โรงหนัง สแตนด์อะโลน ลมหายใจสุดท้ายก่อนเป็นอดีต






โรงหนัง สแตนด์อะโลน ลมหายใจสุดท้ายก่อนเป็นอดีต (เดลินิวส์)
โดย ศราวุธ  ดีหมื่นไวย์

          อาจใกล้ถึงลมหายใจสุดท้ายเข้าไปทุกที สำหรับโรงหนัง "สแตนด์อะโลน" ซึ่งเป็นโรงขนาดใหญ่ ไม่มีการตัดแบ่งโรง ไม่พึ่งห้างสรรพสินค้า เน้นฉายหนังบนเนื้อที่ของตัวเอง คนละอารมณ์กับโรงหนังทั่วไปที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าซอยกั้นแบ่งโรง กระทั่งสร้างอาณาจักรของตัวเองโดยแบ่งพื้นที่ให้เช่าขายของกึ่งห้างสรรพสินค้า
   
          จากยุครุ่งเรืองเข้าสู่ยุคซบเซา จนวันนี้โรงหนังสแตนด์อะโลนทยอยปิดตัวเป็นทิวแถว เฉพาะในกรุงเทพฯ เหลือไม่ถึง 5 แห่ง ไม่แน่อนาคตอาจเหลือเพียงความทรงจำ
   
          "ผมผ่านยุคที่รุ่งเรืองมาจนถึงยุคที่ตกต่ำ ได้เห็นและเรียนรู้อะไรมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นอีกแรงใจที่ทำให้เราฮึดสู้ จนกว่าจะไม่ไหว ทุกวันนี้อยู่  แบบประคองตัวเองมากกว่า"  สุธิพงษ์ (สงวนนามสกุล) เจ้าของโรงหนัง ธนบุรีรามา ย่านปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นโรงสแตนด์อะโลน ไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ กล่าว
   
          พ.ศ. 2515 ธนบุรีรามา โรงหนังชั้น 1 เปิดตัวขึ้นก่อน การสร้างสะพานพระปิ่นเกล้า ฉายภาพยนตร์ "ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง" เป็นเรื่องแรก และได้รับการตอบรับจากคนดูแน่นขนัดเกือบทุกรอบ แต่ด้วยภาระรายจ่ายที่มากขึ้นจึงต้องปรับมาเป็นโรงหนังชั้น 2 แต่โจ๋ฝั่งธนฯ สมัยนั้นยังให้การตอบรับเนืองแน่น
   
          สุธิพงษ์ ผู้รับช่วงต่อจากพ่อ เล่าว่า ด้วยความที่โรงหนังแห่งนี้เป็นสมบัติของครอบครัวที่พ่อสร้างมากับมือ จึงไม่อยากปิดตัวลง แม้ปัจจุบันมีผู้ชมประมาณวันละ 100 คน ทำให้ต้องปรับตัวด้วยการพยายามประหยัดค่าไฟเพื่อไม่ให้รายจ่ายมากเกินไป ทุกวันนี้ยังเก็บค่าตั๋วเพียงรอบละ 40 บาท เพราะอยากให้คนระดับล่างที่ไม่มีเงินพอไปดูโรงหนังชั้น 1 ได้ดู
   
          "คนดูเริ่มลดลงตั้งแต่ก่อนปี 40 หลังจากนั้นก็ลดลงจนน่าตกใจ อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี และผู้ประกอบการโรงหนังรายใหญ่นิยมสร้างอาณาจักรโรงหนังของตัวเองขึ้น แต่เสน่ห์โรงหนังของเราคือ มีความเก่าแก่อยู่มานาน ดังนั้นคอหนังรุ่นเก่าๆ ชอบมาดู ฉายหนังซ้ำดูเมื่อไหร่ก็ได้ ประหยัดและยังรักษาความสะอาดได้อย่างดีเพราะเป็นโรงของเราเองสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง"
   
          นอกจากนี้ ยังพยายามรักษาเอกลักษณ์โรงหนังเก่า โดยการจัด "รถแห่หนัง" เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รู้โปรแกรมหนังอาทิตย์ละ 2 ครั้ง สิ่งนี้ต้องพยายามอนุรักษ์ไว้ เนื่องจากโรงหนังสมัยก่อนมีความผูกพันกับคนพื้นที่ ที่ถือว่าเป็นเรื่องดีควรรักษาไว้ ขณะเดียวกันแผ่นป้ายโปรแกรมหนังก็ยังใช้ลายมือคนเขียนเหมือนในอดีต ตนเคยคิดจะซอยโรง แต่พอคิดแล้วไม่ปลอดภัยตามหลักของโยธาฯ เพราะทุกปีต้องตรวจสอบอาคารตลอด ถึงจะเปิดมานานแต่ความปลอดภัยของผู้ชมก็เป็นเรื่องสำคัญ
   
