x close

โลมาไทย ตายแล้ว 18 ตัว ให้จังหวัดสกัดเรืออวน




โลมาตายตัวที่18ให้จว.สกัดเรืออวน (ไทยโพสต์)

          เครือข่ายอนุรักษ์แหลมกลัด ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ แก้ปัญหาเรืออวนลากฆ่าโลมาตายเป็นเบือ เผยตั้งแต่ต้นปีมานี้พบซากแล้ว 18 ตัว จี้ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์

         วันที่ 27 พฤษภาคมนี้ ที่ อบต.แหลมกลัด อ.เมืองฯ จ.ตราด นายประดิษฐ์ คุ้มชนม์ นายก อบต.แหลมกลัด นายไพวัลย์ สิอิ้น ประธานกลุ่มเครือข่ายอ่าวตราด ที่มีสมาชิกเครือข่ายสังกัดชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่งหมู่บ้าน ของตำบลแหลมกลัด 9 หมู่บ้าน กว่า 200 คน เดินทางมารวมตัวกันเพื่อเข้าพบนายแก่นเพชร ช่วงรังสี ผู้ว่าราชการ จ.ตราด ที่ศาลากลาง จ.ตราด

         ในการเข้าพบ ผวจ.ตราดครั้งนี้ นายไพวัลย์ พร้อมประธานกลุ่มอนุรักษ์ในแต่ละหมู่บ้าน ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์เรื่อง ปัญหาทางทะเลและชายฝั่งให้ทางจังหวัดแก้ไข โดยระบุว่าตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นมา ได้พบซากโลมาลอยน้ำมาติดชายฝั่งทะเลแหลมกลัด จำนวน 18 ตัว และเชื่อว่ายังมีบางส่วนที่ชาวบ้านไม่พบซากอีก เนื่องจากตั้งแต่ชายฝั่งออกไปจนถึง 6 ไมล์ทะเล ตลอดแนวตรวจ พบว่าโลมาจำนวนน้อยลงจากเมื่อก่อน

          "ชาวประมงพื้นบ้านที่ออกทะเลอยู่เป็นประจำบอกตรงกันว่า ได้มีเรือลากคู่เข้ามาลากอวนในพื้นที่ที่โลมาอาศัยอยู่ และเกือบทุกครั้งที่เรือชนิดนี้เข้ามาทำการประมง จะพบซากของโลมาลอยน้ำ หรือติดชายฝั่งในเวลาต่อเนื่องกันอยู่บ่อยครั้ง ขอความกรุณาจากท่านผู้ว่าฯ หาทางไม่ให้เรืออวนลากคู่ในอ่าวตราด ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลถึงริมเกาะด้านในตลอดแนวด้วย เพราะจะทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนทุกอย่าง รวมทั้งโลมา พะยูน เต่าทะเลที่อาศัยในเขตน้ำตื้นบริเวณนี้หมดไป อีกอย่างที่ชาวประมงมีความทุกข์ใจคือ เครื่องมือประมงพื้นบ้านหลายชนิดถูกทำลายได้รับความเสียหาย" หนังสือระบุ

          นายไพวัลย์กล่าวว่า ที่ผ่านมายังขาดการดูแลและช่วยเหลือจากส่วนราชการในทุกๆ ด้าน เช่น การช่วยติดตามเครื่องมือประมงที่สูญหายจากการถูกทำลายโดยเครื่อง อวนลาก อวนรุน ผิดกฎหมายในเขต 3,000 เมตร รวมทั้งขาดการให้ความรู้ การส่งเสริมฟื้นฟูชายฝั่ง การปล่อยลูกพันธุ์สัตว์น้ำลงแหล่งน้ำธรรมชาติชายฝั่งทะเล เพื่อเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำให้ชาวประมงได้ประกอบอาชีพประมง หาเลี้ยงครอบครัวให้พออยู่พอกินได้ตามสมควร

          เครือข่ายชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติยังเรียกร้องให้ทางการ พิจารณาห้ามใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในเขต 3,000 เมตรทุกชนิด โดยขยายออกไปมากว่าเดิม เช่น หน้าทะเลหมู่ 5 หมู่ 6 ต.แหลมกลัด เพราะตั้งแต่ชายฝั่งออกไประยะ 2,000 เมตร-3,000 เมตร เป็นแหล่งหินใต้น้ำธรรมชาติบริเวณกว้าง ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถทำการประมงได้ ต้องออกไปทำการประมงในพื้นที่ห่าง ประมาณ 3,000-5,000 เมตร จึงมีปัญหาของการใช้พื้นที่และการใช้เครื่องมือประมงร่วมกับเรือประมงพาณิชย์อื่นๆ ตลอดมา

           ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการสรุปปัญหาต่างๆ แล้วให้แต่ละฝ่ายนำข้อมูลทั้งหมดเข้าหารือ เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องของการ ประกาศพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอ่าวตราด ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โลมาไทย ตายแล้ว 18 ตัว ให้จังหวัดสกัดเรืออวน อัปเดตล่าสุด 28 พฤษภาคม 2553 เวลา 15:23:11 8,459 อ่าน
TOP