x close

ร่วมไว้อาลัย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล


บัณฑิต ฤทธิ์ถกล


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ, มติชนออนไลน์


          นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการภาพยนตร์ไทย สำหรับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของผู้กำกับชื่อดัง บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ซึ่งเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เวลา 10.50 น. หลัง บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เข้ารับการรักษาตัวในอาการป่วยโรคไตมากว่า 2 เดือน ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล วันนี้กระปุกดอทคอม จึงชวนกันมารำลึกถึง บัณฑิต ฤทธิ์ถกล พร้อมเกาะติดข่าวการร่วมไว้อาลัยของบรรดาคนบันเทิง และแฟนคลับที่มีต่อ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล กันค่ะ

          สำหรับศพ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ได้ตั้งสวดอภิธรรมที่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ศาลา 2 และจะมีทั้งสิ้น 7 วัน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความโศกเศร้า โดยเฉพาะ นันทนา คุ้มวงษ์ ผู้เป็นภรรยา และ ''น้องส้ม'' ธนธรณ์ ฤทธิ์ถกล บุตรสาวที่ยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสีย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล บุคคลอันเป็นที่รัก

งานศพ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
ร่วมไว้อาลัย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

งานศพ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
ร่วมไว้อาลัย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล



          โดย นางนันทนา ภรรยา ให้สัมภาษณ์ว่า บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นโรคไต ความดันต่ำ หัวใจ และเบาหวาน  โดยล่าสุดมีแผลที่หลังขาสองข้าง แพทย์จึงต้องใช้ spent ขดลวดตาข่ายพันไว้ เพื่อทำการขยายหลอดเลือด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้นัด บัณฑิต ฤทธิ์ถกล มาล้างทำความสะอาดแผล จากนั้นก็นอนที่โรงพยาบาลมาตั้งแต่นั้น และเมื่อช่วงเช้า พยาบาลได้นัดมาฟอกไต แต่ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นความดันต่ำอยู่ ตนก็ไม่อยากให้ฟอก แต่เนื่องจากพยาบาลเตรียมเครื่องมือมาแล้วก็เลยเกรงใจ จากนั้นระหว่างทำการฟอกไตอยู่ เขาก็เกิดอาการช็อกและหัวใจวายเสียชีวิตขณะฟอกไต ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร ไม่คิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ตนซึ่งเป็นอดีตพยาบาลก็มองว่าไม่น่าจะมีอะไร แต่อย่างไรก็ตาม ไม่โทษว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดของใคร ถือว่าอโหสิกรรมให้กันไปก็แล้วกัน

          ภรรยา บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ยังกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล มีอาการปวดแผลที่หลังขาทั้งสองข้างมาก แต่เมื่อ 2-3 วันก่อนหน้านี้ ก็กลับมีอาการดีขึ้น สบายดีทุกอย่าง ก่อนจะมาเสียชีวิตในวันดังกล่าว

          ขณะที่เหล่าดาราที่เคยร่วมงานกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ต่างยกย่องผู้กำกับฯ รุ่นใหญ่ว่า เป็นปูชนียบุคคลในวงการหนังไทย


งานศพ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
ดารา ร่วมไว้อาลัย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล



          โดย หนุ่ม สันติสุข พรหมศิริ อดีตพระเอกคู่บุญของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เผยว่า พอมารู้ว่า บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เสียชีวิตก็ใจหาย เพราะถือเป็นพี่ชายที่สนิทกันมาก ๆ เนื่องจากตนเล่นหนังของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เยอะที่สุด เรียกว่าเป็นคนรู้ใจกันเลยก็ได้ ซึ่งที่ตนมีวันนี้ได้ก็เพราะ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล หนังบุญชูทำให้มีตัวตน บัณฑิต ฤทธิ์ถกล จึงถือว่าเป็นผู้กำกับฯ ที่สนิท และร่วมงานกันมามากที่สุด และหนังของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นหนังที่มีสไตล์ความเป็นไทย ที่คงจะหาใครสร้างได้เหมือนไม่ได้อีกแล้ว รู้สึกเสียดาย ที่วงการหนังไทยต้องเสียผู้กำกับฝีมือดี และคนที่มีมุมมองในแง่สร้างสรรค์

