x close

กก.วิจัยแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ สิทธิบัตรฝนหลวง

ฝนหลวง

 


กก.วิจัยแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ สิทธิบัตรฝนหลวง  (ไทยรัฐ)

        คณะทำงานจดทะเบียนสิทธิบัตรเตรียมเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง พร้อมจดหมายเหตุที่ออกโดยประเทศในกลุ่มอียู-ฮ่องกง ถือเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกของโลกที่ทรงได้รับ

        นายอานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 21 ส.ค.นี้ เวลา 17.30 น. นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ในฐานะผู้แทนพระองค์ในการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรฝนหลวง จะนำคณะซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานในโครงการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตรถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคณะทำงานจัดทำจดหมายเหตุสิทธิบัตรฝนหลวง เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์คิดค้นพัฒนา ตามพระราชปณิธานที่จะทรงช่วยเหลือเกษตรกร และพสกนิกรทั่วไปให้มีทรัพยากรน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการนำไปใช้ เพื่อการอุปโภคและบริโภค

        ทั้งนี้ สิทธิบัตรดังกล่าว ออกโดยสำนักสิทธิบัตรของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) และสำนักสิทธิบัตรเขตบริหารพิเศษฮ่องกง รวมจำนวน 11 ประเทศ พร้อมหนังสือจดหมายเหตุสิทธิบัตรฝนหลวง ซึ่งรวบรวมการดำเนินการการจดสิทธิ บัตรฝนหลวง ตั้งแต่ปี 2545-2550 และถือเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับสิทธิบัตรดังกล่าว

        เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต่อว่า การถวายสิทธิบัตรครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรฝนหลวงในชื่อ "Weather Modification by Royal Rainmaking Technology" เลขที่ 1491088 พร้อมได้ประกาศโฆษณาการรับจดทะเบียนใน European Patent Bulletin เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2548 โดยคณะกรรมการวิจัยฯ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้แทนพระองค์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2549 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ซึ่งสิทธิบัตรฝนหลวงได้รับความคุ้มครองสิทธิในประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป จำนวน 30 ประเทศ อาทิ สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ สเปน กรีช ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย เยอรมนี เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยมีประเทศที่ออกสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการให้จำนวน 10 ประเทศ คือ แอลเบเนีย ไซปรัส กรีช ลิทัวเนีย โมนาโก มาซิโดเนีย โรมาเนีย ตุรกี เดนมาร์ก และฝรั่งเศส   

        สำหรับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้รับอนุญาตให้นำสิทธิในกลุ่มสหภาพยุโรปไปขยายความคุ้มครองได้ และต่อมาสำนักสิทธิบัตรเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้ออกสิทธิบัตรฝนหลวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำสิทธิบัตรของทั้ง 11 ประเทศ พร้อมหนังสือจดหมายเหตุสิทธิบัตรฝนหลวงเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าถวายในครั้งนี้

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กก.วิจัยแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ สิทธิบัตรฝนหลวง อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2552 เวลา 10:08:42 11,576 อ่าน
TOP