x close

เตือน 8 จังหวัดใต้ ระวังฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน

 



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          เตือนภาคใต้ทั้งสองฝั่งมีฝนตกชุกหนาแน่น สำนักธรณีวิทยาเฝ้าระวังดินถล่มหลายจังหวัด ในระยะ 1-2 วันนี้

          เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2553 กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพลักษณะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ เสริมลงมาอย่างต่อเนื่องปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็น ลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศา ในระยะ 1-3 วันนี้

          สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้ทั้งสองฝั่งมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา กระบี่ ตรัง และสตูล ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังการเดินเรือในช่วงวันที่ 2-3 ธ.ค.นี้ ไว้ด้วย

          ขณะที่ นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้กล่าวว่า ประกาศเฝ้าระวังดินถล่มในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส ในระยะ 1-2 วันนี้ เนื่องจากมีมรสุมจากทางตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ เข้าสู่พื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ทำให้เกิดฝนเป็นบริเวณกว้าง

          อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรธรณี ได้ประสานงานกับเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดเสี่ยงเกิดดินถล่ม ให้มีการซักซ้อมกับชาวบ้านในพื้นที่ เรียนรู้ที่จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอย่างปลอดภัย โดย จ.กระบี่ จะซักซ้อมในวันที่ 16-17 ธันวาคม และ จ.ตรัง ในวันที่ 21-22 ธันวาคม 2553

          ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 7 อำเภอ จังหวัดปัตตานี อำเภอสายบุรี อำเภอยะหริ่ง อำเภอหนองจิก อำเภอปะนาเระ อำเภอยะรัง อำเภอแม่ลาน และอำเภอเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มและติดแม่น้ำ ประชาชนต่างประสบภัยน้ำท่วม อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ต่างกล่าวว่า ไม่คอยห่วงเรื่องน้ำฝนที่ตกลงมา และจะกังวลเรื่องน้ำจากเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา มากกว่า เนื่องจากอาจทำให้น้ำท่วมฉับพลัน และไม่ทันเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในพื้นที่ที่อาจท่วมขึ้นอย่างรวดเร็ว

          ทางด้านเจ้าหน้าที่ของจังหวัดปัตตานี ยังคงยืนยันว่า ขณะนี้ น้ำในเขื่อนปัตตานี และเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลานั้น ยังคงรองรับน้ำฝนได้อีก ประมาณ 30% ซึ่งหากมีการปล่อยจริง ก็จะมีการแจ้งเตือนประชาชนก่อน

          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เริ่มเข้าขั้นวิกฤติอีกครั้ง หลังจากที่ฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายตำบลของทั้ง 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอกงหรา อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอตะโหมด อำเภอป่าบอน อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน อำเภอบางแก้ว และอำเภอควนขนุน รวมทั้ง อำเภอเมือง บ้านเรือนราษฎรพื้นที่การเกษตร ยังจมอยู่ใต้น้ำ โดยเฉลี่ยความสูงประมาณ 1 - 1.20 เมตร

          โดยล่าสุดจากปริมาณฝนที่ตกลงมา ทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัด ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ในพื้นที่ตำบลโคกชะงาย ตำบลเขาเจียก ตำบลพญาขัน ตำบลนาโหนด ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง ในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านนับพันครัวเรือน ต้องเร่งขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ พร้อมนำกระสอบทรายมาปิดกั้นแม่น้ำไหล ที่ทะลักเข้าในบ้านกันอย่างเร่งด่วน


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 11 พฤศจิกายน

          สถานการณ์น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 11 พ.ย. เริ่มคลี่คลายแล้วในบางพื้นที่ มีเพียงที่ราบลุ่มในเขตอำเภอเมืองที่มีน้ำขังอยู่ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก โดยนายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งปัตตานี ได้นำเจ้าหน้าที่ของสถานีเดินสำรวจความเสียหาย บริเวณศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง หลังจากถูกพายุดีเปรสชั่น ถล่มเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณโรงเพาะสัตว์น้ำ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ กุ้ง ปู หอย และ ปลา เสียหายหมด เครื่องมือ และระบบต่าง ๆ ในโรงเพาะได้รับความเสียหาย

