x close

นกแอร์ ดีเดย์ 1 มี.ค. บินแทน การบินไทย 3 เส้นทาง


นกแอร์ดีเดย์1มีนาฯบินแทนทีจี 3 เส้นทาง (กรุงเทพธุรกิจ)

         กรอ.ไฟเขียว "นกแอร์" บินแทนการบินไทย 3 เส้นทาง เริ่ม 1 มี.ค.ตามแผน “Two-Brand Strategy” สั่งคมนาคมเร่งใช้ประโยชน์สนามบินภูธร 28 แห่ง

         นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (22 ก.พ.) ที่ประชุมมีมติให้สายการบินนกแอร์ ให้บริการแทนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ใน 3 เส้นทาง คือ เส้นทางบินกรุงเทพฯ - อุบลราชธานี ซึ่งการบินไทยจะให้บริการลดเหลือวันละ 1 เที่ยวบิน จากเดิม 3 เที่ยวบิน และนกแอร์จะให้บริการวันละ  2 เที่ยวบิน

         เส้นทางบิน กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ให้การบินไทยยกเลิกให้บริการ แต่จะให้นกแอร์เข้ามาให้บริการแทนวันละ 2 เที่ยวบิน และเส้นทางบินเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ให้การบินไทยยกเลิกให้บริการเช่นกัน แต่จะให้นกแอร์ให้บริการแทนวันละ 2 เที่ยวบิน ซึ่ง กรอ.ได้ให้กระทรวงคมนาคมกำชับให้การบินไทยและนกแอร์ ให้บริการผู้โดยสารอย่างมีคุณภาพตรงต่อเวลา และกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสม พร้อมให้ประเมินผลการดำเนินการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการ

         "การบินไทยชี้แจงว่า มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาองค์กร 3 ด้าน คือ เป็นองค์กรที่เน้นกลุ่มลูกค้า มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีความคล่องตัว โดยมีแผนปรับกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด "Two-Brand Strategy" ให้ครอบคลุมลูกค้าระดับพรีเมียม และกลุ่มลูกค้าที่มุ่งเน้นการเดินทางราคาประหยัด โดยยังคงแบรนด์การบินไทย เป็นสายการบินที่มีเครือข่ายต่อเนื่องและบริการที่เป็นเลิศ ส่วนกลุ่มลูกค้าราคาประหยัดจะร่วมมือกับนกแอร์ โดยกำหนดตำแหน่งการตลาดของนกแอร์ให้เป็น Budget Carrier" นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายกฯ สั่งจัดการบริหารสนามบินภูธร

         นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในที่ประชุม นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รายงานว่า กรมการบินพลเรือนมีท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 28 แห่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ท่าอากาศยานที่ให้บริการเชิงพาณิชย์และให้บริการส่วนราชการ 26 แห่ง ได้แก่ การให้บริการการบิน และการให้บริการภารกิจด้านความมั่นคง เช่น การฝึกบินและทำฝนหลวง แต่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ และ 2.ท่าอากาศยานที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ จำนวน 2 แห่ง คือที่สนามบินจังหวัดตากและแม่สะเรียง สาเหตุที่ไม่มีการใช้ประโยชน์เลย เพราะที่ตั้งทางกายภาพไม่เหมาะสม ไม่สะดวกในการเดินทาง การจัดตารางบินไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนพื้นที่ และการเดินทางทางถนนสะดวกมากกว่า

         ทั้งนี้ นายกฯ ได้ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา จัดลำดับความสำคัญของการใช้ท่าอากาศยานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้ศึกษาแนวทางการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาให้บริการสนามบิน เพื่อส่งเสริมนโยบายเปิดเสรีการบิน และกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจ ให้สายการบินมาให้บริการท่าอากาศยานภูมิภาค เช่น การลดค่าธรรมเนียมทางการบิน การสร้างเส้นทางบินที่ประหยัด การเปิดเส้นทางบินที่มีศักยภาพเพื่อให้มีเส้นทางบินใหม่ที่เชื่อมจังหวัดและระหว่างภาค

         ขณะเดียวกันต้องมีการกำหนดการดูแลสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการทั้งเรื่องคุณภาพ การตรงต่อเวลาและความปลอดภัย โดยให้กรมการบินพลเรือนกำกับคุณภาพการให้บริการจริงจัง

นกแอร์ดีเดย์เปิดบิน 3 เส้นทาง 1 มี.ค.

         นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การบินไทยและนกแอร์ จะเริ่มทำการบินร่วม หรือ Code Share ใน 3 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2553

         ส่วนการบริหารท่าอากาศยานภูมิภาคจำนวน 26 แห่ง ไม่รวมท่าอากาศยานตาก และแม่สะเรียง ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ นั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมการบินพลเรือนศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้ดำเนินการใน 2 แนวทาง คือ

          1.ท่าอากาศยานที่ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ใช้บริการ จำนวน 8 แห่ง คือ ท่าอากาศยานแพร่ เพชรบูรณ์ เลย นครราชสีมา หัวหิน ชุมพร ระนอง และปัตตานี ให้ศึกษาว่าจะให้เอกชน

         รวมทั้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เข้าไปบริหารจัดการได้หรือไม่ โดยต้องศึกษาข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และเข้าข่ายการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่

         2.ท่าอากาศยานอีก 18 แห่ง ซึ่งมีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการ คือ ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน ปาย น่าน ลำปาง แม่สอด พิษณุโลก อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง และนราธิวาสนั้น ให้กรมการบินพลเรือนศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อเพิ่มปริมาณสายการบินและเที่ยวบิน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

         "กรมการบินพลเรือนต้องศึกษารายละเอียด กฎหมาย และระเบียบต่างๆ ให้ครอบคลุมว่าเอกชนสามารถเข้ามาบริหารท่าอากาศยานได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะเป็นผลดี เพราะภาครัฐจะได้ประโยชน์ที่ไม่ต้องแบกรับภาระค่าบำรุงรักษาท่าอากาศยานที่แต่ละปีต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษา 1-2 เดือน หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป" นายโสภณ กล่าว

บินไทยขึ้นค่าตั๋วเส้นทางอุบล

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำการบินร่วมระหว่างการบินไทยและนกแอร์ในเส้นทางในประเทศนั้น จะทำให้ผู้โดยสารของทั้งสองสายการบินสามารถใช้บริการเที่ยวบินได้ทั้งการบินไทยและนกแอร์  กรณีที่การบินไทยไม่มีเที่ยวบินให้บริการ ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วการบินไทยต้องใช้เที่ยวบินของนกแอร์  จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับใช้เที่ยวบินการบินไทย เช่น การสะสมไมล์ การดูแลเมื่อเกิดปัญหาเที่ยวบินล่าช้า

         ส่วนผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วนกแอร์ แต่ใช้เที่ยวบินการบินไทย จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ผู้โดยสารการบินไทยได้รับ ทั้งนี้วันที่ 1 มี.ค. 2553 การบินไทยจะปรับค่าโดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี เป็นเที่ยวละ 3,550 บาท จากปัจจุบัน  3,335 บาท หรือเพิ่มขึ้น 215  บาท ขณะที่ค่าโดยสารนกแอร์จะเริ่มต้นที่ 1,800 บาทต่อเที่ยว






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจากคมชัดลึก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นกแอร์ ดีเดย์ 1 มี.ค. บินแทน การบินไทย 3 เส้นทาง อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 14:16:02 19,666 อ่าน
TOP