          ด้าน แหม่ม จินตรา สุขพัฒน์ ดาราคู่ขวัญกับสันติสุข กล่าวว่า รู้สึกตกใจมาก พอรู้ข่าวก็รีบมาเลย รู้จักนับถือ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นเสมือนพี่ ก็เสียดายไม่คิดว่าจะไปไวขนาดนี้ แต่ต้องยอมรับว่าแกไปสบายแล้ว

          ขณะที่ วัชระ ปานเอี่ยม นักแสดง ผู้กำกับ และนักร้องชื่อดัง กล่าวว่า บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ถือเป็นคนให้อนาคตทางวงการบันเทิงกับตน เนื่องจากตนจบมาทางด้านสถาปัตย์และไม่มีความรู้ทางด้านการแสดง แต่ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ก็ชวนตนมาเล่นหนังจนมีชื่อเสียง ทั้งนี้ ตนยังเคยบอกกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ว่า ถ้าจะให้เล่นก็ต้องสอน ซึ่งที่ผ่านมา บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ก็สอนตนมาตลอดจนมีความเชี่ยวชาญ พร้อมระบุว่า ตนจะช่วยทำภาพยนตร์เรื่องบุญชู 10 ต่อให้เสร็จ เพราะเหมือนเป็นความฝันของอาที่อยากทำให้เสร็จ 


ด้วยเกล้า บัณฑิตฤทธิ์ถกล
ด้วยเกล้า โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล


          ขณะที่ อาร์ตี้- ธนฉัตร ตุลยฉัตร  พระเอกจากภาพยนตร์เรื่องบุญชู 9 และอนึ่งคิดถึงเป็นอย่างยิ่ง  ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนที่ทราบว่า ผู้กำกับชื่อดังอาการไม่ค่อยดี ตนกำลังนั่งกินข้าวอยู่กับพ่อ ก็มีผู้ใหญ่โทรมาบอกว่า  บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ป่วยหนักก็จะรีบกินและไปเยี่ยม แต่หลังจากนั้น 10 นาทีต่อมาก็มีคนโทรมาบอกว่า บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เสียชีวิตแล้ว ก็ใจหายครับ ทุกอย่างเกิดเร็วมาก ตอนนี้ก็ยังงงอยู่ แต่ก็คิดว่า อาไปสบายแล้ว

          ส่วนเรื่องหนังบุญชู 10 ที่กำลังจะเปิดกล้องกลางเดือนตุลาคมนี้นั้น อาร์ตี้ กล่าวว่า ถ้ายังมีการเปิดกล้องอยู่ ก็อยากบอกกับอาว่าไม่ต้องกังวล ทีมงานทุก ๆ คนจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่และจะสานต่อทุกอย่างให้ดีทีสุด 

          ด้าน อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับชื่อดัง กล่าวว่า  พอเห็นการตายของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ก็ทำให้รู้ว่า ต่อไปนี้อยากทำอะไรก็ต้องรีบทำ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีโอกาสอีก

          ขณะที่ อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร ผู้บริหารสาวของค่ายไฟว์สตาร์ฯ ได้กล่าวถึงกรณีที่โปรเจคท์หนังบุญชู ภาค 10 ของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ซึ่งเตรียมกำกับแต่เจ้าตัวได้เสียชีวิตลงก่อนว่า คงจะมีการปรึกษาหารือกับทางครอบครัวของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล และทางทีมงานอีกครั้งว่าจะมีการทำต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้ เดิมทีหนังมีกำหนดเปิดกล้องเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้ว และหนังมีกำหนดฉายไว้แล้ว แต่จากอาการป่วยของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ทำให้กำหนดการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป สำหรับผลกระทบของการสูญเสียครั้งนี้ คือการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของปูชนียบุคคลแห่งวงการภาพยนตร์ไทย ที่แม้แต่เด็กรุ่นหลังยังยอมรับว่า เป็นคนที่มีความสามารถและมีมุมมองบางอย่างที่ต้องทึ่ง

