เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทีวีบูรพา และ อ.ส.ม.ท.
ในโลกแห่งความเป็นจริง มักมีความฝันซ้อนทับอยู่ด้วยเสมอ จะมีสักกี่คนที่นำเอาความฝันมาเดินควบคู่ไปกับความเป็นจริงได้อย่างภาคภูมิใจ แต่สำหรับ หมอแป้น หรือ น.พ.สุชาติ ทองแป้น อายุรแพทย์ วัย 36 ปี คือหนึ่งในนั้น เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างการเป็น "หมอรักษาคน" และ "หมอลำ" ได้ลงตัวอย่าง อะไรที่ทำให้นายแพทย์คนหนึ่งเลือกที่จะมีชีวิตสองขั้ว บนเส้นทางคู่ขนานระหว่างความฝันกับความเป็นจริงของ "หมอแป้น" จะประสพพบเจอกันได้อย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาเฉลยค่ะ...
"หมอแป้น" หรือ นายแพทย์สุชาติ ทองแป้น อายุรแพทย์ วัย 36 ปี แพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาสารคาม ผู้ที่ทุ่มเทให้กับการรักษาผู้ป่วยด้วยหัวใจของความทุ่มเท เสียสละ และใส่ใจที่เรียกได้ว่าเกินร้อย เขายังได้รับการยอมรับจากบุคลากรทุกระดับชั้นของโรงพยาบาล ว่าเป็นหมอที่มากด้วยประสิทธิภาพในการเยียวยารักษา เอาใจใส่ผู้ป่วย และนิสัยใจคอก็โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นเสมอๆ นอกจากนี้ "หมอแป้น" ยังเป็นหัวหน้ากลุ่มงานโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือที่คนรู้จักกันในชื่อคลินิก "บ้านร่มเย็น"
และที่คลินิกบ้านร่มเย็นนี่เองทำให้ชีวิตของ "หมอแป้น" ที่รักษาคนผู้นี้มาบรรจบพบกับความฝันในวัยเด็ก นั่นคือการได้เป็นคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งวง "หมอลำ" ขึ้นมาจนเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว และเขาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าวง โดยใช้ชื่อว่า "บ้านร่มเย็น" ซึ่งเป็นวงหมอลำที่มีพระเอกเป็นแพทย์ มีนางเอกเป็นพยาบาลวิชาชีพ มีพระรองเป็นผู้ติดเชื้อเอดส์ มีทีมหางเครื่องเป็นพยาบาล หมอนวดแผนไทย เจ้าหน้าที่โภชนาการ อาสาสมัครผู้ติดเชื้อเอดส์ ฯลฯ
"ผมเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ พออายุ 4 ขวบ ครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ตอนเด็กๆ ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้มาเป็นหมอ อยากเป็นครูมากกว่า สักพักก็อยากเป็นนายธนาคาร เพราะไปธนาคารกับแม่แล้วเห็นว่าอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ คงทำงานสบายๆ เพราะชีวิตตอนเด็กของผมก็ไม่ได้สะดวกสบาย เรียกว่าพอมีพอกิน ที่บ้านก็ทำนา แต่ด้วยความที่เราขยันอ่านหนังสือ ก็ทำให้สอบติดหมอ ซึ่งไม่เคยคิดเลยว่าจากเด็กที่ครอบครัวยากจนจะสามารถทำได้ แม่เคยถามว่าจะเรียนพิเศษไหม ผมก็บอกว่าไม่ต้องหรอก แค่ขยันอ่านหนังสือก็พอ เรียนไปถ้าไม่ใส่ใจก็ไม่เกิดผล และพอผมเรียนจบในปี 2546 ผมก็เข้ามาประจำที่โรงพยาบาลมหาสารคามเลยครับ" หมอแป้น กล่าว
หมอแป้น เล่าอีกว่า จริงๆ โดยส่วนตัวผมชอบหมอลำมาตั้งแต่เด็ก แต่แม่ก็พาไปดูลิเก เพราะแม่ชอบลิเก ก็ไปดูแบบนี้บ่อยๆ มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว จำได้ว่าตอนที่เรียนหมออยู่ปี 4 ที่คณะหมอลำเขามาเปิดสอนให้หัดร้องหัดลำ ผมก็อยากจะไปเรียน เพราะชอบมาตั้งนานแล้ว ก็ไปบอกพ่อกับแม่ แต่เขาก็ไม่ให้เรียน บอกว่าอย่าเลย ผมเลยไม่ได้ไปสมัคร แต่ตอนนั้นก็จะไปดูหมอลำตลอด ดูจนถึง 6 โมงเช้า เกือบจะทุกวันเลย แต่ไม่ให้เสียการเรียนนะ ถึงกลับมาเช้าเราก็ไปเข้าเรียนต่อได้เลย ไม่มีผลกระทบอะไร เพราะเราแบ่งเวลาเป็น และที่ลำหมอลำได้ก็ไม่ได้ไปเรียนที่ไหน อาศัยจำเอา ดูคนนั้นคนนี้แล้วก็จำ ต่อมาประมาณปี 2547 ก็เริ่มชักชวนเพื่อนๆ ในโรงพยาบาลตั้งวงหมอลำขึ้นมา ชื่อว่า "บ้านร่มเย็น" ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 30 คน มีทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่โภชนาการ แม่บ้าน ผู้ป่วย ฯลฯ ซึ่งช่วงแรกเป็นเงินของตัวเอง ต่อมาก็เป็นเงินกองทุนบ้านร่มเย็นเอาไว้ซื้อเครื่องสำอาง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเงินของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทย อาชีพ "หมอ" ยังคงเป็นอาชีพที่สังคมให้การยอมรับ ยกย่องว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ในขณะที่อีกมุมหนึ่งของสังคม วิชาชีพ "หมอลำ" ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้าน ที่หล่อเลี้ยง จิตวิญญาณของชาวอีสาน ที่ดูไปแล้วศาสตร์ทั้ง 2 นั้น ไม่น่าจะโคจรมาพบกันได้ ทำให้หน้าที่เป็นหมอรักษาคนไข้ กับการแสดงความเพลิดเพลินให้คนดูด้วยการเป็นหมอลำของหมอแป้น เกิดเสียงท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมอยู่บ่อยๆ
"ตอนที่ตั้งวงหมอลำแรกๆ ก็มีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ว่าไม่เหมาะ ไม่สมควร เราเป็นหมอจะไปเต้นกินลำกินทำไม ซึ่งก็ไม่ทำให้ผมท้อถอยนะ เพราะผมคิดว่าเราผมไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ผมสามารถแบ่งเวลาได้ และก็รับผิดชอบในหน้าที่ของผมได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ไม่เคยเอาเวลางานมาร้องหมอลำเลย จนเวลาผ่านไปทุกคนก็สามารถยอมรับเราได้ ทุกวันนี้เวลาไปออกงานที่ไหน ผมก็จะเอาหมอลำกับเรื่องโรคเอดส์มาประยุกต์ใช้ด้วยกัน เช่น ร้องลำเกี่ยวกับการป้องกัน หรือวิธีการรักษา การดูแลตัวเอง" หมอแป้น กล่าว
ทั้งนี้ เรื่องราวดีๆ ของ "หมอแป้น" ยังไม่หมดเท่านี้ เพื่อนๆ สามารถติดตามชมชีวิตของ "หมอแป้น" ราชาหมอลำเสียงทองแห่งบ้านร่มเย็น แบบเต็มรูปแบบได้ในรายการ "คน ค้น ฅน" วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม เวลา 22.15 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวีค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