          ด้านหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งปัตตานี กล่าวว่า จากเหตุการณ์พายุในครั้งนี้ ทางสถานีได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อการผลิตสัตว์น้ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากสถานีต้องมีการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อสนับสนุนตามโครงการต่าง ๆ ของราชการ และเป็นการช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้าน แต่หลังจากเกิดวิกฤติเช่นนี้ การช่วยเหลือจึงต้องหยุด อีกทั้งงานวิจัยที่ได้ทดลองมาต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 10 พฤศจิกายน


          สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 10 พ.ย. หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำปัตตานีเพิ่มปริมาณขึ้น และยังได้ส่งผลกระทบให้กับชาวบ้านบริเวณพื้นที่ลุ่มที่อาศัยอยู่ติดแม่น้ำปัตตานี โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ที่มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนและยังต้องการความช่วยเหลือ จำนวน 400 ครัวเรือน

          ด้านนายอุสมาน ดาเลาะ เจ้าของบ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 2 ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 1 ใน 133 หลังที่เสียหายบ้านทั้งหลัง กล่าวว่า รู้สึกน้อยใจที่การช่วยเหลือของหน่วยภาครัฐ ไปกระจุกตัวในบางพื้นที่ ขณะที่ ความเดือดร้อนมีกันอย่างทั่วหน้า เพียงแต่มีบ้านเสียหายทั้งหลังน้อยกว่าพื้นที่อื่น จึงถูกลืมจากหน่วยงานภาครัฐโดยปริยาย


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 8 พฤศจิกายน

          สถานการณ์น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 8 พฤศจิกายน จังหวัดปัตตานี ยังคงประกาศให้พื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ เป็นพื้นที่เกิดภัยพิบัติไปอีก เนื่องจากไม่มั่นใจว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

          ส่วนทั้ง 12 อำเภอที่ถูกน้ำท่วมสูงนั้น ขณะนี้หลายพื้นที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว มีเพียงพื้นที่ลุ่ม คือ อ.เมือง อ.ยะรัง และ อ.หนองจิก เนื่องจากมีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน โดยที่ ต.ปะกาฮารัง ต.บาราเฮาะ อ.เมือง ระดับน้ำลดลงเล็กน้อย ซึ่งล่าสุดระดับน้ำอยู่ที่ 1 เมตร บริเวณทางเข้าหมู่บ้านรถสามารถไปได้เพียงครึ่งทาง ขณะที่ ต.ตุยง ต.ปุโละปุโย และ ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก มีน้ำท่วมสูง 150 ซม. หลายหมู่บ้านต้องอยู่ในความมืดเนื่องจากไฟฟ้าดับ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 7 พฤศจิกายน

          สถานการณ์น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 7 พฤศจิกายน หลังเหตุพายุพัดถล่มปัตตานีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ล่าสุดโดยภาพรวมได้คลี่คลายลงแล้ว แต่ในส่วนของศพชาวประมง ที่ชาวบ้านบริเวณหาดดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี พบเป็นจำนวน 17 ศพ แล้ว และวันนี้ (7 พฤศจิกายน) ทางกองทัพเรือ กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ จะนำเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจเรือและศพ ที่อาจลอยอยู่ในทะเล ซึ่งทางเจ้าหน้าที่คาดว่าอาจมีศพลอยอยู่เป็นจำนวนมาก และจะนำมาชันสูตรศพ พร้อมส่งให้กับทางญาติต่อไป สำหรับความคืบหน้า จะรายงานให้ทราบต่อไป