          แฟนประจำส่วนใหญ่เป็นคนขับแท็กซี่ ที่ได้ค่าเช่ารถแล้วมานอนรอเวลา หรือแม่ค้าในตลาดใกล้เคียง ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ๆ ยังมีเข้ามาให้เห็นเพราะราคาประหยัด ด้านคนดูรุ่นเก่าๆ ที่ต้องการมารำลึกบรรยากาศครั้งอดีตก็ยังมีให้เห็นอยู่




   
          ภาวะปัจจุบันโรงหนังชั้น 2 ผู้คนมักมองว่าฉายหนังโป๊ ซึ่ง สุธิพงษ์ มองว่า เมื่อตอนพ่อมีชีวิตอยู่เน้นย้ำเสมอไม่ให้ลูกนำหนังโป๊มาฉายในโรงเด็ดขาด เพราะทำแล้วไม่รุ่ง ฉายไปก็ต้องเสียเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่หลายคน ซึ่งตนเองพยายามทำตามอย่างที่พ่อสอนมาตลอด
   
          หลายครั้งที่สุธิพงษ์รู้สึกท้อจนอยากจะปิดกิจการ แต่พอเห็นผู้ชมมีความสุขก็เป็นอีกกำลังใจให้สู้ต่อ เช่น บางครั้งหนังดีมีคนเข้ามาดูเยอะทำให้อยากจะสู้ต่อ อย่างน้อยก็รักษาโรงหนังที่มีคุณค่าทางจิตใจให้คนไทยได้ดู มานั่งนึกดูก็ปลงเพราะทุกอย่างมีขึ้นมีลง ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้ค้ำฟ้า
   
          "พี่น้องผมทุกคนไม่มีใครเอาโรงหนังแล้ว ยกเว้นผมคนเดียวเพราะเขามองว่า ลงทุนไปก็ไม่คุ้ม ปล่อยให้เช่าที่ยังได้เงินมากกว่า แต่ผมยังเชื่อว่ามันมีหวังแม้จะเหลือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงหนังสแตนด์อะโลนหลายแห่งทยอยปิดตัวลงเรื่อยๆ แต่เราจะสู้จนเฮือกสุดท้ายมาถึง" สุธิพงษ์ เล่าถึง การต่อสู้ที่ยังมองไม่เห็นอนาคต
   
          หลายคนเปรียบโรงหนัง "สแตนด์อะโลน" เสมือน "จุดนัดฝัน" ครั้งอดีต ไม่ว่าหนุ่มบ้านนาหรือไอ้หนุ่มลูกกรุง นิยมออกเดท ครั้งแรกที่โรงหนัง แต่ใช่ว่าจะง่ายดายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ตอนมาสาวเจ้าก็นั่งสามล้อมาด้วยกันดีหรอก พอตีตั๋วเพื่อนๆ  ยกกันมาเป็นโขยง เจ้าหนุ่มหลายคนกระเป๋าฉีกไปตามๆ กัน หนึ่งในนั้นมี มนัส กิ่งจันทร์ นักจดหมายเหตุ หอภาพยนตร์แห่งชาติ รวมอยู่ด้วย
   
          ที่ว่า "จุดนัดฝัน" มนัส ขยายความว่า โรงหนัง "สแตนด์อะโลน" ไม่ใช่แค่ฉายหนัง แต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจด้านศิลปะ เช่น โปสเตอร์หนังที่ติดด้านหน้าโรงเด็กคนไหนชอบศิลปะก็มานั่งสเกตช์ภาพตามหรือบรรดาร้านตัดเสื้อตามต่างจังหวัดก็เอาไปเป็นแบบตัดเสื้อ
   
