x close

โรคมะเร็งผิวหนัง...คุณเสี่ยงแค่ไหน?


โรคมะเร็งผิวหนัง...คุณเสี่ยงแค่ไหน? (ลิซ่า)

          การโดนแดดมากๆ ผิวไหม้แดดบ่อยตั้งแต่เด็ก ไฝเปลี่ยนไปภาวะโลกร้อน ยาสมุนไพรที่มีสารหนู พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นปัจจัยให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ทั้งนั้น

          ดาราสาว นิโคล คิดแมน เคยเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด Melamoma ที่ขา แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็จำเป็นต้องเอาออกเพื่อไม่ให้ลุกลามต่อไป ทั้งนี้ โรคมะเร็งผิวหนังมักพบในชาวตะวันตกที่มีผิวขาว แต่ก็พบได้ในคนไทยและพบในคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น พญ.ประภาวรรณ เชาวะวณิช แพทย์ผู้ชำนาญการพิเศษ สถาบันโรคผิวหนัง จึงได้ตอบข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ

Q : โรคมะเร็งผิวหนังเกิดขึ้นได้อย่างไร

          A : เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม อาหารและยา รวมทั้งแสงแดดด้วยในเรื่องพันธุกรรมนั้นก็คือ ปกติเมื่อผิวโดนแสงแดดผิวหนังก็จะมีการซ่อมแซมนี้เสียไป ก็จะมีความเสี่ยงกับมะเร็งผิวหนังมากกว่าปกติ

Q : ยาเกี่ยวข้องกับมะเร็งผิวหนังอย่างไร

          A : คือสมัยก่อนมีการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคสะเก็ดเงินซึ่งมีสารหนูปนเปื้อน เมื่อคนใช้กินไปนานๆ ก็จะปรากฏที่ผิวหนังแล้วก็กลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้เพราะจากการชักประวัติคนไข้มักพบว่าคนไข้เคยกินยาสมุนไพร ยาหม้อ หรือยาต้มมาก่อน

Q : คนไทยมักเป็นมะเร็งผิวหนังในช่วงวัยใด

          A : เมื่อก่อนมักพบในคนไข้ที่มีอายุมาก แต่ปัจจุบันพบคนไข้โรคมะเร็งผิวหนังอายุน้อยลง คืออายุประมาณ 30 กว่าปี และยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร แต่ก็พบประวัติว่าเคยโดนแสงแดดมามากทั้งๆ ที่เป็นคนมีผิวค่อนข้างคล้ำ จึงเป็นข้อเตือนใจว่าคนผิวคล้ำก็เป็นมะเร็งผิวหนังได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนผิวขาวเท่านั้น ส่วนคนทั่วไปเมื่อมีอายุมากขึ้น กลไกร่างกายจะไม่ดีเหมือนคนวัยหนุ่มวัยสาว คนวัยชราจึงมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังได้มากกว่าคนอายุน้อย คือไม่จำเป็นต้องโดนแสงแดดมากเท่านั้น

Q : นอกจากผู้สูงอายุแล้ ยังมีบุคคลประเภทใดที่เสี่ยงกับมะเร็งผิวหนังได้อีก

          A : ส่วนใหญ่มักเป็นคนผิวขาวอย่างขาวตะวันตกผู้ที่มีผิวไหม้แดดบ่อยเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือผู้ที่มีไฝจำนวนมาก คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง หรือในกรณีที่ไฝเปลี่ยนไป ทั้งสี ขนาด หรือมีเลือดออกและรักษาไม่หาย ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง

Q : แล้วคนไทยควรป้องกันมะเร็งผิวหนังอย่างไรดี

          A : ต้องพยายามหลบแดดในช่วงที่รังสียูวีแรง คือช่วงเวลา 10.00-15.00 น. โดยเฉพาะในเมืองไทยแสงแดดจะแรงตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเย็น จึงควรหลบแดด เช่นใส่เสื้อแขนยาว กางร่ม เพราะถึงแม้จะทาครีมกันแดดก็ยังต้องป้องกันตัวเองจากรังสียูวีอีกชั้นหนึ่ง โชคดีที่คนไทยไม่นิยมอาบแดดก็จะมีความปลอดภัยกว่าในขณะที่ผิวของฝรั่งมีเม็ดสีเมลานินน้อยกว่าคนไทยคือเม็ดสีเมลานินจะช่วยกรองแสงยูวีระดับหนึ่ง เมื่อฝรั่งมีเม็ดสีเมลานินน้อยกว่าแล้วชอบอาบแดด ก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงกับการเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น

Q : ลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง

           A : มะเร็งผิวหนังหลักๆ ที่พบคือ Basal Cell Carcinoma และ Squamous Cell Carcinoma เมื่อชักประวัติคนไข้บางรายก็จะพบว่าเป็นตุ่มเหมือนเม็ดสิวนานหลายปี แล้วก็ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma จะเป็นแบบช้าๆ ไม่ค่อยอันตรายมาก แต่ถ้าทิ้งไว้นานก็จะทำให้เป็นมากขึ้นหรืออีกชนิดหนึ่งคือไฝกลายเป็นมะเร็ง โดยสังเกตจากไฝที่โตเร็ว สีไฝเปลี่ยนไป เจ็บ หรือมีเลือดออกต้องสงสัยไว้ก่อนและควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจดู คือถ้าเป็นตุ่มที่ผิดปกติ เป็นนานและขยายใหญ่ขึ้น ไม่หาย ไม่ว่าจะเป็นตุ่มที่มีสีหรือไม่ก็ตาม ให้สงสัยไว้ก่อน เพราะมะเร็งบางชนิดเป็น Melanoma ที่ไม่มีสีก็มี มะเร็งผิวหนังชนิด Squamous Cell Carcinoma และ Basal Cell Carcinoma ที่พบส่วนใหญ่มักพบนอกร่มผ้า บริเวณที่โดนแดดแต่ก็พบในร่มผ้าได้โดยเฉพาะคนที่เคยได้รับสารหนู