          ขณะที่ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หลังจากได้เข้าไปดูแลสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยที่ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ล่าสุดประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกดีขึ้น ประกอบกับการช่วยเหลือจากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ได้เข้าถึงอย่างต่อเนื่อง

          ในส่วนของภาคประชาชน หลังจากฝนหยุดตก มีพี่น้องประชาชนจากจังหวัดยะลา นราธิวาส และสงขลา ต่างเดินทางเข้าเยี่ยมผู้ประสบภัยบริเวณตำบลแหลมโพธิ์เป็นจำนวนมาก จนทำให้การจราจรบนถนนสายหาดตะโละกาโปร์ ดาโต๊ะ ติดยาวจนต้องใช้เวลานานกว่าปกติ และอาจจะต้องเข้าพื้นที่ได้ยากอย่างลำบาก สำหรับความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 6 พฤศจิกายน

         สถานการณ์น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 6 พ.ย. จากเหตุพายุพัดถล่มปัตตานีเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดชาวบ้านบริเวณแหลมตาโต๊ะ พบศพชายเพิ่มอีก 3 ศพแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก เพื่อชันสูตรและพลิกศพต่อไป และอาจจะพบศพอีกจำนวนมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่คาดว่า เรือที่อับปางจากพายุเมื่อวันที่ 1 ที่ผ่านมา มีมากกว่า 10 ลำ

          ทั้งนี้ มีรายงานจุดที่ได้รับความเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือจากเว็บไซต์ deepsouthwatch.org โดยจุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในจังหวัดปัตตานี ได้แก่

          มัสยิดดาโต๊ะ ต้องการความช่วยเหลือ เสื้อผ้า อาหารแห้ง ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมแซมบ้าน ต้องการที่อยู่อาศัย (อาหารมีคนช่วยอยู่แล้ว) ติดต่อ อ.เกื้อ 081-5406512 คุณละม้าย 084-7481544

          บ้านพักโรงเรียนชุมชนบ้านยูโย (บ้านแหลม) ต้องการหน่วยงานดูแลการซ่อมรถจักรยานยนต์ ชาวบ้านยังตื่นตระหนกและหวาดกลัวพายุเข้าซ้ำอีกครั้ง และกระแสข่าวลือ ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่อบต. มาพบปะแต่ทำอะไรในเรื่องความช่วยเหลือไม่ได้มาก

          หมู่บ้านลูโบ๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ยังต้องการความช่วยเหลืออย่างมากโดยเฉพาะน้ำดื่ม

          โรงเรียนเทศบาล 4 อ.เมือง จ.ปัตตานี ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน น้ำท่วมสูงมาก

          จะบังติกอ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ต้องการความช่วยเหลือไฟฟ้า น้ำ และช่วยอพยพของชาวบ้านริมคลองแถวจะบังติกอร์ หัวสะพานเฉลิมพระเกียรติ แถวๆ บ้านท่านมุข น้ำไหลเข้าท่วมบ้านประชาชน ประมาณตาตุ่มถึงหัวเข่า ไม่สามารถที่จะหุงหาอาหารได้ ไม่สามารถเอารถสัญจรได้ ปริมาณน้ำเกือบเอว ต้องการอาหารแห้ง หรือพร้อมรับประทาน

          ตะลุโบะ ต้องการน้ำดื่มสะอาด อาหาร และยารักษาโรค ชาวบ้านไม่สามารถออกจากบ้านได้ มีน้ำท่วมสูงทั่วบริเวณ บางจุดน้่ำท่วมระดับเอว และทรงตัวระดับนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.

