอยากร่วมแสดงความยินดีในโอกาสอันเป็นสิริมงคลของราชอาณาจักรเล็กๆ ในหุบขุนเขาหิมาลัยพร้อมๆ กับชาวภูฏานด้วย 

          ประการที่สอง ผมเพิ่งกลับจากภูฏาน ได้ใช้เวลานาน 9 วันที่นั่น สมาชิกคนไทยที่ร่วมคณะเดินทางไปด้วยกันล้วนเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จใน อาชีพ มีประสบการณ์หลากหลายและหลากวัย มีมัคคุเทศก์ชาวภูฏานที่เป็นปัญญาชน ได้พบปะพูดคุยกับชาวภูฏานหลายอาชีพ รวมทั้งได้รับพระเมตตาจากพระราชวงศ์ภูฏานให้เข้าเฝ้า 

          ทำให้ได้ข้อสังเกต ได้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น เกิดเป็นความรู้สึกและความคิดหลากหลาย ที่ผมอยากถ่ายทอดบางเรื่องมาเล่าสู่กันฟัง 

          เรื่องแรก ว่าด้วยเรื่องความสำคัญของ ซ็อง ใครได้ไปภูฏาน ต้องซึ้งกับคำภูฏานคำหนึ่ง คือคำว่า ซ็อง ได้อย่างแม่นยำ พาโรซ็อง ทิมปูซ็อง ปูนาคาซ็อง ฯลฯ 
          
          กลับถึงบ้านนานเป็นเดือนแล้ว แต่คำว่าซ็องยังคงติดตาตรึงใจได้ไม่เสื่อมคลาย ซ็องคืออะไร? 

          ซ็อง คือสถาปัตยกรรมแบบภูฏานหลังใหญ่ ลักษณะคล้ายป้อมปราการ ฐานก่อด้วยหินสูง ภายในปราการยังมีอาคารอื่นอีกหลายหลัง แต่ละเมืองจะมีซ็องใหญ่ประจำเมือง เป็นจุดหมายตาสำคัญที่สุดของเมือง ซ็องประเภทนี้จัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในเป็น ที่พำนักเจ้าผู้ครองนคร ที่ทำการรัฐบาล และอารามพุทธศาสนา ส่วนซ็องขนาดเล็กใช้เป็นอารามเท่านั้น 

          ภายในซ็องขนาดใหญ่จึงเป็นศูนย์บัญชาการรัฐทั้งศาสนจักรและอาณาจักรอยู่ ณ ที่เดียวกัน เมื่อ มีหน้าที่สำคัญเช่นนั้น ซ็องของแต่ละเมืองจึงใหญ่โตมโหฬาร เฉพาะซ็องที่เมืองหลวงเก่าคือเมืองปูนาคานั้นใหญ่โตจนข่มชุมชนโดยรอบ ขนาดที่มองไม่เห็นว่าชุมชนของเมืองปูนาคาอยู่ที่ไหน 

พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก 

          (บน) พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (ภาพจาก of Rainbows and Clouds) (ล่าง) พระมเหสีทั้ง 4 พระองค์ของพระราชาธิบดีรัชกาลที่ 4 พระมเหสียืนขวาสุดคือ H.M. Ashi Tshering Yangdon พระราชมารดาพระราชาธิบดีจิกมี (ภาพจาก of Rainbows and Clouds) 

          ใครไปราชอาณาจักรภูฏานแล้วไม่ได้เข้าไปศึกษาเที่ยวชมซ็องของแต่ละเมือง นับว่ายังไปไม่ถึงภูฏาน เสมือนหนึ่งมาประเทศไทยแล้วไม่ได้ไปวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง 

          ชาวภูฏาน เมื่อจะเข้าไปในซ็อง ต้องแต่งตัวเรียบร้อยยิ่งขึ้น ผู้ชายต้องนำผ้าผืนยาวคล้องพาดลำตัว ผู้หญิงหยิบผ้าผืนงามขึ้นพาดไหล่ เมื่อออกจากซ็องต่างเก็บผ้าชิ้นที่เป็นสัญลักษณ์แสดงความสุภาพและความเคารพ ต่อสถานที่ชิ้นนั้น 

          เมื่อศูนย์บัญชาการของรัฐคือซ็องเป็นที่พำนักและ ทำงานของเจ้าผู้ครองนครรวมทั้งพระสังฆราช จึงควรเชื่อได้ว่าอำนาจรัฐที่ประกาศออกมาจากซ็อง คือเสียงประสานระหว่างศาสนจักรและอาณาจักร ประกาศอำนาจรัฐซึ่งมีที่มาที่ไปเช่นนี้ น่าเชื่อได้ว่า รัฐนั้นน่าจะปกครองด้วยนโยบายที่เป็นธรรมาภิบาลโดยมีธรรมราชาเป็นผู้ทรง อำนาจเบ็ดเสร็จหรือเกือบเบ็ดเสร็จ และน่าจะเป็นประเด็นสำคัญของลักษณะการเมืองการปกครองราชอาณาจักรภูฏานคือ พุทธศาสนธรรมกับการปกครองคือเรื่องเดียวกัน 

