x close

อดีตครู จ.อยุธยา ไม่ติดไข้หวัดใหญ่ 2009

วิทยา แก้วภราดัย



อดีตครู จ.อยุธยา ไม่ติดไข้หวัดใหญ่ 2009 (คมชัดลึก)

          อดีตครู จ.อยุธยา ไม่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 ผลแล็ปกรมวิทย์ยันแค่หวัดใหญ่ชนิดบีที่ระบาดตามฤดูกาลในไทย "วิทยา" สั่ง อภ. เจรจาอินเดียคงราคาวัตถุดิบผลิตโอเซลทามิเวียร์ 1 เดือน หลังหลายประเทศแห่สั่งซื้อจนราคาขยับตัว

          นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งเป็นครูรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลใน จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ หลังจากเดินทางกลับมา 2 วันมีอาการไข้ เจ็บคอ จึงเดินทางมาพบแพทย์ ขณะนี้อาการดีขึ้น ไม่มีไข้ ทั้งนี้ได้สั่งให้นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดสธ.ตรวจสอบติดตามเฝ้าระวังโรคผู้โดยสารที่มีที่นั่งใกล้เคียงกับผู้ป่วยเฝ้าระวังรายดังกล่าวด้วยเพื่อความไม่ประมาท

          "การเจ็บป่วยเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ใครก็อาจป่วยได้ ผู้ป่วยไม่ใช่คนที่ต้องตามไล่ล่าแต่ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าป่วยแล้วต้องหนี ไม่ใช่กลับจากเม็กซิโก อเมริกาแล้วหนีกระทรวงสาธารณสุข หนีสื่อมวลชน ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายเพราะกระทรวงฯจะรับมือไม่อยู่ จึงอยากให้มีความรู้สึกในแนวเดียวกันว่า สธ.พร้อมที่จะให้การรักษา การที่จะพูดอะไรก็ต้องเคารพสิทธิ์ผู้ป่วย การเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง คงไม่จำเป็นต้องกำชับอะไรเป็นพิเศษ คนพูดควรจะทราบดีว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง การระบุว่ามีผู้ต้องสงสัยเป็นครูกลับจากต่างประเทศ สามารถสืบได้ว่าเป็นใคร เพราะในจังหวัดคงมีครูไม่กี่คนที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศและป่วย อาจจะทำให้ประชาชนที่ไม่เข้าใจเกิดการรังเกียจ" นายวิทยากล่าว

          รมว.สธ. กล่าวอีกว่า สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้ แต่การจะสรุปผลว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย คณะกรรมการด้านการแพทย์ ด้านระบาดวิทยา และด้านห้องปฏิบัติการ หากมีผู้ป่วยยืนยันจะแถลงข่าวให้ประชาชนรับทราบทันที

          นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ส่วนงบประมาณ 80 ล้านบาทที่จะเสนอเข้าครม.เพื่อใช้ในการสั่งซื้อวัตถุดิบผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์มาสำรองไว้นั้น ภายหลังจากหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแล้ว เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องมีการสำรองยาเกินจริง แต่ได้มอบหมายให้องค์การเภสชักรรม(อภ.) เจรจากับบริษัทยาในประเทศอินเดียซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบให้ยังคงราคาเดิมเป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากขณะนี้เกิดการระบาดทำให้หลายประเทศสั่งซื้อจำนวนมาก จนราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น

          "ในประเทศไทยเรื่องการดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ไม่น่าเป็นห่วง จึงไม่อยากให้แตกตื่นมาก ขอย้ำว่าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสภายใน 48 ชม.ก็จะหายขาด แต่ไม่ควรรับประทานยาพร่ำเพรื่อโดยไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะจะทำให้เกิดการดื้อยาชนิดนี้" นายวิทยากล่าว

          นายวิทยา กล่าวอีกด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข ได้ประเมินทางวิชาการ โดยคาดว่าไทยมีแนวโน้มอาจพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่มาจากต่างประเทศรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งสธ. ได้ใช้มาตรการแซนด์วิช คือมาตรการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคนที่ด่านตรวจโรคประจำสนามบิน ด่านพรมแดนต่างๆ และการค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านชุมชน และที่โรงพยาบาล คลินิก โรงพยาบาลเอกชน อย่างเข้มแข็ง เพื่อค้นหาผู้ป่วยให้พบอย่างรวดเร็ว ให้การดูแลรักษาและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อให้อยู่ในวงจำกัด

          รมว.สธ. กล่าวต่ออีกว่า ที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้เพิ่มกำลังแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำการจากวันละ 60 คน เป็นวันละเกือบ 100 คน ตลอด 24 ชั่วโมง และให้มีระบบการเชื่อมโยงส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยในรายที่มีไข้และเดินทางกลับจากต่างประเทศให้พื้นที่ต่างๆ ได้ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้เล็ดลอดแม้แต่รายเดียว และให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วออกติดตามผู้ป่วยที่บ้านทันที ส่วนสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน คลินิกทั่วประเทศ ให้เพิ่มการซักประวัติผู้ป่วยที่มีไข้ ไอ เจ็บคอหรือท้องเสีย อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศทั้งหมด หากพบผู้ป่วยได้เร็วเท่าใด จะเป็นผลดีในการควบคุมโรคไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในประเทศได้

          เวลา 17.00 น. นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่าผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังโรค ซึ่งเป็นครูที่จ.พระนครศรีอยุธยาไม่ได้ป่วยด้วยเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด บี เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดตามฤดูกาลในประเทศไทย ขณะนี้อาการเป็นปกติดีแล้ว เตรียมให้ออกจากห้องแยกคัดกรองผู้ป่วย ส่วนที่ต้องให้ยาโอเซลทามิเวียร์กับผู้ป่วยรายนี้นั้น เนื่องจากผู้ป่วยมีประวัติการเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง

          รองปลัดสธ. กล่าวอีกว่า สธ. จะปรับมาตรการการรักษา ด้วยการพิจารณาให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาการดื้อยา โดยรายที่ผลการตรวจเชื้อยืนยันว่าติดเชื้อ จะได้รับยาต้านไวรัสทุกคน ซึ่งผลการตรวจยืนยันจะรู้ผลเร็ว เนื่องจากมีการทำงานเป็นเครือข่ายระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ทุกแห่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการอ้างอิงขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกาด้วย ทำให้ผลมีความแม่นยำ และขณะนี้ประเทศไทยยังคงมีผู้ป่วยยืนยัน 2 รายและมีผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวัง 13 ราย เป็นชาวไทยเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด

          ด้านศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย และอาจารย์ประจำภาควิชาการจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ห้องปฏิบัติการของคณะฯสามารถแยกโครงสร้างเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009ได้แล้ว และได้ส่งลำดับหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของสารพันธุกรรมหรือนิวคลิโอไทด์ของยีนไวรัสชนิดนี้ 4 ยีนจากทั้งหมด 8 ยีนไปให้กับธนาคารยีนของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา(ซีดีซี) คาดว่าจะส่งให้ทั้งหมดได้ภายใน 3 วัน

          "ประโยชน์ที่ได้จากการทราบโครงสร้างของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้จะทำให้สามารถนำไปวิจัยพัฒนาต่อยอดเป็นประโยชน์มากมาย อาทิ การพัฒนาชุดตรวจสอบเบื้องต้นว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในระยะเวลารวดเร็วเพียง 1 ชั่วโมง ว่าเป็นผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นโรคนี้หรือไม่ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบเพื่อใช้ในการป้องกันโรค และการทดสอบการรักษาด้วยยาต้านไวรัสว่าเชื้อดังกล่าวมีการดื้อยาหรือไม่" ศ.ดร.พิไลพันธ์ กล่าว

          ศ.ดร.พิไลพันธ์ กล่าวอีกว่า การที่ศิริราชมีเชื้อตัวไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นำมาถอดโครงสร้างเชื้อโรคได้ เนื่องจากห้องปฏิบัติการของคณะฯเป็นห้องปฏิบัติการคู่ขนานกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อสธ.ตรวจพิสูจน์พบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อชนิดนี้ และต้องการผลตรวจห้องปฏิบัติการยืนยัน จึงส่งเชื้อมาที่ศิริราชตรวจพิสูจน์ยืนยัน ซึ่งในเรื่องของสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ ศิริราชเป็นห้องปฏิบัติการคู่ขนานเพียงแห่งเดียวของสธ.และดำเนินการมากว่า 30 ปีแล้ว

          "กรณีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 รายแรกที่พบในประเทศไทย ศิริราชใช้เวลาในการตรวจพิสูจน์ยืนยันประมาณ 48-72 ชั่วโมง แต่ในรายที่สอง ใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมงเพราะมีองค์ความรู้แล้ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อนี้ โดยขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกานับว่ามีเครื่องมือที่ใหญ่สามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ดีกว่า ทำให้การศึกษาในส่วนนี้ก้าวหน้าไปกว่าทางศิริราชแต่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ศิริราชมีเครื่องมือที่เล็กกว่าก็สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกันแต่อาจช้ากว่า ก็ถือว่าเป็นความรู้ความสามารถของประเทศไทยในขณะนี้" ศ.ดร.พิไลพันธ์กล่าว

          ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ นายกสมาคมไวรัสวิทยาแห่งประเทศไทย และประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีองค์ความรู้สามารถวิเคราะห์โครงสร้างเชื้อโรคได้อย่างละเอียด ทำให้สามารถศึกษาวิจัยต่อยอดไปถึงขั้นการผลิตวัคซีนป้องกันได้ แต่ยอมรับว่าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดในตอนนี้คงไม่ทันอย่างแน่นอน แต่ก็ดีกว่าที่จะไม่ทำอะไรเลย

          "ขณะนี้ยังไม่มีเชื้อใดมีศักยภาพสูงพอที่จะทำร้ายมนุษย์ได้มากเท่ากับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้ แม้แต่ไข้หวัดนก สายพันธุ์ที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอาทิ เอช 7 เอ็น7, เอช 9 เอ็น 2 ก็พบวาไม่ทำร้ายมนุษย์ แต่ก็จำเป็นต้องเฝ้าระวังกันต่อไปว่าจะทำร้ายมนุษย์เมื่อใด ซึ่งไม่มีใครสามารถบอกได้" ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

          ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า ทราบมาว่าวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกได้พัฒนาสำเร็จมาระยะหนึ่งแล้ว และบริษัทยาทั้งซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัดและบริษัท แกล็ค โซสมิธ ไคล์น จำกัด ต่างผลิตได้แล้วทั้งคู่ และได้นำเสนอขายกับรัฐบาลไทยมาหลายครั้ง ว่าจำเป็นต้องซื้อเก็บเป็นสต็อกยาสำรองหรือไม่ แต่ภาครัฐก็คิดว่าไม่จำเป็น ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องนำวัคซีนเก็บเข้าโกดังหมด เพราะไม่มีใครสนใจซื้อ เพราะสิ่งที่กำลังให้ความสนใจในขณะนี้น่าจะเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มากกว่า



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อดีตครู จ.อยุธยา ไม่ติดไข้หวัดใหญ่ 2009 อัปเดตล่าสุด 15 พฤษภาคม 2552 เวลา 13:37:25 2,888 อ่าน
TOP