x close

นายกฯ ถึงไทย-ยันสื่อนอกไม่นิรโทษทักษิณ

นายกอภิสิทธิ์


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

          นายกฯ เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่เบลเยียม และสหรัฐ ขณะที่บอกสื่อนอก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเป็นเพื่อความมั่นใจในเสถียรภาพของประเทศ ยินดีเจรจาฝ่ายตรงข้าม แต่จะไม่พูดเรื่องนิรโทษกรรม

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา หลังเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในโอกาสเสด็จเยือนนครนิวยอร์ก เพื่อทรงส่งเสริมโครงการ Enhancing Lives of Female Inmates (ELFI) ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานของผู้ต้องขังหญิง ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65

          โดยก่อนหน้านั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศ ระหว่างการเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป หรือ อาเซม ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ถึงเหตุการณ์จลาจลในกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ตนตระหนักดีว่า การปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาล มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิ์ในประเทศไทย แต่ขอยืนยันว่า นโยบายการกำหนดใช้กฎหมายฉุกเฉินนั้นมีความจำเป็น เพื่อให้มั่นใจในเสถียรภาพของประเทศ และเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ว่า จะมีผู้ไม่ปฏิบัติตาม นโยบาย หรือกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้น

          ส่วนกรณีที่รัฐบาลได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากฝ่ายตรงข้ามในประเทศไทย หรือที่รู้จักกันในนามของ "คนเสื้อแดง" และสั่งปิดช่องทางข่าวที่ทำการวิจารณ์รัฐบาล ประเด็นนี้ นายกฯ กล่าวว่า เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ที่ไม่สามารถยอมรับหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ หรือ สถานีวิทยุที่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงได้ แต่ตนก็รับทราบถึงความไม่พอใจในทุกกรณี และได้ดำเนินการเพิ่มมากขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถตรวจสอบเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และสามารถสอบถามผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า "ไม่มีข้อผิดพลาด หรือ การละเมิดใด"

          นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า มีความยากลำบากเสมอในแง่ของความสมดุล เพื่อให้แน่ใจว่า ขณะที่รักษากฎหมายอยู่นั้น จะสามารถแน่ใจว่า จะไม่มีการละเมิด หรือจำกัดสิทธิของประชาชน ส่วนประเด็นที่ยังคง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตนเองก็ได้รับการวิจารณ์เล็กน้อย จากผู้นำชาติยุโรประหว่างการร่วมประชุมด้วย

          ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในต่างประเทศ นายกฯ ระบุว่า ประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ควรจะให้ความกระจ่างแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เขาไม่สามารถใช้ผืนแผ่นดินของประเทศเหล่านั้น เพื่อใช้เป็นฐานกิจกรรมทุกชนิด ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น

          นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ ยังระบุด้วยว่า สามารถเปิดเจรจาต่อรองใด ๆ กับฝ่ายค้านได้ แต่จะไม่รวมถึง การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดย นายกฯอภิสิทธิ์ กล่าวว่า  "เราสามารถพูดคุยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เราสามารถพูดคุยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราสามารถพูดคุยกับเกี่ยวกับนโยบาย แต่ตนไม่คิดว่ามีรัฐบาลใด ๆ ที่จะยินยอมให้ทุกคนเข้ามาพูดว่า "ฉันจะไม่ยอมรับกฎหมาย" และถ้าปล่อยเป็นแบบนั้น ก็จะต้องเผชิญกับปัญหามากขึ้นในอนาคต"

         ส่วนกรณีที่การเจรจาหาข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ประสบความล้มเหลว ถึง 2 ครั้ง รวมถึง ข้อเสนอให้จัดการเลือกตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน แต่กลับได้รับการปฏิเสธ โดย นายกฯ อภิสิทธิ์ ระบุว่า  "ตนรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เบื้องหลังการปฏิเสธทุกครั้ง และตนก็รู้สึกเสียใจ เมื่อมีความชัดเจนในข้อเสนอ ที่จะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสีย แต่เขาก็ไม่ยอมรับข้อเสนอเหล่านั้น แต่กลับยินดีที่จะเห็นการสนับสนุนของตนเอง ซึ่งกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของการสูญเสีย"

          ด้าน นายนพดล ปัทมะ โฆษกประจำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวผ่านโทรศัพท์วานนี้ (7 ตุลาคม)  ปฏิเสธการแสดงความคิดเห็นของนายกฯ อภิสิทธิ์ โดยระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีบทบาทโดยตรง ในการโน้มน้าวใจแกนนำว่า จะยอมรับหรือปฏิเสธข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ย้ำมาตลอดว่า ควรจะเรียกร้องเพื่อสาธารณประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่เพื่อตัวเขา อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ  ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย เพื่อความปรองดองกับรัฐบาล นอกจากนี้ นายนพดล ยังกล่าวด้วยว่า ความอยุติธรรมใด ๆ  ที่เกิดขึ้น หลังการปฏิวัติ เมื่อปี 2006 ควรจะได้รับการจัดการแก้ไขนั้น หมายไปถึงทุกคนที่ถูกรุกราน รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ , คนเสื้อแดง และบุคคลทั่วไป



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นายกฯ ถึงไทย-ยันสื่อนอกไม่นิรโทษทักษิณ อัปเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2553 เวลา 15:32:11 3,913 อ่าน
TOP