x close

ปิดฉาก ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

ประชุมอาเซียน

ประชุมอาเซียน



ปิดฉากอาเซียน "เอดีบี" ปรับเศรษฐกิจเอเซียตะวันออกเพิ่มขึ้น ชี้"อาเซียน+6"ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ (มติชนออนไลน์)

          ปิดฉากแล้วเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน - คู่เจรจา "มาร์ค" ขอบคุณชาวชะอำ - หัวหิน ที่ต้องลำบาก นายกฯออสซี่-  ผู้นำญี่ปุ่น เสนอขยายวงรวมกลุ่มใหม่ หวังมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก "เอดีบี" ปรับประมาณการ เศรษฐกิจเอเซียตะวันออกปีนี้เพิ่มจาก 3.4% เป็น 3.9% ปีหน้าจาก 6% เป็น 6.4% ชี้ อาเซียน +6 มีบทบาทสำคัญพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

"อภิสิทธิ์" ยันดันอาเซียนก้าวหน้า

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ เมื่อเช้าวันที่ 25 ตุลาคมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ว่า งานนี้เป็นงานสุดท้ายในฐานะประธานของอาเซียน ตลอดเวลา 10 เดือนที่เป็นประธานอาเซียน เราได้ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในแง่ของการรวมกลุ่มของประชาคมอาเซียนได้ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งเรื่องความร่วมมือทางด้านการเมือง ด้านความมั่นคง ที่สำคัญคือการจัดตั้งกลไกเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับอาเซียนขึ้นเป็นครั้งแรก และในด้านเศรษฐกิจเราก็จะรวมตัวกันตั้งตลาดเดียว ในอีก 6 ปีข้างหน้า

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้มีผู้นำจากประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ต่างก็พึงพอใจกับระดับความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศอาเซียน และจะมีความร่วมมือที่จะผลักดันเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงประเทศในอาเซียนเข้าด้วยกัน หรือจะเป็นเรื่องความร่วมมือในการเปิดเสรีทางด้านการค้า การลงทุน เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ ผมถือว่าเราได้วางรากฐานที่ดีสำหรับการเดินหน้าของประชาคมอาเซียน

บอกผู้นำให้กำลังใจเจอเหตุป่วน

เมื่อถามว่า มีผู้นำบางประเทศกระซิบถามบ้างหรือไม่ว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะสงบ

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า
ไม่มี ส่วนใหญ่ให้กำลังใจ เนื่องจากรู้ว่ามันก็เป็นปัญหาเรื่องของการเมือง และปัญหาก็ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นในปีนี้ แต่มันสะสมมา เขารู้ว่าตนมีหน้าที่มาแก้ ตนไม่ได้ก่อ เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ก็ให้กำลังใจ และตนคิดว่าหลายคนก็เข้าอก เข้าใจ และความรู้สึกนี้ก็มีมาตั้งแต่หลังจากที่เกิดเรื่องที่พัทยา 

เมื่อถามว่า การใช้ตำรวจ และทหาร 18,000 นาย เมืองไทยไม่เคยมีมาก่อน

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า
ถ้าไม่มีเหตุที่พัทยา ก็คงไม่ต้องทำกันถึงขนาดนี้ ตนต้องสารภาพว่าประเมินผิดไป เพราะคิดว่าคนไทยจะไม่ทำกันถึงขนาดนั้น

เมื่อถามว่าเหตุการณ์ที่พัทยาถือว่าเสี่ยงตายที่สุดในชีวิต 

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า
ชีวิตมันก็เสี่ยงภัยอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วเพราะยังไม่ทันได้เป็นนายกฯก็เคยถูกตีที่เชียงใหม่แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องนั้นไม่สำคัญเท่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นในส่วนรวม 

เมื่อถามว่า คนเสื้อแดงบอกว่า ใช้งบประมาณมากมาย เกินเหตุและแตกตื่นไปเอง 

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า
ตนไม่ได้แตกตื่นเกินเหตุ แต่มีหน้าที่รักษาบรรยากาศของบ้านเมือง ถ้าครั้งนี้มีปัญหาอีกความเสียหายจะขนาดไหน