          ราวปี พ.ศ. 2507-2513 หนังเรื่องใหม่เข้าโรงทีจะมีรถแห่หนัง เด็กก็จะเข้าไปรุมล้อม หรือบางครั้งมีดารามาร่วมขบวนแห่ชาวบ้านจะยกกันมาทั้งหมู่บ้าน สมัยก่อนแม้อยู่ต่างจังหวัดก็ได้ใกล้ชิดดารา เช่นเดียวกับในปี พ.ศ. 2510-2520 เสียงในฟิล์มหนังต่างประเทศยังไม่มี โรงหนังต่างๆ จึงพยายามหาจุดขายด้วยนักพากย์ ที่เน้นพากย์สนุกภาษาถิ่นไปจนถึงนำเหตุการณ์สำคัญ ในประเทศมาพากย์ ทำให้หลาย คนได้รับแรงบันดาลใจอยากเป็นนักพากย์
   
          หลังจากนั้นคนดูโรงหนัง "สแตนด์อะโลน" เริ่มลดลงเพราะการเข้ามาของทีวีซึ่งมีละครให้ดูอยู่ที่บ้านอย่างสะดวกสบาย ประจวบเหมาะกับตอนนั้นรัฐบาลต้องการส่งเสริมหนังไทย เลยตั้งกำแพงภาษี ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าหนังต่างประเทศแพงกว่าปกติ ขณะที่หนังไทยผลิตเยอะจนล้นตลาด แล้วเครื่องเล่นวิดีโอก็เข้ามาในไทย เจ้าของภาพยนตร์ต่างชาติพยายามหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีโดยขายหนังผ่านวิดีโอ โรงหนัง "สแตนด์อะโลน" ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เจ้าของกิจการปรับตัวด้วยการพยายามฉายหนังควบ เอาใจคนดูโดยไม่ตรวจสอบคนที่เข้าไปดูว่า นำอาหารที่จะ ก่อให้เกิดความสกปรกเข้าไปหรือไม่ โรงหนังถูกลดเกรดเป็นชั้น 2 ปี พ.ศ. 2528-2529 โรงหนัง "สแตนด์อะโลน" เข้าสู่ยุคตกต่ำ หลายแห่งซอยเป็นหลายโรงเพื่อให้ผู้ชมได้เลือกดูหนังตามที่ต้องการ บางโรงดิ้นเฮือกสุดท้ายด้วยการฉายหนังโป๊ประหยัดต้นทุนเพียงซื้อซีดีโป๊แผ่นละไม่กี่บาทมาฉาย ทำให้เกิดชื่อหนังหวือหวา เช่น สวาทสาวไฟแรงสูง, สยิวดี ผีสลับหัว เป็นต้น
   
          "คนที่ดูโรงหนัง สแตนด์อะโลน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่า ขณะโรงหนังใหม่ๆ ตามห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวก เนื่องจากพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป ไม่ได้ตั้งใจมาดูหนังอย่างเดียวเหมือนก่อน แต่ต้องการซื้อสินค้า หรือไม่มีอะไรทำก็เข้าโรงหนัง สิ่งนี้เป็นตัวทำให้โรงหนังกับผู้ชมไม่ค่อยมีความผูกพัน  ถ้าแต่ก่อนคนฉายหนังเหมือนอภิสิทธิ์ชนไปไหนผู้คนจะทัก เช่น ไปซื้อของที่ตลาดบรรดาแม่ค้าเห็นหน้าแล้วจำได้ว่าฉายหนังสนุกเมื่อคืนก็จะแถมข้าวของให้ไม่อั้น" มนัส เล่า
   
          มองไปยังอนาคต โรงหนัง "สแตนด์อะโลน" มีโอกาสกลับมารุ่งเรืองเหมือนก่อนหรือไม่? มนัส ลงความเห็นว่า เป็นไปได้น้อย เนื่องจากพฤติกรรมคนดูเปลี่ยน ขณะที่คนดูโรง "สแตนด์อะโลน" เพิ่มขึ้นอยู่ในวงจำกัด ส่วนโรงหนังที่อยู่โดยทั่วไปขยายสาขาไปทั่วหัวระแหง ซึ่งเมื่อถึงเวลาปิดตัวก็คงต้องทำใจ เพราะโรงหนังเคยผลักให้ลิเกไปแสดงนอกเมือง ขณะที่วันนี้กระแสหนังแผ่นเข้ามาทดแทน
   




