x close

นักวิชาการฟันธง รัฐบาลไม่แตก ชี้พรรคร่วมไม่กล้าตีจาก

นักวิชาการ

นักวิชาการฟันธง รัฐบาลไม่แตก ชี้พรรคร่วมไม่กล้าตีจาก (ไทยรัฐ)

          เมื่อวันที่ 31 มกราคม ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์ "ไทยรัฐออนไลน์" ถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้มาตราเดียวที่ทุกพรรคการเมืองเห็นร่วมกันที่จะแก้ไขคือมาตรา 190 มาตราเดียว ส่วนมาตราอื่นนั้นยังขัดแย้งและมีจุดยืนที่แตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 94 ที่จะให้มีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์รับไม่ได้ เพราะถือว่าตัวเองได้เปรียบได้รับ ความนิยมในวงกว้าง ส่วนพรรคอื่นมองว่าต้องการแก้เพื่อให้การบริหารการจัดการเลือกตั้งได้ง่าย ในนามตัวบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทั้งสองรูปแบบจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งได้ทั้งหมด ทั้งนี้คิดว่า ณ เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่เร่งด่วนที่จะมาว่ากันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียงแต่พรรคร่วมบางพรรคเท่านั้นที่เห็นว่าจะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของ ตัวบุคคลและอาจจะพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

          ศ.ดร.สมบัติ กล่าวอีกว่า ส่วนความขัดแย้งหรือกระแสกดดันของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ไม่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอ่อนแอลงไป เนื่องจากการที่จะยังมีผลประโยชน์ร่วมกันมากและแน่นอนไม่อยากให้มีการยุบสภาในขณะนี้ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ ส่วนจะเป็นการโหวตสวนหรือฟรีโหวตนั้น แน่นอนไม่สามารถทำได้ ถึงแม้จะเชื่อมั่นว่าเลือกตั้งไปแล้วจะยังคงรักษาที่นั่ง ส.ส.เดิมไว้ได้ แต่การที่จะร่วมกับพรรคใหญ่และต่อรองจนได้ตำแหน่งที่สำคัญ ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น มันเป็นไปไม่ได้ ส่วนปัจจัยอื่น ๆ นั้นเป็นปัจจัยรอง

          ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อาจารย์ประจำครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า การที่พรรคร่วมรัฐบาลออกมาแสดงจุดยืนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ มาตรา 94 นั้น ต้องดูโครงสร้างของรัฐธรรมนูญของปี 50 ก่อน เพราะการออกแบบนั้นส่วนหนึ่งมีอิทธิพลมาจากพรรคไทยรักไทยเดิม เพื่อที่ต้องการกำจัดสิทธิหรือควบคุมนักการเมือง โดยการนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาเป็นตัวตั้ง สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลที่ออกมารวมตัวกดดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 94 ให้กลับไปเป็นเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว จะแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงลดลง คิดว่าเป็นไปไม่ได้ คิดว่าส่วนนี้เป็นการขบเหลี่ยมกันทางการเมืองมากกว่า เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มองว่าเป็นพรรคใหญ่มีโอกาสในการเข้าสภาในระบบแบบ เดิมคือเลือกแบบเขตใหญ่ จึงไม่ยอมแก้ ส่วนมาตรา 190 นั้น คิดว่าเป็นความฉลาดของนักการเมืองที่ต้องการพ่วงเข้าไปให้ประชาชนเห็น ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นไปเพื่อฝ่ายการเมืองเท่านั้น ส่วนมาตราอื่น ๆ ก็ล้วนแล้วแต่แก้ไขเพื่อนักการเมืองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 68 หรือ มาตรา 237 และอื่น ๆ

          ผศ.ดร.อดิศร กล่าวอีกว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เวลานี้ ควรจะหาเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากช่วงนี้ ประเทศไทยเกิดวิกฤติทางการเมืองและวิกฤติทางเศรษฐกิจ หากมาแก้ช่วงนี้จะเป็นการซ้ำเติมประเทศ ดังนั้น ตนอยากจะให้ทุกพรรคยอมรับกติกาช่วงนี้ไปก่อน แล้วเอาไว้เป็นนโยบายในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าพรรคนี้มีนโยบายอย่างพรรคเพื่อไทยจะนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้ หรือประชาธิปัตย์จะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 94 หรือ 190 เดิม หรือพรรคร่วมทั้งหมดหลังเลือกตั้งยืนยันที่จะแก้ไข 94 หรือ 190 และมาตราอื่น ๆ

          "ค่อยรื้อกันในสมัยใหม่จึงจะเป็นเวลาที่เหมาะสม ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่ทำลายล้างบรรยากาศทางการเมืองซึ่ง จะมีทั้งคดียึดทรัพย์และอะไรอีกมากมายที่เตรียมจะเข้ามา ดังนั้น ตนจึงอยากให้นักการเมืองทุกท่านให้เห็นแก่บ้านเมืองเป็นหลัก ให้ฟังตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนตัวแล้วตนเห็นด้วยกับการที่จะแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ใช้เวลานี้แน่นอน ส่วนกรณีพรรคร่วมขู่ว่าจะเปลี่ยนขั้วหรือถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์อ่านเกมได้ทะลุในทุกด้าน แต่ถ้าหากพรรคร่วมคิดที่จะเปลี่ยนขั้วจริง ๆ นั้น พรรคประชาธิปัตย์จะได้ใจประชาชนมองเป็นบวก และมองพรรคร่วมว่าเป็นพรรคที่ไม่มีอุดมการณ์" ผศ.ดร.อดิศร กล่าว


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการฟันธง รัฐบาลไม่แตก ชี้พรรคร่วมไม่กล้าตีจาก อัปเดตล่าสุด 31 มกราคม 2553 เวลา 17:56:15 2,564 อ่าน
TOP