          เรื่องที่สอง สถาบันกษัตริย์ภูฏาน มองไปตามร้านรวงต่างๆ และในวัดวาอาราม ผมสังเกตเห็นพระฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ภูฏานทั้งองค์พระราชบิดา คือ พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก รัชกาลที่ 4 ที่ได้สละราชสมบัติให้มกุฎราชกุมาร "เจ้าชายจิกมี" ขึ้นครองราชย์ต่อ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2549 และพระฉายาลักษณ์พระราชาธิบดีพระองค์ปัจจุบัน คือพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก รัชกาลที่ 5 ติดประดับในตำแหน่งที่เหมาะสมทั่วไป สิ่งนี้น่าจะเป็นสัญญาณในความจงรักภักดีของประชาชนภูฏานต่อสถาบันกษัตริย์ ของตน 

          แท้จริงแล้ว ประวัติพระราชวงศ์ปัจจุบันของราชอาณาจักรภูฏานสามารถสืบสาวราวเรื่องไปได้ เพียงประมาณ 100 ปีก่อนเท่านั้น คือ เมื่อ พ.ศ.2450 ผู้ปกครองรัฐเล็กรัฐน้อยในแถบนั้นรวมทั้งพระสงฆ์รูปสำคัญและตัวแทนประชาชน ได้ลงความเห็นเลือกให้ อูเก็น วังชุก ขณะนั้นเป็นข้าหลวงเมืองทรองซาเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักร รวมทั้งเริ่มศักราชของความเป็นปึกแผ่นของราชอาณาจักรภูฏาน 

          พระราชาธิบดีพระองค์ที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์หนึ่งศตวรรษราชาธิปไตยภูฏานคือ พระราชาธิบดีพระองค์ที่ 3 คือพระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จิ วังชุก ทรงนำราชอาณาจักรภูฏานเข้าร่วมวงไพบูลย์กับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ทรงปฏิรูปการปกครองโดยจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ ปฏิรูปที่ดิน ลดภาษี ทรงได้รับการเทิดทูนว่าเป็นพระราชบิดาราชอาณาจักรภูฏานยุคใหม่ 

พระราชาธิบดีจิกมี   

          (ซ้าย บน) ศาลาไทยในกรุงทิมปู อนุสรณ์แห่งมิตรภาพไทย-ภูฏาน (ขวาบน) ปูนาคาซ็อง ป้อมปราการเมืองปูนาคา เมืองหลวงเก่าภูฏาน (ซ้ายล่าง) พระราชวังของพระราชวงศ์ภูฏานที่เมืองพาโร (ขวาล่าง) พระฉายาลักษณ์พระราชาธิบดีภูฏาน "พ่อและลูก" ในร้านค้าชุดแต่งกายพื้นเมืองแบบสุภาพสำหรับชาวภูฏานหญิง-ชาย เมื่อเข้าไปในซ็อง 

          ที่โดดเด่นอีกรัชกาลหนึ่งคือรัชกาลที่ 4 พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ผู้ทรงค้นหาคุณค่าและแนวทางการพัฒนาราชอาณาจักรภูฏานให้มีลักษณะเฉพาะตน จนกระทั่งเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่ประชาคมโลก 

          ว่ากันว่า ชาวภูฏานเชื่อว่าพระราชาธิบดีของตนคือพระโพธิสัตว์จุติลงมาเพื่อคุ้มครอง ป้องกันประชาชน ทำนุบำรุงและเผยแผ่พระธรรม พระราชาธิบดีทรงเป็นภาวะสำแดงแห่งพระโพธิสัตว์ เป็นผู้ทรงความรู้อย่างไม่อาจประมาณ ทรงคุณธรรมทั้งภายนอกภายใน แม้ในที่ลับ 

          เมื่อประชาชนตั้งความหวังในบทบาทและหน้าที่ของพระราชาธิบดีสูงส่งมากถึงขนาดนี้ จึงน่าจะเป็นเงื่อนไขให้พระราชาธิบดีแห่งภูฏานต้องทรงตระหนักในพระราชภารกิจ และหน้าที่ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรภูฏานพระองค์ใดทำให้ประชาชนผิดหวัง 

          สำหรับพระราชาธิบดีองค์ใหม่ รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตของพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 กับพระมเหสีองค์ที่ 3 ฟังเรื่องนี้แล้วท่านอาจจะสับสน แต่หากท่านได้รับคำอธิบายง่ายๆ ว่า พระราชบิดาของพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันทรงมีพระมเหสี 4 พระองค์เป็นพี่น้องร่วมพระโสทร ปรากฏว่าพระมเหสีองค์ที่ 3 ทรงมีพระประสูติกาลได้พระราชโอรสก่อนพระมเหสีพระองค์อื่น พระราชโอรสพระองค์นี้คือเจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก จึงได้รับการสถาปนาให้เป็นมกุฎราชกุมารและได้ขึ้นครองราชย์ในที่สุด 

