x close

งงเอาไงแน่! ผู้ค้าไม่รับแบงก์พัน ผิดกฎหมายหรือไม่?

แบงค์ปลอม

ธนบัตร

          งง! ตำรวจเอาไงแน่ผู้ค้า"ไม่รับ" แบงก์ปลอม "จงรัก-อำนวย" พูดกันคนละทิศ ผบช.ภ.3 เร่งทลายแหล่งปั๊ม

          นายกฯ ขึงขังไล่จับ "แบงก์ปลอม" "จงรัก" ยันไม่จับแม่ค้าปฏิเสธรับธนบัตร สวนทาง "อำนวย"ยันปิดป้ายไม่รับแบงก์ ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค คุก 3 เดือน ปรับ 3 หมื่น ด้านผบช.ภ.3 จี้ทลายแหล่งผลิตอีสาน - จังหวัดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ธนาคารแห่งประเทศไทยย้ำประชาชนต้องตั้งสติ ยันตรวจสอบความแตกต่างไม่ยาก

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เร่งเครื่องรัฐบาลดำเนินการกับกรณีธนบัตรปลอมระบาด โดยให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมว่า อยากให้ไปถามรายละเอียดที่นายกรณ์ จาติกวณิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ในส่วนของรัฐบาลนั้น จะดำเนินการเรื่องการละเมิดกฎหมายทั้งหมดอยู่แล้วโดยเร็ว หากปล่อยไว้อาจจะมีผลกระทบถึงการจับจ่ายใช้สอย 

          ขณะที่นายกรณ์ กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของธนบัตรปลอม เพราะอาจส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งกลัวจนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย และอาจทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางเศรษฐกิจได้ ตนจะหาโอกาสหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้

          นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประชาชนต้องมั่นใจและตั้งสติว่า ธนบัตรไหนปลอม ธนบัตรไหนจริง เพราะธนบัตรปลอมตรวจสอบได้ง่าย โดยบนธนบัตรจริงจะมีคำว่า "รัฐบาลไทย" ซึ่งพิมพ์ด้วยหมึกอัดความเร็วสูง ทำให้เกิด "รอยนูน" แต่หากเป็นธนบัตรปลอมจะใช้การถ่ายสำเนา จึงไม่มีรอยนูน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามอธิบายความรู้กับประชาชนให้เข้าใจมากขึ้น

          "ทุกวันนี้ความมั่นใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้ามัวแต่กลัวก็ไม่ได้ไปไล่จับ ธนบัตรปลอมจะเข้าระบบและระบาดไปเรื่อยๆ ทำให้คนปลอมได้ใจ  แต่หากรู้วิธีดูและช่วยกันกระจายข่าวสาร อย่าให้มิจฉาชีพได้ใจ เพราะหากไม่รู้ก็จะกลับมาเวียนในระบบ ซึ่งที่จริงธนบัตรปลอมมีไม่มาก และธปท.ใช้เทคนิคการผลิตธนบัตรขั้นสูง ทำอย่างไรก็ปลอมไม่เหมือน เพียงแต่ต้องช่วยกัน" นางธาริษา กล่าว

          ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวว่า ธนบัตรปลอมแพร่ระบาดจากภาคเหนือและอีสาน ส่งตำรวจไปตรวจสอบหาแหล่งผลิตแล้ว ส่วนกรณีพ่อค้าแม่ค้าไม่รับธนบัตรใบละ 1,000 บาท เพราะเกรงเป็นธนบัตรปลอมนั้น  ตำรวจไม่สามารจับกุมได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายเอาผิด ตำรวจต้องดูเจตนา ก็คงว่าอะไรไม่ได้ต้องดูเจตนาเป็นหลัก สิ่งที่เป็นห่วงคือการนำธนบัตรปลอมมาจ่ายค่าทางด่วน ซึ่งจะได้รับเงินทอนจำนวนมากและมีเวลาน้อยในการตรวจสอบ

