x close

ยกฟ้อง คดีกล้ายาง หลุดทั้งยวง เนวิน น้ำตาคลอ

เนวิน ชิดชอบ


เนวิน ชิดชอบ



คดีกล้ายาง


ศาลฎีกาการเมืองตัดสินยกฟ้องคดีกล้ายาง (คมชัดลึก)

         เมื่อเวลา 14.00น. วันที่ 21 กันยายน คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกนั่งบัลลังค์อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพารา ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยื่นฟ้องนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ,นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมว.เกษตรฯ กับพวกรวม 44 คน ศาลได้ตัดสินว่า  จำเลยทั้ง 44 คน ไม่มีคำวามผิดจึงยกฟ้อง และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย

จำเลยคดีกล้ายางยิ้มกริ่มเข้าฟังคำพิพากษา

         ทั้งนี้เมื่อเวลา 12.00 น. บรรดาจำเลยในคดีกล้ายางในกลุ่มข้าราชการทยอยเดินทางมาถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 14 ซึ่งถูกฟ้องขณะเป็นอธิบดีกรมการค้าภายในและเลขานุการคชก. นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งถูกฟ้องในฐานะเป็นกรรมการคชก. ทั้งนี้พบว่านายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน และว่าที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ได้เดินทางมาให้กำลังใจนายศิริพล ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบันโดยเข้ามาจับมือทักทายนายศิริพลอย่างยิ้มแย้ม

         ขณะที่ช่วงบ่ายบรรดาจำเลยในกลุ่มนักการเมือง ได้ทยอยเดินทางมาถึงคนแรก คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ จำเลยที่ 1 ในคดี ได้เดินยิ้มแย้มเข้ามา ตามด้วยนายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีตรมว.เกษตรฯ นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง


         ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรดาแกนนำ รัฐมนตรีและส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยเดินทางมาให้กำลังใจนายเนวินและนายสรอรรถตั้งแต่ช่วงเที่ยง โดยกลุ่มแรกที่มาถึงคือกลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายอนุชา นาคาศัย แกนนำพรรค นางพรทิวา นาคาศัย เลขาธิการพรรค และ รมว.พาณิชย์ นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข โดยมีนายสนธยา คุณปลื้ม เดินทางมาพร้อมกันด้วย

         นอกจากนั้น มีกลุ่มเพื่อนเนวินทยอยเดินทางมา อาทิ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคและรมว.มหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ แกนนำพรรค นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคและรมช.มหาดไทย นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรฯ นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรค นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น

         กระทั่งเวลา 13.35 น. นายเนวิน ใส่สูทเน็คไทสีแดงมาพร้อมกับนายอนุทินด้วยรถคันเดียวกัน โดยนายเนวินลงจากรถด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

         ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำกรุงเทพได้เตรียมรถขนจำเลยคดีกล้ายางมาเตรียมพร้อมรอรับอยู่ที่ศาล หากศาลพิพากษามีความผิดก็พร้อมส่งตัวได้ทันที

         นางพรทิวา นาคาศัย เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ทางพรรคยังไม่ได้มีการพูดคุยชัดเจนกรณีหากผลการพิพากษาของศาลจะให้นายเนวิน ชิดชอบ และนายสรอรรถ กลิ่นประทุม แกนนำพรรคมีความผิด ว่าใครจะดูแลในการประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเรื่องที่ต้องให้หัวหน้าพรรคตัดสินใจ แต่คิดว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล แกนนำพรรคน่าจะทำหน้าที่ในการประสานพรรคร่วมรัฐบาลได้

         นางศุภมาส อิศรภักดี รองโฆษกพรรค กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พรรคมีการกำหนดจะจัดงานเลี้ยงของพรรคประจำทุกต้นเดือนอยู่แล้ว แต่เดือนนี้ ช่วงต้นเดือนนายเนวินก็ไปต่างประเทศ ประกอบกับช่วงเดือนนี้มีคดีหลายคดี และมีข่าวออกมาว่าจะเลี้ยงหลังหลุดคดี ทำให้พรรคก็คงเลื่อนไปจัดงานเลี้ยงไปเดือนต.ค.พร้อมกับงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดนายเนวินซึ่งตรงกับวันที่ 4 ต.ค.ทีเดียวเลย

         ส่วนที่นายชวรัตน์ระบุว่า พรรคเตรียมจัดงานเลี้ยงส.ส.ของพรรค ก็คงไม่ได้จัดงานเดือนนี้ นายชวรัตน์ คงหมายถึงไปจัดเดือนหน้า

