x close

เคลย์มอร์ ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

เคลย์มอร์

ระเบิด เคลย์มอร์

เคลย์มอร์

ระเบิด เคลย์มอร์

เคลย์มอร์

ระเบิด เคลย์มอร์



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก history.army.mil, pantip.com, pantip.com

          หมู่นี้ชื่อของอาวุธสงครามหลายชนิด ค่อย ๆ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มิใช่เพียงแค่ในการรบเท่านั้น นับตั้งแต่ M-79, สไนเปอร์, ปืนไรเฟิล, และตอนนี้ก็มีชื่อของอาวุธสงครามอีกชนิดหนึ่งปรากฏอยู่ในข่าว นั่นก็คือ.. ระเบิดเคลย์มอร์ โดยนับตั้งแต่มีการนำเสนอข่าวการพบระเบิดเคลย์มอร์อยู่ในการชุมนุมที่ศาลาแดง ชื่อของระเบิดเคลย์มอร์ก็กลายเป็นชื่อที่ประชาชนสนใจทันที ดังนั้นในวันนี้กระปุกจะพาไปรู้จักกับที่มาที่ไปของระเบิดชนิดนี้กันค่ะ

          ระเบิดสังหารบุคคล หรือ ระเบิดเคลย์มอร์ (Claymore) ถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวสก๊อตแลนด์ จึงตั้งชื่อเรียกระเบิดชนิดนี้ว่า เคลย์มอร์ ที่มาจากชื่อของดาบประจำชาติสก๊อตแลนด์อย่างดาบเคลย์มอร์ (Claymore Sword) นั่นเอง โดยรหัสเรียกของระเบิดเคลย์มอร์ก็คือ M-18A1 และถูกนำมาใช้ครั้งแรกในช่วงสงครามเวียดนามระหว่างอเมริกากับคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นระเบิดที่มุ่งหวังสังหารบุคคลโดยเฉพาะ ในปัจจุบันระเบิดชนิดนี้ถูกผลิตขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ชิลี และเกาหลีใต้

          ลักษณะของระเบิดเคลย์มอร์นั้น รูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความโค้งเล็กน้อย ความยาว 220 มิลลิเมตร สูง 90 มิลลิเมตร หนา 50 มิลลิเมตร เปลือกนอกเป็นพลาสติกเสริมใยแก้วสีเขียว ด้านในของระเบิดจะบรรจุลูกเหล็กขนาดเล็กติดกันเป็นแผงยาวหลายร้อยลูก ด้านหน้าของระเบิดจะมีข้อความที่ระบุชัดเจนว่า Front Toward Enemy หมายถึง ลักษณะการใช้งานที่ผู้ใช้ต้องหันด้านหน้าของระเบิดออกสู่ศัตรู เนื่องจากด้านหลังนั้นจะถูกทำการใส่ดินระเบิดเข้าไป ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้ง C-4 หรือ TNT แต่ส่วนมากแล้วจะนิยมใช้ ดินระเบิด C-4 น้ำหนักราว 1 ปอนด์ หรือประมาณครึ่งกิโลกรัม มากกว่า

          ซึ่งดินระเบิดของ C-4 มีส่วนประกอบ 2 ส่วนดังนี้

          1. ดินระเบิด
ที่จะมีลักษณะคล้ายดินน้ำมัน แต่ไม่สามารถติดไฟเองได้ ต้องอาศัยเชื้อประทุในการจุดชนวน

          2. เชื้อประทุ มีลักษณะเป็นแท่ง เวลาจุดชนวนจะระเบิดคล้ายประทัด แต่มีอานุภาพรุนแรงกว่า

          โดยระเบิดเคลย์มอร์แบบปกติจะมีกระบวนการทำงานด้วยการใช้มือจุดชนวน ซึ่งผู้จุดชนวนจะทำการฝังระเบิดไว้ และกดจุดชนวนเมื่อมีเป้าหมายเดินผ่าน หรือ ใช้ลวดขึง (Tripwire) เพื่อให้เกิดการสัมผัสจากเป้าหมายจนเกิดระเบิดขึ้นก็ได้ แต่ในปัจจุบันได้มีการนำไปดัดแปลงด้วยการติดเซ็นเซอร์และระบบสั่นสะเทือนเข้าไป ให้ระเบิดเคลย์มอร์สามารถดักจับเป้าหมายได้เอง เพื่อลดเวลาในการติดตั้งระเบิดลง โดยใช้เซ็นเซอร์อย่าง อินฟาเรด หรือ เลเซอร์ที่เป็นลำแสงสีแดง สำหรับดักจับเป้าหมาย

          สำหรับอานุภาพในการทำลายล้างของระเบิดเคลย์มอร์นี้ สะเก็ดระเบิดจะทำงานไปในทิศทางเดียว ซึ่งก็คือด้านที่หันเข้าใส่เป้าหมาย หรือด้านที่มีข้อความเตือนว่า Front Toward Enemy นั่นเอง เพราะรัศมีการทำงานของระเบิดเคลย์มอร์ จะพุ่งไปในทิศทางที่ตั้งไว้เป็นมุมกว้าง 60 องศา สูงจากพื้นดิน 2 เมตร หวังผลในระยะ 50 เมตรแรก ระยะที่อันตรายที่สุดคือ 16 เมตร แต่หากอยู่ไกลเกินกว่า 250 เมตรจะเป็นระยะที่ปลอดภัย

          อย่างไรก็ตามก็ยังมีทหารที่รับมือกับระเบิดเคลย์มอร์นี้ในสนามรบ ด้วยการแอบคลานเข้าไปกลับด้านของระเบิดให้หันเข้าหาฝ่ายที่เป็นผู้จุดชนวนเอง ซึ่งเป็นจุดอ่อนในการใช้ระเบิดเคลย์มอร์อย่างมาก การใช้ระเบิดเคลย์มอร์แบบดัดแปลงติดเซ็นเซอร์จึงถูกนำมาใช้มากขึ้น เพราะระบบเซ็นเซอร์จะสามารถจุดชนวนตัวเองได้เมื่อมีเป้าหมายเข้าใกล้นั่นเอง



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เคลย์มอร์ ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อัปเดตล่าสุด 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 17:53:48 24,363 อ่าน
TOP