x close

การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระศพ

การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระศพ

          การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธี ถือว่าเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งในของงานพระราชพิธีที่บรรเลงตามขั้นตอนของงานพระราชพิธี คู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง

          แต่เดิมการประโคมดนตรีที่เป็นลักษณะประโคมย่ำยาม มีเฉพาะของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง เท่านั้น ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง คือ

          - ยาม 1  เวลา 06.00 น.

          - ยาม 2 เวลา 09.00 น.

          - ยาม 3 เวลา 12.00 น.

          - ยาม 4 เวลา 15.00 น.

          - ยาม 5 เวลา 18.00 น.

          - ยาม 6 เวลา 21.00 น.

          - ยาม 7 เวลา 24.00 น.
 
          ในการประโคมงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในการประโคมย่ำยามด้วย ดังนั้น จึงมี 2 หน่วยงานเข้าร่วมประโคม คือ

          วงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง (วงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ)

          วงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนเรียงลำดับ ดังนี้

          วงประโคมลำดับที่ 1 คือ วงแตรสังข์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ประโคม "เพลงสำหรับบท" จบแล้ว วงประโคมวงที่ 2 จึงเริ่มขึ้น

          วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่ไฉนกลองชนะ (หรือเรียกว่า วงเปิงพรวด) ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ไฉน กลองชนะ เปิงมาง "ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม" จบแล้ว วงประโคมวงที่ 3 จึงเริ่มขึ้น

          วงประโคมลำดับที่ 3 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง "ประโคมเพลงชุดนางหงส์"

          เมื่อประโคม ครบทั้ง 3 วงแล้ว ก็ถือว่าเสร็จการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง

          การที่กรมศิลปากร นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาประโคมย่ำยามนั้น แต่เดิม แต่โบราณไม่ได้มี "วงปี่พาทย์" ร่วมประโคมย่ำยาม จะมีแต่เฉพาะ "วงแตรสังข์ และ วงปี่ไฉนกลองชนะ" ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังและวงกลองสี่ปีหนึ่ง (ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว) ประโคมในงานพระบรมศพ พระศพ เท่านั้น

          เมื่อครั้งงานพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระประสงค์ให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์ ของกรมศิลปากรมาประโคมย่ำยาม ต่อจากวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง นับเป็นครั้งแรกที่ได้นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาประโคมย่ำยามด้วย

          แต่เดิม บทบาท "วงปี่พาทย์นางหงส์" เป็นวงที่บรรเลงในงานศพของสามัญชน ต่อมาได้นำมาบรรเลงในงานสวดพระอภิธรรมศพเจ้านาย และใช้ในตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ (ไม่ใช่ประโคมย่ำยาม)

          วงปี่พาทย์นางหงส์ เกิดจากการนำวงปี่พาทย์ไทย ประกอบด้วย ปี่ใน ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ประสมกับ วงบัวลอย ซึ่งใช้ในงานเผาศพของสามัญชน (ประกอบด้วย ปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 2 ใบ เหม่ง) (วงบัวลอย มาจาก วงกลองสี่ปี่หนึ่ง ซึ่งใช้เฉพาะงานพระบรมศพ พระศพ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์)

          วงปี่พาทย์นางหงส์ จึงประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง (เครื่องคู่) สาเหตุที่เรียกว่า วงปี่พาทย์นางหงส์ นั้น เกิดจากการบรรเลงที่เริ่มด้วยเพลงนางหงส์ (เพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน) จึงเรียกชื่อวงและชื่อเพลงชุดนี้ว่า "วงปี่พาทย์นางหงส์และเพลงชุดนางหงส์"

          สาเหตุที่นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาใช้ในงานอวมงคล เกิดจาก การจัดระเบียบวัฒนธรรมการจัดวงการบรรเลงดนตรีไทย มีระเบียบแบบแผนการจัดวงดนตรีไว้ให้เหมาะกับกาลเทศะ เช่น

          - งานมงคล - ใช้วงมโหรี วงเครื่องสาย

          - งานประกอบพิธีกรรม - ใช้วงปี่พาทย์(ไทย)

          - งานรื่นเริงการบรรเลงเพื่อ - ใช้วงปี่พาทย์เสภา

          - การฟัง - ใช้วงปี่พาทย์นางหงส์ และสำหรับงานอวมงคล 

ความหมายของเพลงที่บรรเลง

          - เพลงที่บรรเลง เรียกว่า "เพลงชุดนางหงส์" ประกอบด้วยเพลง

          - เพลงนางหงส์ (หรือเพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน)

          - เพลงสาวสอดแหวน

          - เพลงแสนสุดสวาท

          - เพลงแมลงปอ

          - เพลงแมลงวันทอง

          การเรียงร้อยเพลงชุดนี้ โบราณจารย์ท่านเรียบเรียงไว้ ใช้เฉพาะงานอวมงคล ด้วยลักษณะทำนองเพลงบ่งบอกถึงความสงบ ณ สัมปรายภพ

          การคัดเลือกเพลงที่ใช้บรรเลงนั้น โบราณจารย์ได้จัดระเบียบแบบแผนการใช้เพลงไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น กลุ่มเพลงที่ใช้งานมงคลและกลุ่มเพลงที่ใช้งานอวมงคล จะไม่นำมาใช้ปะปนกัน
 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
hrh84yrs.org
โดย : สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระศพ โพสต์เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2551 เวลา 21:07:19 80,533 อ่าน
TOP