         ด้านนายชนินทร์ แก่นหิรัญ ทนายความนายเนวิน กล่าวก่อนศาลจะมีคำพิพากษาว่า วันนี้จำเลยทุกคนมาฟังคำพิพากษา ยกเว้นนายอดิศัย เพราะมีความมั่นใจ เนื่องจากคดีนี้ฟ้องว่า การทุจริตเพราะการส่งมอบกล้ายาง มีต้นกล้ายางบางส่วนที่ตายราคาแพงและไม่ได้มาตรฐาน โดยก่อนจะทำสำนวนคดีก็มีการถ่ายภาพต้นกล้ายางที่กำลังตายมิตายแหล่ ทำให้เชื่อว่ามีการทุจริต ซึ่งในชั้นพิจารณาก็มีการนำสืบเรื่องราคา

         นอกจากนี้ ในการที่ทำสำนวนครั้งแรกก็ได้พิจารณากฎหมายเฉพาะบางส่วน แต่การพิจารณาก็ได้นำสืบว่ากฎหมายใดให้อำนาจดำเนินการได้บ้าง ส่วนที่จะหลุดคดีหรือไม่ ทนายความนายเนวินได้แต่ยิ้มอมยิ้ม

         นายทรงศักดิ์ ทองศรี แกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เขาได้คุยกับนายเนวิน ซึ่งได้บอกว่า ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ศาลจะพิจารณาอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น ไม่มีใครรู้คำพิพากษา เพราะเป็นความลับ มีแต่คนเดา หากนายเนวินต้องติดคุกพรรคก็มีโครงสร้างพรรคอยู่มีทั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค มีผู้ขับเคลื่อนพรรคอยู่แล้ว นายเนวินไม่เกี่ยวอะไรกับพรรคเลย


         เมื่อถามว่า จะมีการยื่นถวายฎีกาหรือไม่หากต้องติดคุก นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ต้องถึงวันนั้นก่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวนายเนวิน

         นายศุภชัย ใจสมุทร กล่าวว่า หากนายเนวินติดคุกพรรคก็จะเดินต่อไป โดยมีนายชวรัตน์ และนายอนุทิน ทำหน้าที่ต่อไป ส่วนจะยื่นฎีกาหรือไม่ พรรคไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ปล่อยเป็นการตัดสินใจของนายเนวินเอง

ย้อนรอยคดีทุจริตกล้ายาง

         คดีทุจริตกล้ายาง เป็นกรณีที่มีการฟ้องว่า มีการทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท โดยคดีนี้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ,นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมว.เกษตรฯ กับพวกรวม 44 คน เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

         ประกอบด้วย กลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม. คณะที่ 2 , กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ( คชก.) , กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารราผลประกวดราคาซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี , บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด เป็นจำเลย

         ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157, เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 , ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ประกอบ มาตรา 83 ,84 , 86 และ ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4,10 -14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11

         คดีนี้ อัยการสูงสุด เห็นว่าการแจ้งข้อหาของ คตส.ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากคตส. แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ยังมิได้แจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 151

         แต่คณะทำงานของ คตส. เห็นว่า ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อเท็จจริง รายละเอียดของการกระทำความผิดทั้งหมด ตามความผิดหลักแล้ว ส่วนในชั้นสรุปสำนวน เพิ่มบทกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นการปรับบท ซึ่งมีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานแล้ว จึงถือว่าได้แจ้งข้อกล่าวหาโดยชอบแล้ว เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน หาข้อยุติไม่ได้ คตส. จึงมีมติฟ้องคดีเอง

         ทั้งนี้คดีนี้ คตส.สรุปผลสอบโดยกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับพวก อนุมัติโครงการและอนุมัติการใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. 2534

         และการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการทำสวนยาง (สกย.) ใช้เงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง (CESS) ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 มูลค่าของการอนุมัติให้ใช้เงินในโครงการนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับการผลิตพันธุ์ยางมีมูลค่า 1,440 ล้านบาท

         นอกจากนั้น ยังตั้งข้อกล่าวหาคณะกรรมการประกวดราคาและบริษัทที่เข้าร่วมประมูล มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

         ในสำนวนคำฟ้อง คตส. ยังมีความเห็นว่า สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนและพยานเอกสาร พอสรุปได้ว่าความเสียหายได้แก่ เงิน คชก. ที่กรมวิชาการเกษตรเบิกไปจากกรมบัญชีกลางจำนวน 7 งวด และได้จ่ายให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ค่าเสียหายในส่วนที่คำนวณได้เป็นตัวเงินจำนวน 1,100.69 ล้านบาท

         ความผิดดังกล่าวนั้น บุคคลที่จะต้องรับผิดชอบในการชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ คตส. พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการ คชก. ในฐานะที่อนุมัติให้มีการใช้เงินคชก. และให้นำเงิน CESS มาใช้คืน คชก. นายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว

         นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในขณะนั้น คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด บริษัทรีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัทเอกเจริญการเกษตร จำกัด และกรรมการบริษัทเอกชนที่มีอำนาจทำการแทนบริษัททั้งสามบริษัท นายสกล บุญชูดวง, นายสำราญ ชัยชนะ, นายญาณกร สิงห์ชุม ต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวทั้งหมดโดยจะต้องรับผิดร่วมกันเต็มจำนวนความเสียหาย

