x close

วีรพงษ์ สับเละ! ธปท. เรื่องนโยบายค่าเงินบาท

เงินบาทแข็งค่า

 

เมินทุ่มแทรกแซงบาท ‘โกร่ง’หันใช้อัตราคงที่ (ไทยโพสต์)  

         วีรพงษ์ รามางกูร สับเละ ธปท. เรื่องนโยบายแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า เผยเห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงประชาชน  หากปรับนโยบายไม่ได้ หรือปรับเปลี่ยนผู้ว่าการ ธปท. ไม่ได้ ก็ควรเปลี่ยนนายกฯ ไปเลย

         ปัญหาค่าเงินบาทแข็งยังน่าเป็นห่วงต่อเศรษฐกิจไทย ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่ได้เสนอในการสัมมนาเรื่อง "ตั้งรับยุคค่าเงินบาทแข็งตัว โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย" ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็ว และประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปเกินระดับใด โดยหากเป็นไปได้ก็น่าจะกลับไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เพราะปัจจัยรอบด้านเอื้อ ทั้งทุนสำรองอยู่ในระดับสูง การเกินดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก แต่หากทำไม่ได้ ก็ใช้นโยบายลอยตัวแบบมีการจัดการเหมือนปัจจุบัน แต่ต้องระบุแนวทางการจัดการและเป้าหมายเงินบาทอย่างชัดเจน 

         "การประชุม กนง. วันที่ 20 ตุลาคม ควรลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.75% เพื่อให้ใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐมากที่สุด เชื่อว่าจะช่วยทำให้เงินบาทอ่อนลงได้" นายวีรพงษ์ กล่าว และว่า ธปท. ยังควรออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง รวมทั้งแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดการคานอำนาจกันระหว่างผู้ว่าการ ธปท. และ รมว.คลัง ในการออกมาตรการทางการเงินต่าง ๆ เพราะปัจจุบัน ธปท. มีอำนาจตัดสินใจมาก

         นายวีรพงษ์ ยังแสดงความห่วงว่า หาก ธปท. ยังไม่ดำเนินมาตรการใด ๆ ที่เด็ดขาดในการดูแลค่าเงิน และปล่อยให้เงินทุนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรมากจนค่าเงินใกล้ 25 บาทต่อดอลลาร์แล้ว จะเกิดวิกฤติรอบ 2 แน่นอน โดยเฉพาะฟองสบู่ในตลาดหุ้นจะแตก ยิ่งในกลุ่มพลังงานที่ได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่จากผลประกอบการ และหากเกิดวิกฤติครั้งนี้จะกระทบหมด รวมไปถึงภาคเกษตรกรรมที่ปี 2540 ไม่ได้รับผลด้วย

         "มาตรการที่ออกมา เป็นมาตรการหลอก ๆ ผมเรียกว่ามาตรการน้ำจิ้ม ไม่มีพิษ ใช้ไม่ได้ผล คนไทยไม่ได้กินหญ้าที่ ธปท. แนะให้คนไทยเอาเงินไปซื้อดอลลาร์ไปลงทุนในสหรัฐ ขณะที่ตัวเองก็ยังเอาตัวไม่รอดจะให้ไปลงทุนที่ไหน  ถ้าแบงก์ชาติยังทำตัวเป็นบัวใต้น้ำ คนไทยต้องเตรียมตัว หากเงินบาทลงไปถึง 25 บาท ก็ลงเหว ตัวใครตัวมัน และหากปรับนโยบายไม่ได้ หรือปรับเปลี่ยนผู้ว่าการ ธปท.ไม่ได้ ก็ควรเปลี่ยนนายกฯ ไปเลย" นายวีรพงษ์ ระบุ

         ทางด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้กล่าวถึงเรื่องค่าเงินบาทว่า ค่าเงินบาทหากเทียบกับเงินสกุลอื่นถือว่ายังอ่อนอยู่ แต่เทียบกับเงินดอลลาร์ค่าเงินบาทก็แข็งมาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอ่อนแอลง ส่วนนโยบายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกไปนั้นถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งไม่ใช่การลดค่าเงินบาท แต่เป็นการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากค่าเงิน โดยทั้งหมดเวลาจะเป็นผู้ตัดสิน