Q : การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดป้องกันมะเร็งผิวหนังได้มากน้อยแค่ไหน

          A : ครีมกันแดดไม่อาจป้องกันมะเร็งผิวหนังได้รอยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งโดยที่เราควรต้องหลบแดดในช่วงที่แดดร้อนแรง นอกจากโรคมะเร็งผิวหนังแล้ว แสงแดดแรงๆ ยังทำให้เป็นฝ้า กระรอยด่างดำ จึงควรทาครีมกันแดดและหลบแดดด้วย

Q : มีวิธีรักษามะเร็งผิวหนังอย่าง

          A : มีวิธีรักษาหลายวิธีซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและระยะที่เป็น คือถ้าเป็นมะเร็งผิวหนังส่วนบนอาจจะพ่นไอเย็น (Cryotherapy) หรือตัดรอยโรคทิ้ง หรือถ้าบางคนเป็นในตำแหน่งที่อันตรายหรือเป็นแบบลึกก็จะมีวิธีพิเศษที่เรียกว่า Mohs Surgery

Q : มะเร็งผิวหนังจะลุกลามและเป็นอันตราย

          A : ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง คือถ้าเป็นชนิด Basal Cell Carcinoma ก็จะใช้วิธีรักษาแบบ Mohs Surgery ได้ผลดี 99% ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาด ชนิด และตำแหน่งคือแค่ตัดออกเท่านั้น แต่ถ้าเป็น Melanoma แบบไฝดำหรือ Squamous Cell Carcinoma จะค่อนข้างอันตรายคือมีการดำเนินโรคเร็ว แพร่กราจายเร็วไปยังอวัยวะภายในได้ จึงต้องตัดออกและตรวจคัดกรองขั้นต่อไป

Q : การมีไฝบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น บริเวณขอบเสื้อใน ขอบกางเกง ควรเอาออกดีมั้ย

          A : เอาออกก็ดี คือไฝบางชนิดควรตัดออกเพราะมันมีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ แต่ถ้าเป็นไฝเม็ดเล็กเม็ดน้อยก็ไม่ค่อยมีความเสี่ยง ไฝที่มีความเสี่ยงสูงก็คือไฝที่มีลักษณะแบบปานดำตั้งแต่เกิดและมีขน

Q : ภาวะโลกร้อนมีผลทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้นมั้ย

          A : อาจมีผลในแง่ที่ว่า แสงยูวีจะลงมาบนพื้นโลกมากขึ้น เพราะชั้นบรรยากาศบางลง ถ้าเรารับแสงยูวีมากขึ้น ก็จะมีความเสี่ยงกับการเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้นด้วย

Q : แล้วสารเคมีทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้มั้ย

          A : เป็นได้โดยเฉพาะสารหนู

Tips

          วิธีสังเกตไฝ 

          หากไฝเปลี่ยนไป เป็นสัญญาณอันตราย คุณควรตรวจไฝที่ผิวหนังเป็นประจำสม่ำเสมอ รวมทั้งไฝที่เท้าและนิ้วเท้าด้วย

          หากเป็นไฝต้องมีสีเดียว หากมีสีน้ำตาลปนดำหรือสีแดงให้สงสัยไว้ก่อน 

          ไฝต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน 

          หากไฝมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 5 มม. หรือโตขึ้นเรื่อยๆ ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง 

          อาหารปกป้องผิวหนัง 

          ผักช่วยป้องกันผิวจากอันตรายของแสงแดดได้ส่วนหนึ่ง เช่น...

          มะเขือเทศ มีสารไลโคปืนในการต่อสู้กับรังสีอัลตร้าไวโอเลตและปกป้องผิวได้บ้าง ควรหุงต้มมะเขือเทศหรือกินซอสมะเขือเทศ และรับประทานร่วมกับไขมันก็จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมไลปืนได้ดียิ่งขึ้น 

          แครอต มีเบต้าแคโรทีนซึ่งจะช่วยป้องกันรังสียูวี และมีกรดโฟลิกที่จะช่วยสร้างเซลล์ผิวข้อแนะน้ำก็คือ ควรนึ่งแครอตและและเหยาะน้ำมันเล็กน้อยเพื่อช่วยในการดูดซึม

ข้อแนะนำจาก พญ.ประภาวรรณ เชาวะณิช

          ครีมกันแดดปกป้องผิวได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องหลบแดดด้วย ถ้ามีอาการผิดปกติก็ต้องรีบไปพบแพทย์ คือถ้าพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก็จะง่ายต่อการรักษาเพราะคนไข้บางคนจะอาย ไม่ยอมมาตรวจหรือบางคนไม่แน่ใจ คิดว่าเป็นเม็ดสิว เป็นมานาน โตช้า จึงไม่สนใจควรต้องหมั่นมาตรวจเพราะพบมะเร็งผิวหนังมากขึ้นและพบในคนอายุน้อยลง ส่วนเรื่องสมุนไพรก็ควรเลือกที่มีมาตรฐานรับรอง ไม่ซื้อยาหม้อหรือยาต้มกินเองเพราะเราไม่รู้ว่ามีสายหนูหรือไม่

images คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
นิตยสาร Lisa ฉบับวันพุธที่ 1 เมษายน 2552

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคมะเร็งผิวหนัง...คุณเสี่ยงแค่ไหน? อัปเดตล่าสุด 25 มิถุนายน 2552 เวลา 17:07:22 7,620 อ่าน
TOP