          ส่วนที่ว่าจะเอาใครมาเป็นผู้กำกับแทน บัณฑิต ฤทธิ์ถกล นั้น น.ส.อภิรดี กล่าวว่า ต้องรอหลังงานศพเรียบร้อย แต่ที่เคยคิดไว้ก่อนหน้าที่อาเสียชีวิต ก็มีคุย ๆ กันว่า จะเอาพวกซูโม่ทั้งหลายมาช่วยอากำกับไหม อาก็ได้แต่ยิ้มไม่พูดอะไร ตนเข้าใจว่า อามีความสุขที่ได้ทำงาน วันไหนที่ไม่สบาย แต่ได้มานั่งอยู่ในกองถ่าย อาก็มีความสุขแล้ว ส่วนเรื่องชื่อตอน บุญชู 10 ก็ตั้งไว้แล้วว่า  "บุญชู 10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น"  ซึ่งอาตั้งใจมาก และยังเคยคุยกันว่า จะต่อยอดเป็น บุญชู 11 พอมา บุญชู 12  ก็เท่ากับหนึ่งโหล ก็จะไม่เอาแล้ว จบแค่ บุญชู 11 พอ


 ย้อนรำลึกวันวานของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล


          บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2494 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีชื่อเล่นว่า บอย ปัจจุบัน บัณฑิต ฤทธิ์ถกล อายุ 58 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา และอัสสัมชัญพานิช เมื่อเรียนจบ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และได้เป็นคอลัมนิสต์วิจารณ์ภาพยนตร์ ในนามปากกาว่า "ทองผ่าน" 

          ก่อนที่ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล จะเข้ามามีบทบาทในวงการภาพยนตร์ ด้วยการเขียนบท และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ในเวลาต่อมาหลายเรื่อง ทั้ง โบตั๋น (2518), เสือภูเขา (2522), ไอ้ผาง ร.ฟ.ท. (2525), ทอง ภาค 2 (2525) จนเมื่อปี พ.ศ. 2526 บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ได้ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์เต็มตัว ด้วยการรับหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต คือเรื่อง "คาดเชือก" ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2527 แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ได้เป็นที่รู้จักด้วยการกำกับภาพยนตร์ เรื่อง "ด้วยเกล้า"  ซึ่งเป็นภาพยนตร์ฉลองพระราชวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา 

บุญชู บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
บุญชู โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล


          แต่ภาพยนตร์ที่ทำให้ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล โด่งดังสุด ๆ คือผลงานสุดฮาอย่าง "บุญชูผู้น่ารัก" ในปี พ.ศ. 2531 ที่นอกจากจะส่งให้ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นที่รู้จักแล้ว ยังทำให้พระนางของเรื่อง คือ สันติสุข พรหมศิริ และจินตหรา สุขพัฒน์ ที่มี บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นผู้ผลักดัน กลายเป็นคู่ขวัญที่โด่งดังไปตาม ๆ กันด้วย จน  บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ได้มากำกับ "บุญชู" ภาคต่อ ๆ มาตามคำเรียกร้องของแฟน ๆ จนกระทั่งภาพยนตร์เรื่อง "บุญชู" ดำเนินมาถึงภาคที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2536 ก็ทำรายได้รวมกว่า 100 ล้านบาท จนมีคนตั้งฉายาให้ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ว่า "ผู้กำกับร้อยล้าน" และ "นักเขียนบทภาพยนตร์หมายเลขหนึ่ง"


อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล


          ผลงานที่สำคัญของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล นอกจาก บุญชู แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น โก๊ะจ๋าป่านะโก๊ะ, อนึ่งคิดถึงพอสังเขป, สตางค์, ชื่อชอบชวนหาเรื่อง, 14 ตุลา สงครามประชาชน ฯลฯ กวาดรางวัลสำคัญ ๆ มาจนนับไม่ถ้วน เช่น รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเรื่อง อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป, กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ ,14 ตุลา สงครามประชาชน รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหลายเวที

14 ตุลา สงครามประชาชน
14 ตุลา สงครามประชาชน โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล


