x close

ผบ.สส. ตอบโต้ ทารุณโรฮิงญา

พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ. ทหารสูงสุด

โรฮิงญา พม่า


         ผบ.ทหารสูงสุด ย้ำชัดกองทัพไม่เคยทำทารุณกับผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองมุสลิม ชาวพม่า หรือโรฮิงญา เพราะมีขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎกติกาบนพื้นฐานมนุษยธรรมอยู่แล้ว ตั้งข้อสังเกตทำไมมีแต่ชายฉกรรจ์ ไม่มีผู้หญิง เด็ก และคนชรา อยากให้สื่อวิเคราะห์ดูว่า คนกลุ่มนี้เข้าเมืองไทยเพื่อเป้าหมายอะไร ขณะที่โฆษก กอ.รมน.เผยกลุ่มมุสลิมชาวพม่าไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายภาคใต้ เป็นเพียงเข้ามาหางานทำเท่านั้น โดยจะเชิญสื่อต่างประเทศมาทำความเข้าใจ ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างชาติยังคงโจมตีไทยอย่างต่อเนื่อง

         หลังจากที่สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ข่าวกรณีทหารเรือไทยกระทำการทารุณกับผู้อพยพชาวมุสลิม พม่า หรือโรฮิงญา ภายหลังจากที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และถูกจับกุมได้ที่เกาะทรายแดง  จังหวัดระนอง  จนเป็นข่าวไปทั่วโลกนั้น

         เมื่อวันที่ 18 มกราคม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ. ทหารสูงสุด กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กองทัพไทยดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนการปฏิบัติก็มีขั้นตอนการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่พยายามหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และด้านอื่นๆ เช่น อาชญากรข้ามชาติ ในกรณีผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เรามีมาตรการแนวทางในการปฏิบัตินโยบายบนพื้นฐานของมนุษยธรรม

         ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวอีกว่า ตนดูข่าวในซีเอ็นเอ็น ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า  ผู้ที่พยายามหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย มีแต่คนหนุ่มๆ ไม่มีผู้หญิง เด็ก และคนแก่ อยากให้สื่อมวลชนลองวิเคราะห์ดูว่า คนพวกนี้เข้ามาเพื่อจุดประสงค์ใด ทำไมจึงพยายามเข้ามาประเทศไทย มีขบวนการนำพามาหรือไม่

         พล.อ.ทรงกิตติ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยอมรับให้คนกลุ่มนี้เข้ามาไม่ได้ ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายคือ การส่งกลับออกไป ซึ่งทำตามกฎกติกาอยู่แล้ว ขอยืนยันว่า กองทัพไทยไม่เคยปฏิบัติการอันไร้มนุษยธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติว่า กองทัพไทยปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพได้อย่างดีเยี่ยม  ดังนั้น ยืนยันได้ว่า ไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอน

         ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวนี้จำเป็นต้องชี้แจงให้สังคมโลกได้รับทราบหรือไม่ พล.อ.ทรงกิตติกล่าวว่า สังคมโลกต้องคิดเองได้ มิเช่นนั้นกองทัพไทยจะยืนอยู่ที่ไหนในโลกนี้ไม่ได้ เมื่อถามว่า จะเชื่อมโยงกับการก่อเหตุ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวว่า เราไม่ต้องการให้ใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังได้รับการดูแลให้มีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ผู้สื่อข่าวถามว่า  เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะเป็นการโจมตีประเทศไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อต้องการให้ต่างชาติเข้ามาดูแล  พล.อ.ทรงกิตติกล่าวว่า คนไทยทราบอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร

         ด้าน พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กล่าวว่า เรื่องนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสธ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน.มีความเป็นห่วงมาก เพราะเป็นหน้าที่หลักของ กอ.รมน. ซึ่งการดำเนินการต้องทำตามกรอบ และมาตรการการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ส่วนที่นักท่องเที่ยวเห็นว่า กลุ่มโรฮิงญาที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวด้วยวิธีนอนคว่ำกับพื้นดินนั้น เนื่องจากผู้อพยพมีกว่า 200 คน ส่วนเจ้าหน้าที่มีเพียงกว่า 10 คน จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของการตรวจค้น  เพราะเจ้าหน้าที่กังวลเรื่องความปลอดภัย หากกลุ่มผู้อพยพลุกฮือขึ้นมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ก็จะยากต่อการควบคุม เรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะต้องเชิญสื่อต่างประเทศ มาชี้แจงให้เกิดความเข้าใจถึงขั้นตอนการปฏิบัติ เพราะเราไม่มุ่งหวังให้เกิดความรุนแรงเหมือนภาพที่เผยแพร่ออกไป