นายกฯ ขอบคุณคนชะอำ - หัวหิน

          ต่อมานายอภิสิทธิ์ แถลงข่าวปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 15 และการเจรจากับคู่เจรจา ร่วมกับนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การจะสร้างให้อาเซียน 10 ประเทศมารวมเป็นประชาคมได้ต้องครอบคลุม 3 เสาหลัก คือ 

          1.ด้านการเมืองความมั่นคง การประชุมครั้งนี้ทำให้มีกลไกสิทธิมนุษยชน และผู้นำก็พูดคุยตกลงเรื่องความมั่นคง โดยภารกิจหลักของที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมต้องช่วยเรื่องภัยพิบัติ

          2.เศรษฐกิจจะแข่งขันได้ในอนาคตมีผู้บริโภคโดยมีประชากร 600 กว่าล้านคน เป็นวิธีเดียวที่ทำให้ภูมิภาคนี้แข่งขันได้ อย่างจีนและอินเดียทำให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจแน่นแฟ้นขึ้น

          3.สังคมและวัฒนธรรม เรามีความเชื่อว่าให้สังคมแต่ละประเทศมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องค้าขายและการเมืองอย่างเดียวแต่ต้องมีความรู้สึกแน่นแฟ้นในหมู่อาเซียนด้วยกัน

          "ผมขอขอบคุณประชาชนชาวชะอำและหัวหิน ยอมรับว่าเวลาที่ผ่านมามีความลำบากมากมาย แต่การเสียสละครั้งนี้ไม่ใช่แค่การทำเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล แต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของชาติและของคนในภูมิภาค ที่สำคัญเมื่อการประชุมครั้งนี้สำเร็จลง ได้สร้างความมั่นใจและความประทับใจให้บรรดาผู้นำอาเซียน" นายอภิสิทธิ์กล่าว

เลขาฯ อาเซียนให้เข้าหาปชช.มากขึ้น

          นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ขอแสดงความซาบซึ้งอย่างจริงใจที่ประเทศไทยได้ทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนตลอด 1 ปี ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี การปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนทำให้อาเซียนเข้าหาประชาชนในภูมิภาคมากขึ้น แต่การจะนำสิ่งต่างๆ ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 

          นายสุรินทร์กล่าวว่า ในเวทีระดับโลก อาเซียนเป็นที่ยอมรับเห็นได้จากการเข้าร่วมประชุมจี 20 ขณะนี้โลกกำลังมองมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออก จึงจำเป็นที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้จะต้องมีความรับผิดชอบและทำงานร่วมกัน เนื่องจากทั้ง 16 ประเทศมีเงินทุนระหว่างประเทศถึงเกือบร้อยละ 50 ของโลก และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 20 จึงเป็นเรื่องดีที่เวทีภูมิภาคนี้จะได้ผลักดันเศรษฐกิจโลก

          "ขณะนี้อาเซียนในฐานะแกนนำภูมิภาคเอเชียตะวันออกกำลังแสดงบทบาทได้เป็นอย่างดี และจะเป็นตัวแทนเข้าประชุมจี 20 ครั้งต่อไป ทั้งที่ประเทศแคนาดา และเกาหลีใต้" นายสุรินทร์กล่าว

เอดีบีชี้อาเซียน+6 ช่วยฟื้นเศรษฐกิจโลก

          ก่อนหน้านั้น การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในวันสุดท้ายเริ่มขึ้นในช่วงเช้าโดยเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน +6 คือจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 

          ทั้งนี้ ผู้นำทั้ง 16 ประเทศได้รับฟังการบรรยายสรุปจากผู้แทนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) โดยรับทราบว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีสัญญานของการฟื้นตัว และหลายประเทศสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาสู่การขยายตัวแล้ว โดยเร็วๆ นี้เอดีบีปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกในปี 2552 จากร้อยละ 3.4 เป็นร้อยละ 3.9 และในปี 2553 จากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 6.4 อาเซียน+6 จึงมีบทบาทสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลก รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างทางการเงินการคลังของโลกด้วย

