x close

รุมต้านต่างชาติซื้อที่ดิน จ้างชาวนาไทยปลูกข้าว

ข้าว


รุมต้านต่างชาติซื้อที่ดินจ้างชาวนาไทยปลูกข้าว "พาณิชย์"ยันทำไม่ได้ พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวห้ามไว้ (มติชนออนไลน์)

           "ธีระ" ค้านตปท. ลงทุนจ้างเกษตรกรปลูกข้าว ด้านอธิบดีกรมการข้าวเผย มาเลย์เคยขอใช้ที่ดินใน 3 จังหวัดภาคใต้ปลูกข้าว ชี้เสี่ยงต่อความมั่นคงระบุแจ้ง "ดีเอสไอ" ช่วยตรวจสอบจีน-มาเลเซีย ร่วมทุนโรงสีรับซื้อข้าวส่งกลับปท. หวั่นแอบขนพันธุ์ข้าวออกไปด้วย พณ.เผย พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าว ระบุ สงวนเป็นของคนไทย 

           จากกรณีกลุ่มประเทศคณะมนตรีความมั่นคงอ่าวอาหรับ (จีจีซี) 6 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต และซาอุดีอาระเบีย สนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และทำนาในไทย

           นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ว่า ไม่เห็นด้วย หากต่างชาติจะมาลงทุนเช่าที่ดิน และจ้างชาวนาไทยปลูกข้าว แต่หากเข้ามาทำธุรกิจรับซื้อสินค้าเกษตร ก็พอมีทางเป็นไปได้ 

           นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผย "มติชน" ว่า ที่ต่างประเทศขอลงทุนปลูกข้าวในไทยเคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา ทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤตเรื่องอาหาร ทุกประเทศจึงพยายามหาแหล่งผลิตอาหารใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชากรในประเทศของตนเอง หรือบางประเทศที่มีเงินทุนมากก็มองเห็นวิกฤตเป็นโอกาส ที่จะสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวชั้นดี ทำให้ประเทศเหล่านี้สนใจที่จะเข้ามาลงทุน 

           ส่วนการติดต่อเข้ามาลงทุนของกลุ่มจีซีซีนั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า คงต้องดูรายละเอียดว่า เป็นรูปแบบใด ถ้าเข้ามาตั้งบริษัทซื้อที่ดินทำธุรกิจปลูกข้าว โดยให้เกษตรกรไทยเป็นลูกจ้าง คงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะมีกฎหมายควบคุมการทำธุรกิจของคนต่างด้าวอยู่ และกรมการข้าวจะคัดค้านอย่างเต็มที่ 

           "การติดต่อขอเข้ามาลงทุนเรื่องข้าวในไทย ไม่ได้มีแค่ประเทศแถบตะวันออกกลางเท่านั้น ผมเองก็เคยได้รับการติดต่อจากมาเลเซีย ขอใช้พื้นที่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเพาะปลูกข้าวเหมือนกัน โดยแจ้งเรื่องให้ผู้ใหญ่รับทราบไปแล้ว แต่ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อความมั่นคง" นายประเสริฐกล่าว 

           นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้มีนักธุรกิจชาวต่างชาติหลายรายเริ่มเข้ามาลงทุนแล้ว ในลักษณะรับซื้อข้าว เบื้องต้นพบว่ามี 2 ประเทศ คือ มาเลเซีย และ จีน ร่วมทุนกับโรงสีบางรายใน จ.เพชรบุรี อ.แปดริ้ว และ จ.ฉะเชิงเทรา โดยเข้าไปรับซื้อข้าวจากโรงสีโดยตรง แล้วส่งออกไปประเทศของตนเอง โดยใช้เส้นทางรถยนต์ แต่กรมการข้าวแจ้งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ช่วยตรวจสอบแล้ว เพราะเป็นห่วงเรื่องของพันธุ์ข้าวไทย ที่อาจถูกลักลอบนำออกไปนอกประเทศ 

           "ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯยกร่างกฎหมายคุ้มครองรักษาพื้นที่ทางการเกษตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อคุ้มครองการทำอาชีพเกษตรกรรมให้กับคนไทย หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ น่าจะช่วยป้องกันการเข้ามาลงทุนทำธุรกิจด้านเกษตรกรรมของชาวต่างชาติได้ในระดับหนึ่ง" นายประเสริฐกล่าว 

           ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้รับการติดต่อจากประเทศคูเวตและอิหร่าน ที่จะเข้ามาทำธุรกิจสินค้าฮาลาล แต่รูปแบบที่หารือเบื้องต้น เป็นเพียงการเข้ามาติดต่อรับซื้อสินค้าเท่านั้น ไม่ใช่เข้ามาลงทุนตั้งบริษัททำธุรกิจเอง โดยส่วนตัวก็เห็นด้วย เพราะจะช่วยขยายตลาดรองรับสินค้าฮาลาลของไทยมากขึ้น แต่ยังไม่ได้ตกลงกันอย่างเป็นทางการ 

           นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ระบุไว้ชัดเจนว่า ต่างชาติไม่สามารถเข้ามาลงทุนทำธุรกิจทำนา และเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยได้ โดยธุรกิจดังกล่าวอยู่ไว้ในบัญชี 1 เป็นธุรกิจสงวนไว้สำหรับคนไทย ถ้าต่างชาติต้องการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้ประเทศตนเอง ไม่จำเป็นต้องมาทำเอง ซื้อจากเราก็ได้ เราพร้อมขายให้ 

           นายคณิสสรกล่าวว่า แม้กฎหมายจะห้ามคนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจทำนาและเลี้ยงสัตว์ แต่หากร่วมกับคนไทย โดยเข้ามาถือหุ้นไม่เกิน 49.99% ก็สามารถทำได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ว่าหากต่างชาติถือหุ้นไม่เกินที่กำหนดก็ถือว่าธุรกิจนั้นๆ ยังเป็นธุรกิจของคนไทย ทำธุรกิจอะไรก็ได้ แต่ทางกรมต้องจับตาดู เพราะอาจมีต่างชาติอาศัยช่องตรงนี้ใช้คนไทยถือหุ้นแทน (นอมินี) แล้วเข้ามาทำธุรกิจ และถ้าในอนาคตต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในลักษณะดังกล่าวกันมาก และเกรงว่าจะกระทบภาคเกษตรของไทย ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะแก้ไขกฎหมายเพิ่มหรือไม่ 

           นายคณิสสรกล่าวว่า ที่ผ่านมากรมได้ตรวจสอบของบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้น ซึ่งมีกว่า 6 หมื่นบริษัท โดยเน้นบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นตั้งแต่ 40-49.99% เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ยังไม่พบว่า มีการเข้ามาลงทุนทำนาหรือเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ กรมยังร่วมกับกรมที่ดิน และดีเอสไอ ตรวจสอบบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นและถือครองที่ดิน พบว่า มีประมาณ 1,500 ราย โดยลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว 300 ราย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่อยู่อาศัย บ้านพัก และคอนโดมิเนียม    

           วันเดียวกัน นายสารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี  กล่าวว่า เครือซีพีและธนาคารอัล ซาลาม แห่งบาห์เรน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เป็นพันธมิตรลงทุนธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ประกอบด้วย สัตว์บก สัตว์น้ำ และพืชผักผลไม้ โดยจะตั้งบริษัทผลิตอาหารฮาลาล ซึ่งทางซีพีจะสนับสนุนด้านบริหารจัดการ ส่วนธนาคารบาห์เรนจะสนับสนุนด้านการเงิน สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นจะศึกษากันอีกครั้ง 

           นายสารสินกล่าวว่า จะส่งเสริมให้บาห์เรนเป็นศูนย์กลางฮาลาลในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle East and North Africa : MENA) มีสมาชิก 20 ประเทศ เช่น แอลจีเรีย บาห์เรน คูเวต กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย โอมาน อาจตั้งโรงงานผลิตสินค้าที่บาห์เรน ส่วนแหล่งวัตถุดิบจะมาจากประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งไทย 

           "การร่วมลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้เกษตรกรและประเทศได้ประโยชน์ รวมทั้งยังสนับสนุนสถานะไทยให้เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก หรือครัวของโลกอีกด้วย แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับข่าวที่ 6 ประเทศตะวันออกกลาง สนใจมาลงทุนทำนาในเมืองไทย เรื่องอะไรเขาจะมาลำบาก เพราะประเทศกลุ่มนี้ไม่ถนัดเรื่องเกษตรกรรม" นายสารสินกล่าว 

           เมื่อช่วงเช้า ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องดูรูปแบบการลงทุนก่อน ความจริงรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ถ้าต่างประเทศอยากจะซื้อสินค้าเกษตรของไทยก็ยินดีอยู่แล้ว เหมือนกับที่ตนไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มีการลงทุนแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลสนับสนุน

           ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป็นการเข้ามาทำนาในไทย ทำได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กำลังให้ผู้เกี่ยวข้องดูรูปแบบอยู่ หากเข้ามาลงทุนสนับสนุนด้านเทคโนโลยี หรือแปรรูปสินค้าเกษตร หรือทำสัญญาซื้อสินค้าเกษตร อย่างนี้ทำได้ เมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีการให้ต่างประเทศเช่าที่ดินเพื่อทำนาใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า เรื่องที่ดินก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเรา




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รุมต้านต่างชาติซื้อที่ดิน จ้างชาวนาไทยปลูกข้าว อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2552 เวลา 18:18:34 15,585 อ่าน
TOP