x close

43 เอ็นจีโอ ปัญญาชน คัดค้าน นายกฯ ลงนาม สพฐ-ธรรมกาย



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เอ็นจีโอ-ปัญญาชน 43 คนยื่นหนังสือถึงนายกฯ คัดค้านการลงนามข้อตกลงพันล้าน สพฐ-วัดพระธรรมกาย

          กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ปัญญาชน 43 คน นำโดย นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทำหนังสือลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2553 ถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ระงับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) และ สมาคมพุทธศาสตร์สากล ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระมหามังคลาจารย์ วัดพระธรรมกาย

          โดยข้อตกลงดังกล่าวอ้างว่า เพื่อยกระดับมาตรฐานศีลธรรมเชิงบูรณาการโดยมีการแผนการให้ทุนการศึกษา จำนวนเงินกว่าหนึ่งพันล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะอบรมเยาวชนจำนวนถึง 10 ล้านคน พร้อมกับข้าราชการครู ผู้บริหารการศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้นำท้องถิ่น อีกเป็นจำนวนถึง 700,000 คน  และสถานศึกษาอีก 30,000 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งดูอย่างผิวเผินดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยสำคัญหลายประการ

          ทั้งนี้วัดพระธรรมกาย มีข้อครหาของการมีพฤติการณ์ในเชิงพุทธพาณิชย์ตลอดมา เนื่องจากชวนให้ประชาชนทั่วไป ทุ่มเททรัพย์สินเงินทองเพื่อทำบุญสร้างวัตถุขนาดใหญ่ มีการล่อใจด้วยบุญและสวรรค์อันเป็นการบิดเบือนแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอย่างร้ายแรง และแม้จะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดแต่ก็มีกระแสข่าวหนาหูว่าสถาบันแห่งนี้อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องในเชิงลึกกับฝ่ายการเมือง และการชุมนุมที่มีการใช้ความรุนแรงจากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายทำร้ายผู้บริสุทธิ์ในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมาด้วย

          โดยหนังสือของกลุ่มเอ็นจีโอมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้

ข้อเคลือบแคลงสงสัย

          1. ในบันทึกข้อตกลงฯ (MOU) ไม่ระบุเรื่องงบประมาณไว้ให้ชัดเจน แต่มีการจัดทำเอกสารที่แนบเนื่องอยู่กับบันทึกข้อตกลงฯ(MOU)  เป็นทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนในเรื่องเดียวกัน ซึ่งระบุงบประมาณอย่างคลุมเครือกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมกับหมายเหตุว่า ไม่รวมค่าดำเนินการ เป็นการเตรียมการลงนามสัญญาที่ขาดธรรมาภิบาลหรือไม่

          2. หากจำนวนเงินทุนการศึกษาดังกล่าว สมาคมพุทธศาสตร์สากล หรือ ชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุนเสียเอง ก็เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเป้าประสงค์ซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า สมาคมพุทธศาสตร์สากล หรือ ชมรมพุทธศาสตร์สากลฯแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัดพระธรรมกาย

          3. การที่หน่วยราชการทำข้อตกลงสัญญาให้สถาบันที่ยังมีข้อครหาดังกล่าวนี้ให้ดำเนิน การอบรมเยาวชนผู้ซึ่งจะเป็นอนาคตสำคัญของชาติและผู้นำการศึกษา ผู้นำท้องถิ่น รวมจำนวนถึง สิบล้านเจ็ดแสนคน  ในระยะเวลา3  ปี ให้ฝักใฝ่ลัทธิใดลัทธิหนึ่งที่น่าเคลือบแคลงเป็นการเฉพาะนั้น นั่นย่อมจะทำให้สังคมและพระพุทธศาสนาเสื่อมทรุดจนกลายเป็นการใช้เครื่องแบบของพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างลัทธิบูชาวัตถุนิยม ซึ่งแก่นแท้ของพระศาสนาอาจจะปราศนาการจากชาติไทยไปในที่สุด


ข้อปฏิบัติที่ขอให้นายกฯ ปฏิบัติ

          1. สั่งการให้ข้าราชการผู้เกี่ยวข้อง หยุดการลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ พร้อมกับสั่งพักข้าราชการที่มีชื่อระบุไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาที่สามารถให้คุณให้โทษข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการนี้ในทันที

          2. ดำเนินการใด ๆ เพื่อมิให้หน่วยราชการ องค์กรของรัฐ มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงใดใดกับสถาบันที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายอีกต่อไป จนกว่าผลการตรวจสอบข้างล่างนี้จะปรากฏชัดแจ้งต่อสังคม

          3. ให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสของการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เคยกระทำผ่านมา โดยเฉพาะโครงการอบรมครูและเด็กนักเรียนจำนวน 500,000 คน ที่เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัด 2009 แต่วัดพระธรรมกายยังดื้อดึงจัดงานจนทำให้เกิดการติดและแพร่ระบาดหวัด2009 เป็นวงกว้าง 

          4. ให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสทางการเงินของพระในวัดพระธรรมกาย และสถาบันหรือโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายทั้งหมด ว่ามีเงื่อนงำอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ 

          5. ให้มีการตรวจสอบการอบรมสั่งสอนและพฤติการณ์ของพระสงฆ์และสานุศิษย์ วัดพระธรรมกาย ว่า มีการรักษาแก่นแท้ของพุทธธรรมอยู่อย่างแท้จริงเพียงไร  



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
43 เอ็นจีโอ ปัญญาชน คัดค้าน นายกฯ ลงนาม สพฐ-ธรรมกาย อัปเดตล่าสุด 10 พฤษภาคม 2553 เวลา 17:28:23 23,241 อ่าน
TOP