แนะ 16 ประเทศกระตุ้นกำลังซื้อ

          นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายประเทศประกาศใช้เริ่มส่งผล อาเซียน +6 จึงต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะหยุดใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเองในช่วงเวลาใด เพื่อไม่ให้เป็นการส่งสัญญาณผิดต่อการฟื้นตัวที่ยังมีความเปราะบางสูง อย่างไรก็ดีเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ประเทศต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศควบคู่กับการลดการพึ่งพาการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างไม่สมดุล 

          ส่วนข้อเสนอให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก รวมถึงข้อเสนอให้จัดตั้งความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านของเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นข้อเสนอจากการประชุมสุดยอดอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ที่ประชุมหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าของการหารือในเรื่องนี้ต่อไป

ดันอาเซียน +3 สำรองข้าวถาวร

          ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ร่วมกับนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน นายยูกิโอะ ฮาโตยามา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายอี มยอง บัก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงิน สาธารณสุข และการศึกษา โดยมีการรับรองแถลงการณ์ชะอำหัวหินว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาพลังงานชีวภาพในกรอบอาเซียน+3 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออก 

          "โครงการสำรองข้าวฉุกเฉินเป็นโครงการนำร่องที่มีสำนักงานชั่วคราวอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และจะปรับให้เป็นกลไกถาวร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะข้าว ภายใต้โครงการนี้ จีนได้สำรองข้าว 300,000 ตัน ญี่ปุ่น 250,000 ตัน และอาเซียน 87,000 ตัน โดยไทยร่วมสำรอง 15,000 ตัน"  นายอภิสิทธิ์กล่าว

เร่งตั้งกองทุน 1. 2แสนล้านดอลล์

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงิน เป็นสาขาที่มีความก้าวหน้าและได้รับความสนใจมากที่สุดในกรอบอาเซียน+3 โดยเฉพาะการเร่งรัดการจัดตั้งกองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปี 2552 เพื่อช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคในกรณีที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง และการจัดตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อติดตามสภาวะทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยไทยแสดงความพร้อมที่จะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานฯ ดังกล่าว และการเร่งรัดมาตรการริเริ่มเพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย เป็นการระดมเงินทุนในภูมิภาคเพื่อการพัฒนาภายในภูมิภาคเอเชีย ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ญี่ปุ่นยังได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง East Asia community (EAC)

จีนให้ไทยยึด "ครอบครัวเดียวกัน"

          วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ยังได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี 3 ประเทศ คือนายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย โดยนายอภิสิทธิ์แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานข้อกำหนดด้านภาษาอังกฤษสำหรับแรงงานต่างชาติในออสเตรเลียที่ไทยเห็นว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อพ่อครัวแม่ครัวไทยและกิจการร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย โดยนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียรับปากจะนำข้อห่วงใยของไทยไปพิจารณาอีกครั้ง ขณะที่การพบกับนายจอห์น เคย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ก็แสดงความชื่นชมที่ไทยสามารถจัดประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี 

          ส่วนการหารือกับนายเวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีน ชื่นชมการจัดเตรียมงานการประชุมครั้งนี้รวมถึงการแสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในฐานะประธานอาเซียนของไทยที่ช่วยส่งเสริมบทบาทของจีนต่อความร่วมมือกับอาเซียนในหลายด้าน  ขณะที่นายอภิสิทธิ์ได้ขอบคุณรัฐบาลจีนที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการของอาเซียน พร้อมกับถือโอกาสเชิญนายกรัฐมนตรีจีนเดินทางเยือนประเทศไทยในปีหน้าในโอกาสครบรอบ 35 ปีของความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งจีนเห็นว่าทั้งสองประเทศควรรักษาประเพณีการเป็นครอบครัวเดียวกันให้ยั่งยืนต่อไป

