x close

สลด! แรงงานไทยวิกฤติหนัก

แรงงาน


สลด! แรงงานไทยวิกฤติหนัก (ไทยรัฐ)

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานของไทยล่าสุด เดือนมกราคมพบว่า เศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว เริ่มส่งผลชัดเจนต่อแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างชัดเจน โดยล่าสุดพบว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ มีทั้งสิ้น 11,186 คน ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน 26.2% ขณะเดียวกัน รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยในต่างประเทศ เดือนมกราคม ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.4% โดยมีเงินส่งกลับทั้งสิ้น 4,637 ล้านบาท และลดลงจากเดือน ธันวาคม 51 จำนวน 571 ล้านบาท  

          ส่วนสถานการณ์แรงงานในประเทศเดือนมกราคม มีคนว่างงานและผู้จบใหม่แห่กันมาสมัครงานใหม่เพิ่มขึ้นมาก โดยมีผู้สมัครงานใหม่ 62,252 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 73.2% แต่หากพิจารณายอดคงค้างตำแหน่งงานว่างที่มีอยู่ขณะนี้มีเพียง 25,588 ตำแหน่ง ลดลงจากช่วงปีก่อน 27.8% โดยมีการบรรจุงานใหม่เดือน มกราคม 13,562 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 0.6% และจากการติดตามสถานการณ์แรงงานของ ธปท.พบว่า การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องกัน นับถึงเดือนมกราคมนี้ เป็นเดือนที่ 9 และการจ้างงานในภาคบริการเริ่มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับการใช้กำลังการผลิต และดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงมากในเดือนมกราคม และในช่วงต่อไปยังพบว่ามีสัญญาณการอ่อนตัวของการจ้างงานต่อเนื่อง 

          ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้างนั้น ล่าสุดสิ้นสุดปี 51 มีสถานประกอบการที่เลิกจ้างพนักงานทั้งสิ้น 21,063 แห่ง มีพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 211,572 คน ขณะที่ผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษามีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1.6% ของผู้มีงานทำทั้งหมด 37.98 ล้านคน ในเดือน พ.ย.51 เพิ่มเป็น 2.2% เดือน ธ.ค.51  

          ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำกรอบวงเงินงบประมาณปี 53 ที่จะยื่นขอจัดสรรงบทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบปกติ 6,000 ล้านบาทและงบพิเศษ 12,000 ล้านบาท โดยงบพิเศษจะนำมาใช้จ่ายในโครงการดูแลภาคอุตสาหกรรม เพื่อชะลอการปลดแรงงานช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นจำนวนคนตกงานจะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง เพราะการขอรับการจัดสรรงบ ประมาณพิเศษกลางปี 52 ที่ขอไป 16,000 ล้านบาท แต่ได้กลับมาเพียง 500 ล้านบาท ซึ่งหากปี 53 ได้รับจัดสรรงบน้อยเหมือนที่ผ่านมา คงไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมได้ 

          "ภายใต้กรอบวงเงินงบปี 53 ได้กำหนดโครงการเสร็จแล้ว โดยงบพิเศษเพิ่มเติมเน้นดูแลเพื่อชะลอการเลิกจ้างงานภาคอุตสาหกรรมหลักๆที่เป็นปัญหา เช่น ยานยนต์, ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์และอาหาร" นายชาญชัย กล่าว  

          นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 52 ว่า ปรับตัวลดลงทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมลดจาก 68.3 ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ 67.2, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานลดลงจาก 67.7 เหลือ 66.5, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้อนาคตลดจาก 89.7 เหลือ 88.5 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ ลดจาก 75.2 เหลือ 74.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบันลดจาก 65.4 เหลือ 64.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตจาก 77.0 เหลือ 75.8 ส่วนผลการสำรวจภาวะการใช้จ่ายของประชาชนเดือนกุมภาพันธ์ระบุว่า การซื้อรถยนต์, บ้าน การท่องเที่ยว การลงทุนทำธุรกิจ ไม่ใช่ช่วงที่เหมาะสมและปรับตัวลงทุกรายการ ขณะที่ผลการสำรวจภาวะทางสังคม ดัชนีความสุขในการดำเนินชีวิตลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน  

          "ที่น่าห่วงคือ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ลดต่ำสุดรอบ 85 เดือน นับจากปี 45 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบันลดต่ำสุดรอบ 80 เดือน เพราะความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและโลกที่แย่หนักกว่าที่คาดไว้ ทำให้การส่งออกติดลบและมีผลต่อความวิตกการเลิกจ้างงาน ประกอบกับค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังทรงตัวสูงต่อเนื่อง ทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมลดลง" นางเสาวณีย์ กล่าว  

          ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแค่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ เพราะสภาพเศรษฐกิจหนักกว่าที่คาดไว้มาก ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกสอง เพื่อปลุกเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน

          "ผลสำรวจเดือนนี้สะท้อนสัญญาณอันตรายต่อความเชื่อมั่นมาก เพราะความเชื่อมั่นอนาคตถดถอยมากกว่าความเชื่อมั่นปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และส่งผลให้แนวโน้มความเชื่อมั่นลดต่อเนื่องไปตลอดไตรมาส 2 และ 3 ส่วนการขยายตัวเศรษฐกิจ ประเมินว่าไตรมาสแรกจีดีพีจะติดลบเพิ่มจาก-5% กลายเป็น-8% และไตรมาส 2 อยู่ที่-4 ถึง-5% ทำให้เศรษฐกิจทั้งปีลบเกินคาดจาก-1 ถึง-2.8% อาจขยับเป็น-3 ถึง-4%" นายธนวรรธน์ กล่าว


 
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สลด! แรงงานไทยวิกฤติหนัก อัปเดตล่าสุด 13 มีนาคม 2552 เวลา 14:51:09 24,740 อ่าน
TOP