          ด้าน รัชนู บุญชูดวง นางเอกเจ้าบทบาทแห่งจอแก้ว ที่ย้อนกลับไปกว่า 20 ปีก่อน โด่งดังเป็นพลุแตกเป็นอีกผู้หนึ่งที่ชอบดูหนังในโรงภาพยนตร์มองความเปลี่ยนแปลงว่า สมัยก่อนหากอยากดูหนังต้องตั้งใจจริงๆ เพราะโรงหนัง "สแตนด์อะโลน" เน้นการฉายหนังอย่างเดียว ต่างจากขณะนี้ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า และด้วยความสะดวกทำให้วัฒนธรรมการดูของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ไม่ตั้งใจดูเหมือนก่อน แสดงกิริยาไม่เหมาะสม โรงหนังกลายเป็นแค่ส่วนประกอบของห้างสรรพสินค้า วัยรุ่นพอไม่มีอะไรทำก็เข้าโรงหนัง
   
          ด้วยความที่เป็นดาราเจ้าบทบาท ทำให้ รัชนู หมั่นศึกษาการแสดงผ่านหนังต่างประเทศด้วยการเข้าไปดูหนังเกือบทุกอาทิตย์ในครั้งอดีตมองว่า โรงหนัง "สแตนด์อะโลน" เสน่ห์อยู่ที่บรรยากาศของแต่ละโรงไม่เหมือนกัน ต่างจากปัจจุบันที่โรงหนังเหมือนกันหมด นอกจากนี้โปรแกรมหนังก็ฉายเหมือนกัน หากเป็นสมัยก่อนหนังดีจริงๆ ถึงได้เข้าไปฉายในศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมไทย โคลีเซียม
   
          "ในชีวิตประทับใจโรงหนังศาลาเฉลิมไทย เพราะบรรยากาศในวันเปิดตัวหนังเรื่อง ดรรชนีไฉไล ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เราเล่น วันนั้นตื่นเต้นมากเนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายที่ดารารุ่นใหม่อย่างเราจะเล่น ประกบดารารุ่นใหญ่ พิธีวันนั้นอลังการและเป็นเกียรติอย่างมากต่อชีวิตนักแสดง" รัชนู เล่าถึงความประทับใจ
   
          รัชนู กล่าวถึงการปิดตัวของโรงหนัง "สแตนด์อะโลน" ว่า รู้สึกเสียดายเพราะบางตึกเป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์งดงามน่าเก็บรักษาเอาไว้ ซึ่งอนาคตโรงหนังพวกนี้จะอยู่รอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับ ผู้ประกอบการที่ต้องดูแลความสะอาดและความปลอดภัยของคนดูโดยเฉพาะผู้หญิง     
   
          ส่วน พอเจตน์ แก่นเพชร พระเอกรุ่นใหญ่ เจ้าของมาดชายกลางผู้พิชิตใจ "พจมาน สว่างวงศ์" ในภาพยนตร์อมตะ บ้านทรายทอง เมื่อปี พ.ศ. 2522-2523 กล่าวว่า ทุกวันนี้ยังเสียดายโรงหนังหลายแห่งปิดตัวลง เพราะคนที่ชอบดูหนังนานๆ หลายเรื่องแบบตนเริ่มหาโรงหนังดูยากขึ้น เพราะนั่งไปก็สามารถหลับพักผ่อนได้เนื่องจากฉายวนทั้งวัน
   
          โปสเตอร์หนังที่ใช้วาดเป็นอีกส่วนสำคัญที่มีเสน่ห์และดึงดูดให้คนมาดูหนังมากขึ้น เปี๊ยก โปสเตอร์ จัดได้ว่าเป็นมือทองทางด้านนี้โดยตรง เพราะเมื่อวาดโปสเตอร์หนังให้เรื่องใดก็จะดังเป็นพลุแตก ขณะเดียวกันอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาดูโรงหนัง "สแตนด์อะโลน" เพื่อศึกษาอดีตที่ผ่านมาจะได้เกิดความรู้ในการพัฒนาชาติต่อไป และอยากขอให้ภาครัฐหันมาสนใจอนุรักษ์โรงหนังเหล่านี้ เพราะนี่คือ ศิลปวัฒนธรรมของชาติเช่นกัน
   
          ฉะนั้น ในวันที่ลมหายใจโรงหนัง "สแตนด์อะโลน" รวยริน ยังคงมีร่องรอยอดีตตกค้างรอให้คนรุ่นต่อไปมาชม ซึ่งยังไม่รู้ว่า "บทละครแห่งชีวิต" จะต่อลมหายใจได้นานแค่ไหน


  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรงหนัง สแตนด์อะโลน ลมหายใจสุดท้ายก่อนเป็นอดีต อัปเดตล่าสุด 23 กรกฎาคม 2552 เวลา 16:24:18 20,686 อ่าน
TOP
x close