         นอกจากความเสียหายดังกล่าวข้างต้นแล้ว คตส.ขอให้ข้อสังเกตในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรในโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะในปีที่ 1 เป็นผลมาจากการส่งมอบกิ่งยางชำถุงไม่ครบและมีอัตราการตายสูงเนื่องจากมีการส่งมอบนอกระยะเวลาตามสัญญาและกรณีที่ส่งมอบในระยะเวลาตามสัญญามีอัตราการตายสูงเนื่องจากภัยแล้ง

         ในปีที่ 2 การดำเนินการส่งมอบกิ่งยางชำถุงครบถ้วน อัตราการตายถือว่าต่ำ แต่ปีที่ 3 การส่งมอบขาดไปประมาณ 16ล้านต้น ส่วนการตายยังไม่ทราบ(เอกสารหน้าที่ 176 แฟ้มที่ 7)

         โครงการกล้ายาง 90 ล้านต้นมีการกำหนด TOR ให้ส่งมอบยาง 4 งวด ซึ่งการปลูกยางควรปลูกในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ไม่ควรเกินเดือนส.ค. การส่งมอบเดือนส.ค. เป็นการส่งในปลายฤดูฝน จะเกิดปัญหายางตาย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีต้นกล้ายางตายไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หาก TOR กำหนดให้ส่งมอบต้นฤดูฝน เปอร์เซ็นต์การตายของยางจะลดลง (เอกสารหน้า 200 แฟ้มที่ 7)

         สำหรับ มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐในคดีทุจริตกล้ายาง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) คณะกรรมการประกวดราคา บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล และผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ แยกตามฐานความผิด ได้ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย

         1. คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตร (คชก.) ประกอบด้วย

          - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการกลั่นกรองและประธาน คชก. 

          - นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในฐานะกรรมการ คชก. 

          - นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการ คชก. 

          - นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะกรรมการ คชก. 

          - นายพิศิษฐ เศรษฐวงศ์ รองปลัดกระทรวงพานิชย์ นายปริญญา อุดมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง

          - นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 

          - น.ส.บุญมี เลิศพิเชษฐ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเงินนอกงบประมาณ 

          - นางเสริมสุข ชลวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

          - นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน 

          - นายกรณรงค์ ฤทธิ์ฤาชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน 

          - นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง 

          - น.ส.สุชาดา วราภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 

         ทั้งหมดมีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 151และ 157

         ส่วน น.ส.สุกัญญา โตวิวิชญ์ ผู้บริหารส่วนวิเคราะห์ สาขาเศรษฐกิจ และ นายพิทยาพล นาถธราดล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา

         2. นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11

         3. นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายจิรากร โกศัยเสวี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ นายจำนง คงศิลป์ กรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาโครงการประกวดราคา นายสุจินต์ แม้นเหมือน นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการบริหารโครงการ นายสมบัติ ยิ่งยืน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล กรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11, 12 และมาตรา 83, 157 และ 341 ตามประมวลกฎหมายอาญา

         4. นายสกล บุญชูดวง ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธ์ จำกัด นายญาณกร สิงห์ชุม ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด นายสำราญ ชัยชนะ ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ในฐานะผู้เสนอราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4, 10, 11, 12, 13 และประมวลกฎหมายอาญา 86, 157, 341

         5. นายวัลลภ เจียรวนนท์ นายมิน เธียรวร นายประเสริฐ พุ่งกุมาร นายธีรยุทธ พิทยาอิสรกุล นายพงษ์เทพ เจียรวนนท์ นายเอี่ยม งามดำรง นายบุญเลิศ ประภากมล กรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด นายวรวิทย์ เจนธนากุล นางวิไลลักขณ์ รัตนสวัสดิ์ กรรมการบริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด น.ส.พัชรี ชินรักษ์ นางอนงนุช ภรณวลัย นางเจริญศรี ลือพัฒนสุข กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐมาตรา 4, 9, 10, 11, 12, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86, 157, 341

         6. นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ฐานเป็นผู้ริเริ่มโครงการมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 11, 12 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 84, 157, 341 และ

         7. นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 157, 341

         สำหรับโทษความผิดตามข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 โทษจำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 2,000-20,000 บาท, เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 ที่มีโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท,

         ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท ประกอบมาตรา 83, 84 และ 86 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 10-14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ,คมชัดลึก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยกฟ้อง คดีกล้ายาง หลุดทั้งยวง เนวิน น้ำตาคลอ อัปเดตล่าสุด 21 กันยายน 2552 เวลา 17:52:19 28,164 อ่าน
TOP