x close

แฉเรียงคิว ยาลดความอ้วน แสนอันตราย!!



แฉเรียงคิว "ยาลดอ้วน" แสนอันตราย ผลข้างเคียงสูงปรี๊ดต่อ "สมอง-หัวใจ-หลอดเลือด-ไต" (มติชนออนไลน์)

          แจงรายละเอียด "ยาลดความอ้วน" แต่ละประเภท แยกกันทำหลายหน้าที่เพื่อให้ "ดูผอม" ผลข้างเคียงสูงมากต่ออวัยวะสำคัญของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น "สมอง-หัวใจ-หลอดเลือด-ไต"

          ความอ้วนถูกบีบให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ "สิ่งน่ารังเกียจ" คนอ้วนมักถูกล้อเลียนและเหยียดหยามมากกว่าคนผอม หรือแม้แต่ในวงการแพทย์ ความอ้วนก็กลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจเพราะส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่แม้ความอ้วนจะเป็นเรื่องน่าห่วงใย เรากลับมีการส่งเสริมปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความอ้วนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อาหารที่มีไขมันสูง น้ำอัดลม อาหารแปรรูป หรือขนมกินเล่น ที่ล้วนแต่ให้พลังงานสูง คนที่เข้าข่ายเป็น "โรคอ้วน" จึงมีโอกาสเกิดโรคร้ายหลายชนิดมากกว่าคนอื่น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้อเข่าเสื่อม หัวใจขาดเลือด เป็นต้น

          แต่คนที่ยังไม่ทันจะอ้วน หลายคนกลับชอบคิดว่าตัวเองอ้วนเกินไป จนต้องยอมเสี่ยงภัยจาก "ยาลดความอ้วน" แม้ว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือเสียเงินมากเท่าไหร่ก็ยอม กรณีนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า หลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องความอ้วนไม่ดีพอ เพราะตามความจริงแล้ว ยาลดความอ้วนไม่ได้ช่วยสลายความอ้วนในร่างกายเราเลย แต่ได้ช่วยในด้านอื่นๆ เช่น การระงับความหิว เพิ่มการเผาผลาญร่างกาย ลดไขมัน ระบายน้ำ

ประเภทของยาลดความอ้วน

          1.
ยาควบคุมความหิว ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมความหิวในสมอง ทำให้ไม่รู้สึกอยากทานอาหารและอิ่มเร็ว แต่เนื่องจากยาประเภทนี้ออกฤทธิ์ต่อสมองโดยตรง ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนค่อนข้างมาก เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หงุดหงิด ใจสั่น ปากแห้ง

          2. ยาเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย เป็นการนำยาในกลุ่ม "ไทรอยด์ฮอร์โมน" ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคไทรอยด์มาใช้ เพราะยากลุ่มนี้สามารถเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน น้ำหนักจึงลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม น้ำหนักที่ลดลงเป็นน้ำหนักที่เกิดจากมวลรวมของร่างกาย แทนที่จะเป็นไขมัน ดังนั้น ยานี้จึงส่งผลข้างเคียงสูงมาก แถมยังเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

          3. ยาระบายและยาขับปัสสาวะ เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากทำให้เห็นผลเร็วและน้ำหนักลดลงมาก แต่ความจริงแล้วถือเป็นภาพลวงตา เพราะสิ่งที่ลดลงไม่ใช่ไขมัน แต่เป็นน้ำภายในร่างกาย การใช้ยาประเภทนี้จะส่งผลข้างเคียง เช่น ทำให้ขาดเกลือแร่ที่สำคัญ และอาจทำให้ไตมีปัญหาได้

          4. ยาที่ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นพวกใยอาหาร (ไฟเบอร์) เช่น บุก แมงลัก ซึ่งมักทำให้เกิดอาการท้องอืด

          5. ยาลดการดูดซึมไขมัน ทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของน้ำย่อย ที่มีหน้าที่ย่อยสลายไขมัน เมื่อไขมันไม่ถูกย่อยก็จะไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย และในที่สุดจะถูกขับถ่ายออกไป อย่างไรก็ตาม ยาประเภทนี้มีผลข้างเคียงทำให้ มีลมในลำไส้มาก ท้องอืด ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำมัน ผายลมมีน้ำมันปนออกมา อุจจาระบ่อย หรือกลั้นอุจจาระไม่อยู่ เป็นต้น

          6. อาหารเสริมที่อ้างว่าสามารถช่วยลดน้ำหนัก เช่น ไคโตซาน ส้มแขก 

          7. วิตามิน มันถูกจ่ายควบคู่มาด้วย เนื่องจากผลข้างเคียงของยาต่างๆ ข้างต้นทำให้ไม่รู้สึกหิว กินอาหารไม่เพียงพอ หรือระบายน้ำออกจากร่างกายมากไป ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่และวิตามัน 

          ส่วนยากลุ่มที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ยาในกลุ่มออกฤทธิ์ระงับความหิว โดยที่นิยมมากคือ "เฟนเตอมีน" (Phentermine) หรือยาในกลุ่มเดียวกัน จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 และต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ยาประเภทนี้ถูกควบคุมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างเข้มงวด เนื่องจากส่งผลข้างเคียงสูง 

          อย.อนุญาตให้ขาย "เฟนเตอมีน" แก่แพทย์ได้ไม่เกิน 5,000 เม็ดต่อเดือน เพื่อป้องกันการจ่ายยาพร่ำเพรื่อ นอกจากนี้ แพทย์ยังต้องรายงานการใช้การนี้ทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ยังไม่มีการยืนยันว่า แพทย์ผู้ได้รับอนุญาตจะมีการดูแลและควบคุมการใช้ยาประเภทนี้ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดหรือไม่



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
ที่มา นิตยสาร "ฉลาดซื้อ" ฉบับที่ 95
เขียนโดย กองบรรณาธิการฉลาดซื้อ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แฉเรียงคิว ยาลดความอ้วน แสนอันตราย!! อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 13:59:01 45,756 อ่าน
TOP