          "สำหรับประชาชนที่ได้รับธนบัตรปลอมมาแล้วนำไปใช้อีกต่อหนึ่งแล้วถูกแจ้งจับ ก็ไม่ใช่ว่าจะติดคุกในทันที เพราะสามารถพิสูจน์ว่าได้รับมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตำรวจจะดำเนินคดีเฉพาะผู้ผลิต และผู้ที่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอมเท่านั้น ซึ่งพบว่าจะถูกนำมาขายใบละ 400 บาท" พล.ต.อ.จงรัก กล่าว

          ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. กล่าวถึงกรณีร้านค้าขึ้นป้ายไม่รับชำระธนบัตรว่ามีความผิด ทั้งแพ่งและอาญา ในทางแพ่งชัดเจนว่า ถ้าไม่ยอมรับชำระหนี้ ฝ่ายที่เป็นหนี้ต้องไปฟ้องให้ชำระหนี้ได้ ส่วนกฎหมายอาญา เริ่มที่พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 15 บัญญัติว่า ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวน แต่ไม่ระบุโทษไว้ หลายคนก็กลับมาโทษตนบอกว่าผิดกฎหมายแล้วโทษอยู่ที่ไหน ตนจึงประสานส่วนตัวกับนิติกรธนาคารแห่งประเทศไทย ชัดเจนว่าต้องผนวกกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 22 อนุ 3 บัญญัติว่าการโฆษณาต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยอนุ 3 ระบุว่า ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย มีโทษตามมาตรา 48 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

          "ถ้าพบว่าร้านค้าโฆษณาปิดป้ายไม่รับชำระด้วยธนบัตรใบละ 1,000 บาท เป็นการโฆษณาที่สนับสนุนให้กระทำผิดโดยตรง เพราะกฎหมายบัญญัติว่าธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย" รองผบช.น. กล่าวและว่า กรณีเบี่ยงเบนว่าไม่มีเงินทอน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีเงินทอน มีการไปแจ้งความ ตำรวจเข้าไปค้นมีเงินทอนแล้วไม่รับชำระ แปลว่าตั้งใจไม่รับ กรณีนี้ไม่ได้ขึ้นป้ายโฆษณา แต่ไม่ยอมรับชำระด้วยธนบัตรใบละ 1,000 บาทนั้น เป็นช่องว่างเล็กๆ อยู่ ถ้าจะปิดช่องว่างตรงนี้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคต้องเร่งออกประกาศ ห้ามร้านค้าที่ไม่รับชำระหนี้ด้วยธนบัตรฉบับละ 1,000 ซึ่งประกาศจะมีผลเท่ากับเป็นกฎหมาย มีบทบังคับและบทลงโทษ

          ที่ห้องประชุมสารสิน สำนักงานตำรวจภูธรภาค 3 จ.นครราชสีมา พล.ต.ท.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค3 (ผบช.ภ.3) เรียกประชุมผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรใน 8 จังหวัดภาคอีสาน กว่า 200 นาย เพื่อสั่งการให้เฝ้าระวังและติดตามหาข่าวแหล่งผลิตธนบัตรปลอม โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังสั่งการให้ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 3 ที่สามารถจับกุมแก๊งค้าธนบัตรปลอมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา เร่งขยายผลเพื่อเข้าทำลายแหล่งผลิต รวมถึงเครือข่ายต่างๆ ที่อาจยังคงมีหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้อาจมีการแพร่ระบาดของธนบัตรปลอมเพิ่มมากขึ้น

          พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์  ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (ผบช.ภ.2) กล่าวว่า แจ้งสถานีตำรวจทุกแห่งให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ผู้ประกอบการให้รับทราบสถานการณ์ และตรวจสอบธนบัตรชนิดต่างๆ โดยอาจใช้สถานีวิทยุชุมชนเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งให้จัดพิมพ์ข้อมูลวิธีการตรวจสอบธนบัตร ติดประกาศตามสถานที่ต่างๆ เช่น ศูนย์การค้า ตลาด ชุมชน กรณีพบผู้กระทำผิด ให้ดำเนินคดีโดยเฉียบขาดทุกราย




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
งงเอาไงแน่! ผู้ค้าไม่รับแบงก์พัน ผิดกฎหมายหรือไม่? อัปเดตล่าสุด 24 ธันวาคม 2551 เวลา 14:19:52 35,584 อ่าน
TOP