         เมื่อถามว่า กลุ่มผู้อพยพมีความพยายามจะเข้าไปร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ พ.อ. ธนาธิปกล่าวว่า จากการตรวจสอบด้านการข่าวกลุ่มมุสลิม ชาวพม่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบในภาคใต้  แต่เป็นกลุ่มที่เข้ามาหางานทำ

         ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน โดยอ้างการเปิดเผยของนายเอส.พี.ชาร์มา ผู้บัญชาการหน่วยยามชายฝั่งของอินเดียว่า ได้ช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือจากพม่า และบังกลาเทศ ซึ่งอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุม และปล่อยลอยแพเผชิญชะตากรรมกลางทะเลได้แล้ว 446 คน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคมปีที่แล้ว ผู้รอดชีวิตเล่าให้ฟังว่า พวกตนเป็นชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่บริเวณชายแดนพม่า-บังกลาเทศ ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมก่อนลอยแพเมื่อวันที่ 17 หรือ 18 ธันวาคม 2551 บนเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ ได้รับเพียงข้าวต้ม 2 ถุง กับน้ำ 2 แกลลอนเท่านั้น และยังมีผู้สูญหายอีกหลายร้อยคน ล่าสุดที่เพิ่งถูกช่วยเหลือเมื่อวันที่ 17 มกราคมนี้ มีจำนวน 152 คน

         ผู้อพยพที่รอดชีวิตรายหนึ่งกล่าวว่า นายหน้าจัดหางานบางคนในบังกลาเทศให้สัญญากับพวกตนว่า จะมีงานทำในประเทศไทยและอินโดนีเซีย แต่หลังจากล่องเรือไปได้ไม่นานก็ถูกจับโดยทหารเรือไทย จากนั้นถูกนำตัวไปยังเกาะแห่งหนึ่งนอกชายฝั่งไทย และถูกทุบตีก่อนถูกบังคับให้ลงเรือผลักดันให้ออกสู่ทะเลลึก

         กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มยังคงโจมตีการกระทำของเจ้าหน้าที่ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนายเดวิด แมทธีสัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่าแห่งกลุ่ม "ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์" ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง จำเป็นที่สหประชาชาติ และรัฐบาลไทยต้องเข้ามาสอบสวน

         ส่วนนายเบนจามิน ซาแว็คคี นักวิจัยแห่งองค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) กล่าวว่า ถ้ารายงานดังกล่าวเป็นความจริง กองทัพไทยจะพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่าด้วยเรื่องอาหาร  การขอที่พักพิง  และสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์อย่างรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องมีการสอบสวนโดยทันทีและอย่างถี่ถ้วน

         สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอีกว่า ถ้อยแถลงของหน่วยยามชายฝั่งอินเดียที่ว่าอาจมีผู้อพยพทางเรือชาวโรฮิงญาสูญหายในทะเลอีกหลายร้อยคน สอดคล้องกับตัวเลขของหนังสือพิมพ์ "ซันเดย์ มอร์นิ่ง โพสต์" ของฮ่องกง ที่ระบุว่า มีผู้สูญหายหรือเสียชีวิตในทะเลถึง 538 คน แม้ว่ากองทัพไทยจะปฏิเสธรายงานเรื่องการลอยแพผู้อพยพ แต่จากหลักฐานทางภาพถ่ายและปากคำของนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่มาเที่ยวตามเกาะต่างๆ ของไทยล้วนสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าเป็นความจริง ส่วนกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียได้แถลงยืนยันเมื่อวันที่ 18 มกราคมว่า ชาวต่างชาติเกือบ 200 คน ถูกช่วยชีวิตขึ้นมาจากทะเลนอกชายฝั่งตอนเหนือเกาะสุมาตราเมื่อต้นเดือนนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา

         นายเดวิด แมทธีสัน แห่งกลุ่มฮิวแมน ไรท์ส วอทซ์ กล่าวอีกครั้งว่า ในช่วงปีหลังๆ ทางการไทยมีท่าทีที่เข้มงวดกับผู้อพยพชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ล่องเรือมาขึ้นฝั่งไทยมากขึ้น เพราะไม่ต้องการให้อพยพเข้าสู่ไทยมากไปกว่านี้ นอกจากนี้ยังหวั่นว่าชาวโรฮิงญาบางกลุ่มอาจเป็นทหารรับจ้างที่พยายามลักลอบเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

         ส่วนนางคิตตี้ แม็คคินซีย์ โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ติดต่อกับรัฐบาลไทย เรียกร้องให้ใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าชีวิตของชาวโรฮิงญาไม่ตกอยู่ในอันตราย แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จากรัฐบาลไทย หากข้อกล่าวหานี้เป็นจริงถือว่าประเทศไทยละเมิดอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผบ.สส. ตอบโต้ ทารุณโรฮิงญา อัปเดตล่าสุด 20 มกราคม 2552 เวลา 11:58:37 18,049 อ่าน
TOP