         พร้อมกันนี้ นายกรณ์ ยอมรับว่า กังวลต่อปัญหาค่าเงินบาท แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเหมือนปี 2540 แน่ เพราะเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน เพราะครั้งนั้นค่าเงินบาทอ่อน แต่ปัจจุบันค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นก็ตาม และการใช้มาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า กระทรวงการคลังไม่มีอำนาจในการดำเนินการ หากจะทำต้องออกเป็นกฎหมายใหม่  ซึ่งการดำเนินการใด ๆ ต้องหารือกับ ธปท. ที่มีหน้าที่ดูแลค่าเงินบาทโดยตรง ส่วนแนวความคิดของนายวีรพงษ์นั้นก็รับฟัง

         ทางด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้  ส.อ.ท.จะประชุมหารือท่าทีภาคเอกชน ต่อนโยบายดอกเบี้ยกับการแข็งค่าของเงินบาทร่วมกับ 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. และตัวแทนจาก 29 สมาคมผู้ส่งออก เช่น สมาคมยางพารา ไก่แช่เยือกแข็ง เครื่องหนัง เครื่องนุ่งห่ม และสมาคมข้าวไทย เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ที่จะพิจารณาในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ เพื่อแสดงท่าทีภาคเอกชนว่าควรเดินไปในทิศทางใดบ้างและควรตั้งรับอย่างไร

         ขณะที่นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า คงจะเป็นการหารือถึงทิศทางการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. เพื่อส่งสัญญาณว่าภาคเอกชนไม่ต้องการให้ ธปท. ปรับขึ้น ส่วนมาตรการที่ ครม. ออกมานั้น ไม่ได้ผล เพราะเป็นยาอ่อนเกินไป ล่าสุด อุตสาหกรรมจังหวัดหลายแห่งแจ้งว่า ได้รับผลกระทบจากค่าเงินหากยังแข็งค่ามากกว่านี้อาจต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการสิ่งทอที่ จ.สิงห์บุรี

         ทางด้าน นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการส่งออกได้ประเมินปัญหาของผู้ส่งออกไทยเป็นรายสินค้าจากการแข็งค่าของเงินบาท พบว่า เบื้องต้นมีถึง 15 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ โดยขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง สินค้าไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง และกำลังมีปัญหาผู้ซื้อในต่างประเทศหันไปนำเข้าสินค้าจากคู่แข่งมากขึ้น

         "เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะกระทบต่อการส่งออกในอีก 2-3  เดือนข้างหน้านี้แน่ เพราะมาตรการดูแลค่าเงินบาทที่ออกมายังไม่ตรงกับที่ผู้ส่งออกต้องการ" นางพรทิวา กล่าว

         สำหรับ 15 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ได้แก่ 

         1. อุตสาหกรรมเครื่องหนัง
         2. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
         3. อุตสาหกรรมยานยนต์ 
         4. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
         5. อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป
         6. กลุ่มสมุนไพร
         7. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม
         8. สินค้าเกษตรและสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
         9. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
         10. อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์
         11. อุตสาหกรรมไก่สดแช่แข็ง
         12. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
         13. อุตสาหกรรมน้ำตาล
         14. อุตสาหกรรมเซรามิก
         15. อุตสาหกรรมยาง

         และนอกเหนือจาก 15 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบแล้ว การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และพม่า ยังมีปัญหาการต่อรองราคาสินค้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแลกเงินดอลลาร์เป็นเงินบาทเพื่อซื้อสินค้าไทยด้วย




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วีรพงษ์ สับเละ! ธปท. เรื่องนโยบายค่าเงินบาท อัปเดตล่าสุด 15 ตุลาคม 2553 เวลา 16:27:06 24,480 อ่าน
TOP