x close

เหตุผล - ข้อกำหนด พ.ร.บ.มั่นคงทั่วกทม.

เสื้อแดง

เสื้อแดง


เหตุผล - ข้อกำหนด พ.ร.บ.มั่นคงทั่วกทม. (มติชน)

          กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เสนอเหตุผลประกอบการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่ กทม. ดังนี้


          ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายนเป็นต้นไป มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการที่มีกล่มบุคคลบางกลุ่มได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน ในการปลุกระดมและนัดชุมนุมให้เข้าร่วมในการเรียกร้องความต้องการตามแนวทางและผลประโยชน์ของกลุ่ม มุ่งหวังเพื่อกดดันให้นายกฯยุบสภาหรือลาออก โดยกำหนดให้มีการชุมนุมและเคลื่อนไหวตามถนนและสถานที่สำคัญในเขต กทม. ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตโดยปกติของประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ประกอบกับการชุมนุมดังกล่าวมีเจตนาดำเนินการในลักษณะยืดเยื้อ และอยู่ในห้วงการจัดงานพระราชพิธี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มก่อเหตุระหว่างการชุมนุม และขยายลุกลามจนเกิดสถานการณ์ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

          จึงเสนอประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่ กทม. ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน - 14 ธันวาคม 2552 โดยให้ กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ กำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานเพื่อปฏิบัติภารกิจนี้เป็นการเฉพาะ

          ทั้งนี้ มอบให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคง

          เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผอ.รมน. โดยความเห็นชอบของ ครม. ออกข้อกำหนด ดังนี้


          1. ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.ตามแผนการ เพื่อดำเนินการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง แก้ไขบรรเทาเหตุการณ์

          2. ห้ามบุคคลใดเข้าออก หรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.

          3. ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน

          4. ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

          5. ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะการใช้ หรือภายในบริเวณพื้นที่ที่ ผอ.รมน.ประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน

          นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายจำนวน 14 ฉบับ โดยการใช้กฎหมายให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ อาทิ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2493 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เหตุผล - ข้อกำหนด พ.ร.บ.มั่นคงทั่วกทม. อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2552 เวลา 10:21:51 9,297 อ่าน
TOP