          เงื่อนไขที่พระราชาธิบดีพระองค์ต่างๆ ต้องทรงคิดและทรงทำคือทรงเป็นเสมือนพระโพธิสัตว์จุติลงมาช่วยเหลือชาติและประชาชน 

          เรื่องที่สาม วาทะและแนวพระราชดำริจากสมมุติพระโพธิสัตว์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน หากต้องการพิสูจน์ว่าพระราชาธิบดีภูฏานต้องทรงมีอุดมคติเป็นสมมุติพระโพธิสัตว์ จริงหรือไม่ เรื่องนี้น่าจะพิจารณาได้จากตัวอย่างวาทะและแนวพระราชดำริต่างๆ ที่พระราชาธิบดีภูฏานทรงใช้ในการปกครองราชอาณาจักรภูฏาน 

          วาทะและแนว พระราชดำริของพระราชาธิบดีรัชกาลก่อน (รัชกาลที่ 4) น่าจะเป็นจริงตามนั้น เช่น ทรงมีพระราชดำรัสว่า "การพัฒนาสู่ความทันสมัยนั้น ผลที่ได้ต้องเป็นความสุขสงบ" "ความสุขมวลรวมประชาชาติสำคัญกว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ" "ความสุขที่แท้จริงจะต้องเกิดจากข้างในของปัจเจกบุคคล ซึ่งก็จะส่งผลถึงการเกิดความสุขในสังคม และในประเทศชาติตามลำดับ" 

          ส่วนแนวพระราชดำริเรื่องการพัฒนาราชอาณาจักรภูฏานนั้น ทรงกำหนดว่าต้องดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การกระจายอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาล การอนุรักษ์วัฒนธรรม การท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่ามากกว่าปริมาณ เป็นต้น 

          วาทะอันงดงาม และนโยบายเชิงฝันนั้น ใครๆ ก็ทำได้ แต่สำคัญตรงที่เมื่อได้ประกาศออกมาแล้ว มีการนำมาปฏิบัติ มุ่งมั่นและซื่อสัตย์ต่อนโยบายนั้นจริงหรือไม่ 

          เรื่องต่างๆ ทั้งหมด ผมไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างเป็นแก่นสาร ด้วยมีเวลาอันแสนสั้นอยู่ในราชอาณาจักรภูฏาน ยกเว้นเรื่องที่เห็นได้ง่าย เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่ามากกว่าปริมาณ การอนุรักษ์วัฒนธรรม สามเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องปฏิบัติได้จริงหรือค่อนข้างจริง โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมนั้นน่าจะเป็นเรื่องเด่นสุด 

          ดังตัวอย่างเช่น พระราชวัง เรือนพักอาศัย ห้องชุด ที่ทำการราชการ ร้านค้า โรงแรม ฯลฯ ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ สร้างให้มีรูปแบบภายนอกเหมือนกันหมดทั้งประเทศ เป็นสถาปัตยกรรมแบบภูฏาน 

          ชาวภูฏานนับตั้งแต่พระราชวงศ์จนถึงคนเดินถนนทั่วไปแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกาย รูปแบบประจำชาติ และแต่งกันอย่างทั่วถึงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 

          นโยบายแสดงให้เห็นถึงคุณค่าวัฒนธรรมของตนผ่านการจัดแสดงเป็นนิทรรศการด้วยการสร้าง พิพิธภัณฑ์เนื้อหาต่างๆ กำลังเพิ่มพูน เช่น ที่เมืองหลวงกรุงทิมปู สมาชิกพระราชวงศ์ต่างแข็งขันอุปถัมภ์สร้างพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์เรื่องพื้นบ้านพื้นเมือง อุปถัมภ์โดยพระราชินีรัชกาลที่ 4 องค์ที่ 1 พิพิธภัณฑ์ผ้าภูฏาน อุปถัมภ์โดยพระราชินีรัชกาลที่ 4 องค์ที่ 4 ทั้งสองแห่งเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก แต่จัดแสดงได้มาตรฐานเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ดีๆ ในทวีปยุโรป เพียงแค่นี้ทำให้ผมเชื่อแล้วว่าพระราชาธิบดีภูฏานทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมจริง 

          จากสมุดบันทึกการไปเยือนราชอาณาจักรภูฏานครั้งนี้ ท่อนท้ายของบันทึกผมได้บันทึกว่าความคล้ายคลึงระหว่างชาวไทยกับชาวภูฏานมี อย่างน้อย 5 ประการ คือ มีความสุภาพ อ่อนโยน เป็นสังคมเกษตรกรรม มีรสนิยมในศิลปกรรม วิถีชีวิตเรียบง่าย มีความสุขตามวิถีพุทธ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 


รวมข่าวกษัตริย์จิกมี พร้อมพระราชกรณียกิจ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
  
โดย : นายภูธร ภูมะธน 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บรมราชาภิเษก พระราชาธิบดีจิกมี อัปเดตล่าสุด 17 ตุลาคม 2559 เวลา 14:38:08 10,182 อ่าน
TOP