x close

รอยเตอร์สชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงการเมืองไทย

เสื้อแดง

 



รอยเตอร์สชี้5ปัจจัยเสี่ยงการเมืองไทย จับตาศึกเลือกตั้ง คาดปชป.แพ้ ม็อบเหลืองประท้วงยืดเยื้อวุ่นอีก (มติชนออนไลน์)

           รอยเตอร์สวิเคราะห์หลายปัจจัยเสี่ยงอนาคตการเมืองไทย ชี้จับตาโอกาสปชป.แพ้หรือชนะเลือกตั้ง-นปช.ประท้วงยืดเยื้อกดดันยุบสภา รวมทั้งพฤติกรรมคอรัปชั่น มาบตาพุด และสถานการณ์ไฟใต้

           สำนักข่าวรอยเตอร์สได้วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงอนาคตของ "การเมืองไทย" โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ไทยยังคงมีความขัดแย้งแตกขั้วอย่างรุนแรง และยังไม่มีทีท่าที่จะยุติ และไทยมีรัฐบาลไปแล้วถึง 6 รัฐบาล นับตั้งแต่การยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่ความขัดแย้งดังกล่าวยังเพิ่มทวีขึ้นจากกรณีสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อนบ้านของไทย ประกาศสนับสนุน พ.ต.ท. เป็นพันธมิตรทางการเมือง

           โดยรอยเตอร์สระบุว่า ปัจจัยแรก ที่จะต้องจับตาต่ออนาคตการเมืองไทยก็คือ สถานภาพของพรรคร่วมรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยังคงไม่มั่นคง และไม่แน่ว่าจะสามารถชนะเลือกตั้งได้หรือไม่ โดยหากพรรคประชาธิปัตย์สามารถชนะเลือกตั้ง ก็จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นของไทย แต่หากพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นฝ่ายชนะ ก็จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นไทย เพราะกลุ่มเสื้อเหลืองจะออกมาประท้วงต่อต้านชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเท่ากับว่าการเมืองไทยจะมีเกิดการชุมนุมประท้วงกันอีก

           ส่วนปัจจัยสองก็คือ สถานการณ์รุนแรงครั้งใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น ในช่วงเดือนมกราคม โดยกลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช.หรือกลุ่มเสื้อแดง ที่วางแผนจะผลักดันครั้งใหญ่เพื่อล้มรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดยกลุ่มได้ประกาศจะเปิดฉากการชุมนุมยืดเยื้อ ซึ่งเป็นช่วงตรงกับช่วงฝ่ายค้านเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยพรรค เพื่อไทย ซึ่งจะพยายามบีบให้รัฐบาลยุบสภา รวมทั้งยังเกิดขึ้นใกล้กับช่วงที่จะมีการพิจารณาคดียึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 2,200 ล้านดอลลาร์ด้วย

           ปัจจัยที่สามก็คือ กรณีของเขตนิคมอุตสาหกรรม "มาบตาพุด" ซึ่งศาลมีคำสั่งระงับชั่วคราว 65 โครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมนี้ หลังจากก่อปัญหาด้านมลพิษให้แก่ชาวบ้าน โดยกรณีนี้กำลังสร้างความวิตกให้แก่นักลงทุนเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการแก้ไข ปัญหาของรัฐบาล และยังอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของกิจการสยามซีเมนต์ และกิจการพลังงานปตท. ขณะที่ธนาคารชาติ ระบุว่า หากปัญหามาบตาพุดยังคงยืดเยื้อ อาจฉุดการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศลง 0.5 %

           ปัจจัยที่สี่คือ ปัญหาคอรัปชั่นและธรรมาภิบาล โดยที่ผ่านมาเมืองไทยถูกเข้าใจอย่างกว้างขวางว่า มีปัญหาคอรัปชั่นมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่การเมืองไร้เสถียรภาพ โดยนักลงทุนได้จับตาดัชนีการจัดอันดับประเทศคอรัปชั่นของไทยจากหน่วยงานตรวจ สอบความโปร่งใสระหว่างประเทศ ซึ่งปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของไทยในระยะยาว

           และปัจจัยที่ห้าก็คือ สถานการณ์รุนแรงในภาคใต้ จากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิม ซึ่งก่อเหตุนองเลือดมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าปัญหานี้จะมีผลกระทบน้อยต่อตลาด แต่ก็ถือว่ามีอิทธิพลที่สร้างความวิตกให้แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รอยเตอร์สชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงการเมืองไทย อัปเดตล่าสุด 17 ธันวาคม 2552 เวลา 17:03:56 10,629 อ่าน
TOP