x close

ครม.เห็นชอบแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา ยกเลิกอายุความ

กฎหมาย


ครม.เห็นชอบแก้ไขประมวลกฎหมายอาญายกเลิกอายุความ (คมชัดลึก)

          วานนี้ (26 พฤษภาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศุภชัย ใจสมุทธร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ พ.ศ...ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุความ โดยมีหลักการ 2 เรื่อง
คือ แก้ไขกำหนดเวลาร้องทุกข์ในกรณีความผิดยอมความได้ และยกเลิกอายุความฟ้องคดีและอายุความล่วงเลยการลงโทษสำหรับความผิดบางกรณี เกี่ยวกับการปกครองและการยุติธรรม รวมถึงกำหนดระยะเวลาการฟ้องบุคคลเหล่านั้นให้มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้น โดยมีเหตุผลว่าปัจจุบันการกระทำทุจริตของเจ้าพนักงาน โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการมีความสลับซับซ้อนทำให้ประเทศได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยผู้กระทำความผิดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพล และมักจะหลบหนีจากกระบวนการยุติธรรม

          ฉะนั้น การกระทำความผิดดังกล่าวมักจะมีการรวบรวมพยานหลักฐานได้ยากลำบาก ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนาน ทำให้การดำเนินคดีอาญาดังกล่าวในบางประเภทในประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้บางคดีขาดอายุความ ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ ดังนั้นจึงสมควรนำหลักเกณฑ์การไม่มีกำหนดระยะเวลาของอายุความในความผิดบางประเภทมากำหนดไว้ 

          นายศุภชัย กล่าวต่อไปว่า โดยมีสาระสำคัญคือ แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุความในคดีความผิดส่วนตัว ถ้ามีผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ ซึ่งเดิมกำหนดไว้เพียงภายใน 3 เดือน และยกเลิกอายุความฟ้องคดีและอายุความล่วงเลยการลงโทษสำหรับความผิดบางกรณีเกี่ยวกับการปกครองและการยุติธรรม รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการฟ้องบุคคลให้มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้น คือ...

           1. กรณีได้ตัวผู้กระทำความผิดมาแล้ว ให้พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน โดยเฉพาะพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาดำเนินการให้มีการฟ้องผู้นั้นต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้ตัวมา เว้นแต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลา

           2. กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษ หรือได้รับโทษยังไม่ครบถ้วน โดยหลบหนี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมารับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่หลบหนี แม้จะเกินกำหนดเวลาในมาตรา 98 เกี่ยวกับอายุความ ก็ไม่ถือว่าเป็นอันล่วงเลยเวลาการลงโทษ โดยให้ลงโทษผู้นั้นในโทษที่ยังไม่ได้รับหรือที่ได้รับยังไม่ครบถ้วน ซึ่งเรื่องนี้จะเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก cs.ssru.ac.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครม.เห็นชอบแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา ยกเลิกอายุความ อัปเดตล่าสุด 27 พฤษภาคม 2552 เวลา 11:46:30 12,586 อ่าน
TOP