          ก่อนที่ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้กำกับมือทอง จะเสียชีวิตลงด้วยวัย 58 ปี  หลังหัวใจวาย อันเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคไต ที่ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล รักษาตัวมานานหลายปี โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ก็ได้ฝากผลงาน เรื่อง อนึ่งคิดถึงเป็นอย่างยิ่ง ไว้เป็นผลงานสุดท้ายของชีวิต และนอกจากนี้ยังมีผลงานที่เตรียมจะเปิดกล้องถ่ายทำ คือเรื่อง "บุญชู 10" อีกด้วย

          ทีมงานกระปุกดอทคอม จึงขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ไว้ ณ ที่นี้ค่ะ

 ผลงานกำกับภาพยนตร์ของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล

        • คาดเชือก (2527) 
        • มือเหนือเมฆ (2527) 
        • คนดีที่บ้านด่าน (2528) 
        • คู่วุ่นวัยหวาน (2529) 
        • ด้วยเกล้า (2530) 
        • ปัญญาชนก้นครัว (2530) 
        • บุญชูผู้น่ารัก (2531) 
        • บุญชู 2 น้องใหม่ (2532) 
        • บุญชู 5 เนื้อหอม (2533) 
        • ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 (2533) 
        • โก๊ะจ๋าป่านะโก๊ะ (2534) 
        • บุญชู 6 โลกนี้ดีออก สุดสวย น่ารักน่าอยู่ ถ้าหงุ่ย (2534) 
        • เจาะเวลาหาโก๊ะ (2535) 
        • อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป (2535) 
        • บุญชู 7 รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ (2536) 
        • กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (2537) 
        • หอบรักมาห่มป่า (2537) 
        • บุญชู 8 เพื่อเธอ (2538) 
        • อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป รุ่น 2 (2539) 
        • สตางค์ (2543) 
        • 14 ตุลา สงครามประชาชน (2544) 
        • สาปเสือที่ลำน้ำกษัตริย์ (2545) 
        • ชื่อชอบชวนหาเรื่อง (2546) 
        • อุกกาบาต (2547) 
        • พระ เสือ เด็ก ไก่ วอก (2549) 
        • ข่าวที่ไม่สำคัญ (My First Report) (2550) ภาพยนตร์สั้นในชุด แด่พระผู้ทรงธรรม
        • บุญชู ไอ-เลิฟ-สระ-อู (2551) 
        • อนึ่ง คิดถึงเป็นอย่างยิ่ง (2552)

 รางวัลที่ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เคยได้รับ

รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี


        • ผู้กำกับยอดเยี่ยม พ.ศ. 2544 จากเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน
        • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2532 จากเรื่อง  บุญชู 2 น้องใหม่
        • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2544 จากเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน
        • บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2533 จากเรื่อง ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44
        • บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม พ.ศ. 2544 จากเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน

รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ

        • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2530 จากเรื่อง ด้วยเกล้า
        • บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2530 จากเรื่อง ด้วยเกล้า

รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์

        • ผู้กำกับยอดเยี่ยม พ.ศ. 2535 จากเรื่อง อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป
        • ผู้กำกับยอดเยี่ยม พ.ศ. 2537 จากเรื่อง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้
        • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2535 จากเรื่อง อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป
        • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2537 จากเรื่อง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้
        • บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2537 จากเรื่อง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้

รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง

        • ผู้กำกับยอดเยี่ยม พ.ศ. 2533 จากเรื่อง ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44
        • ผู้กำกับยอดเยี่ยม พ.ศ. 2535 จากเรื่อง อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป
        • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2533 จากเรื่อง ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44
        • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2535 จากเรื่อง อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป
        • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2544 จากเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน
        • บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2533 จากเรื่อง ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44
        • บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ.ศ. 2544 จากเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน






ขอขอบคุณข้อมูลจาก
      
nangdee.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ร่วมไว้อาลัย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล อัปเดตล่าสุด 11 พฤษภาคม 2559 เวลา 15:53:47 20,078 อ่าน
TOP