          ทั้งนี้ จีนยินดีต่อท่าทีของเชิงบวกของไทยต่อโครงการความร่วมมือรถรางและหัวรถจักร ตลอดจนความร่วมมือด้านพลังงานโดยจีนได้เสนอสินเชื่อเพื่อการส่งออกต่อไทยเพื่อเสริมสร้างโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในไทย

"ออสซี่ - ญี่ปุ่น" เสนอรวมกลุ่มใหญ่

          ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ที่ประชุมอาเซียน +6 นายเควิน รัดด์ นายกฯออสเตรเลียได้เสนอการรวมตัวตั้งประชาคมในเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่นายยูคิโอะ ฮาโตยาม่า นายกฯญี่ปุ่น เสนอการรวมกลุ่มเอเชียตะวันออก โดยมีเป้าหมายคล้ายกันคือการสร้างให้ภูมิภาคนี้มีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นในระดับโลก เมื่อรวมกันแล้วภูมิภาคนี้จะมีประชากรรวมกันเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)รวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของจีดีพีทั้งโลก

          นายกฯ ออสเตรเลียกล่าวถึงข้อเสนอของตนว่า ไม่ได้เป็นเรื่องเร่งร้อนรีบด่วน เพียงเสนอไว้ว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นไปได้ในปีค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ขณะที่นายฮาโตยาม่า กล่าวว่า การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกนั้นสามารถเป็นไปได้ผ่านการร่วมกันสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในหลายๆ ส่วน ซึ่งในที่สุดจะค่อยๆนำไปสู่ความเข้าใจร่วม ซึ่งกันและกันในที่สุด 

          ทั้งนี้ ประชาคมเอเชียตะวันออกตามข้อเสนอของญี่ปุ่นจะมี 16 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ขณะที่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ของนายรัดด์นั้นไม่ได้ระบุจำนวนสมาชิกเอาไว้ อย่างไรก็ตามข้อเสนอของญี่ปุ่นทำให้เกิดการถกกันถึงบทบาทของสหรัฐที่จะมีขึ้นในการรวมตัวดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าควรรวมสหรัฐเข้าไว้ด้วยเพื่อถ่วงอิทธิพลของจีนในอนาคต

          เอเอฟพีระบุว่า แม้แผนการรวมตัวกันเป็นประชาคมยังขาดรายละเอียดและเต็มไปด้วยความท้าทายหลายประการ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า พื้นฐานสำคัญต่าง ๆ ที่นำไปสู่การรวมตัวดังกล่าวดำเนินการมานานแล้วภายใต้แนวความคิด "ศตวรรษเอเชีย"

เวียดนามรับไม้ต่อประธานอาเซียน

          ต่อมานายเหวียน เติน สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนคนต่อไป ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์โดยแสดงความชื่นชมการจัดการประชุมและการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการวางรากฐานที่จะนำไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมยืนยันว่าเวียดนามจะทำหน้าที่อย่างมุ่งมั่นและจะแปลงวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง 

          จากนั้นผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศถ่ายรูปหมู่ร่วมกันบนเวที และมีการบรรเลงเพลงประจำอาเซียน อาเซียน เวย์ ( ASEAN Way) ก่อนที่ผู้นำอาเซียนรวมถึงผู้นำประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ จะทยอยเดินทางกลับประเทศ 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการหารือผู้นำอาเซียนและผู้นำจีนได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสารสำคัญ  5 ฉบับ คือความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของอาเซียน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์อาเซียน-จีน บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาเซียน-จีนเกี่ยวกับความร่วมมือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาเซียน-จีนว่าด้วยการสร้างเสริมความร่วมมือทางด้านมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบและการรับรอง และบันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงตามแนวเศรษฐกิจเหนือ - ใต้ (ห้วยทราย - เชียงของ)


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปิดฉาก ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2552 เวลา 13:58:55 3,942 อ่าน
TOP