          หมู่บ้านคอรอตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานียังต้องการความช่วยเหลืออย่างมากโดยเฉพาะน้ำดื่ม

          บางปลาหมอ ไม่มีประปาใช้ บ้านเรือนเสียหาย เรือจมหาย ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ อาหารแจกไม่ทั่วถึง ยังไม่มีหน่วยงานใดมาช่วยเหลืออย่างจริงจัง (ต้องการเทียนไข ไฟแช็ค เสื้อผ้าเด็กอ่อน) ต้องการความช่วยเหลือในการเดินทางเข้าออก

          บางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อ คุณเจ๊ปอ สาแม 089-7321071

          อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี หมู่บ้านบุดี หมู่ 1 อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ต้องการน้ำสะอาด

          อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ต้องการความช่วยเหลือ เลี้ยงปลากะพงเสียหาย ขยะติดที่กระชัง อยากให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ


น้ำท่วม


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 5 พฤศจิกายน

          พบศพลูกเรือชาวประมง 14 ศพจากเหตุพายุพัดเรือล่ม รอดตาย 2 เผยยังหายสาบสูญอีก 9 ราย

          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปัตตานี วันที่ 5 พฤศจิกายน หลังจากเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุคลื่นสูง 5 เมตร ถล่มใส่ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี จนทำให้หมู่บ้าน 3 แห่งได้รับความเสียหายอย่างหนักนั้น ล่าสุด วานนี้มีรายงานว่า ชาวบ้าน ม.4 บ.ดาโต๊ะ อ.ยะหริ่ง ได้พบศพ 9 ศพ ลอยมาติดบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านดาโต๊ะ-บ้านบูดี จึงได้แจ้งไปยัง พ.ต.อ.จักรภพ ท้าวฤทธิ์ ผกก.สภ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อนำกำลังมาตรวจสอบ

          โดยเมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงที่เกิดเหตุ พบศพกระจัดกระจายอยู่ริมชายฝั่งทะเลอยู่ในสภาพขึ้นอืดและเริ่มส่งกลิ่น จึงได้ช่วยกันลากศพทั้งหมดขึ้นฝั่ง แล้วนำส่งโรงพยาบาลยะหริ่ง เพื่อตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิต ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่า ไม่พบบาดแผลใด ๆ บนตัวผู้เสียชีวิต มีเพียงผิวหนังที่ลอกจาการอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน โดยคาดว่า เสียชีวิตมาแล้ว 3 วัน

          จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่คาดว่า ทั้ง 9 ศพเป็นลูกเรือประมงที่อับปางจากการออกไปหาปลาในคืน วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่เกิดพายุดีเปรชชั่นเข้าพอดี ทำให้เรือของชาวประมงทั้งหมดเกิดพลิกคว่ำ ประกอบกับคลื่นลมแรง จนทำให้ชาวประมงทั้งหมดจมน้ำเสียชีวิต อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่จะได้ประสานกับประมงจังหวัดปัตตานี และสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามและตรวจสอบว่าลูกเรือประมงทั้งหมด เป็นลูกเรือของเรือใดบ้างที่อับปาง

          อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เมื่อคืนนี้ชาวบ้านได้พบศพลูกเรือเพิ่มอีก 3 ศพ และเมื่อช่วงเช้านี้ ยังพบศพเพิ่มเติมอีก 2 ศพ รวมทั้งหมดเป็น 14 ศพ ขณะเดียวกันก็ยังพบผู้รอดชีวิต 2 ราย อายุประมาณ 25 ปี และ 27 ปี ซึ่งเป็นชาว จ.สุพรรณบุรี และ จ.ยโสธร โดยชาวบ้านได้นำส่งให้เจ้าหน้าที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี พร้อมได้สอบถามข้อมูลจากผู้รอดชีวิตทั้ง 2 รายว่า ในเรือดังกล่าวมีผู้โดยสารประมาณ 25 ราย เจอศพแล้ว 14 ราย ส่วนที่เหลืออีก 9 ราย ยังไม่ทราบชะตากรรม

          ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในปัตตานียังไม่คลี่คลาย เนื่องจากน้ำจากจังหวัดยะลาได้ระบายลงสู่แม่น้ำปัตตานี รวมกับน้ำป่าไหลหลากที่ไหลผ่านเมืองปัตตานี เพื่อระบายออกสู่ทะเล ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีเพิ่มสูงขึ้น จนล้นตลิ่งเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ทั้งในแขตตำบลจะบังติกอ, ตำบลสะบารัง และตำบลอาเนาะรูบางส่วน โดยเฉพาะถนนหลังวัง ที่มีน้ำท่วมสูง 1.5 เมตร รวมทั้งถนนหน้าวัง ถนนกลาพอ ถนนโรงอ่าง รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปมาได้

          ส่วนพื้นที่ราบลุ่มซึ่งเดิมมีน้ำท่วมอยู่แล้ว ปริมาณน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เมตรในเขต อ.ยะรัง ที่ ต.คลองใหม่, ต.ประจัน, เช่นเดียวกับที่ ต.ปะกาฮารัง, ต.บาราเฮาะ ต.ตะลูโบ๊ะ บ้านเรือนราษฎรต้องจมอยู่ในน้ำ ขณะที่ยังมีฝนตกลงมาอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีเพิ่มสูงขึ้นอีก



ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมปัตตานี วันที่ 4 พฤศจิกายน

          สถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.ปัตตานี วันที่ 4 พฤศจิกายน มีรายงานว่า ได้เกิดเหตุการณ์น้ำทะเลยกตัวขึ้นสูง 5 เมตร พัดเอาบ้านเรือนประชาชนกว่า 50 หลังใน ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี จมอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบคือที่บ้านหมู่ 1 จำนวน 20 ครัวเรือน บ้านหมู่ 3 จำนวน 6 ครัวเรือน และบ้านหมู่ 4 จำนวน 30 ครัวเรือน ส่วนบ้านหมู่ 2 ไม่ได้รับผลกระทบ

          ซึ่งทาง คชอ. ได้ออกมาชี้แจงว่า ได้เกิดเหตุการณ์นี้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ที่แหลมโพธิ์ได้รับความเสียหายหนัก แต่ปรากฎการณ์คลื่นสูงครั้งนี้ ไม่ใช่ปรากฎการณ์สตอร์มเซิรจ์แต่อย่างใด
เนื่องจากสตอร์มเซิรจ์เป็นคลื่นยักษ์ที่เกิดจากความเร็วลมระดับพายุไต้ฝุ่นที่ 118 กม./ชม.ขึ้นไป แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ยะหริ่ง มีความเร็วลมประมาณ 50 กม./ชม. เป็นแค่พายุดีเปรสชั่น

          ขณะที่นายกฯ อบต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ได้วิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านแหลมโพธิ์ด้วย เพราะถูกพายุซัดเสียหายอย่างหนัก

          ในส่วนของปริมาณน้ำจาก จ.ยะลา ยังคงไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานี จนล้นเข้าบ้านเรือนราษฎร
บริเวณ อ.เมือง อ.หนองจิก อ.แม่ลาน อย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จำนวน 500 ครัวเรือน

          เช่นเดียวกับแม่น้ำปัตตานีที่เพิ่มระดับสูงขึ้น ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านและถนนในเขตเทศบาลเมือง ปัตตานี คือ ต.จะบังติกอ ต.สะบารัง และ ต.คลองช้าง แต่ที่หนักที่สุดคือ ต.จะบังติกอ ระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นเร็วมากอยู่ที่ 30 – 70 ซม. โดยโรงเรียนต้องประกาศปิดการเรียนการสอนทั้งหมด โดยขณะนี้นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศบาลเมืองปัตตานี ได้สั่งเจ้าหน้าที่นำเครื่องสูบน้ำ จำนวน 20 ตัว รวมไปถึงเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เร่งระบายน้ำอย่างเร่งด่วน เนื่องจากในช่วงเย็นวันนี้คาดว่าระดับน้ำจะสูงขึ้น เพราะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา จะปล่อยน้ำอีกครั้ง

          ขณะที่เขตรอบนอกของตัวเมือง มีน้ำท่วม 3 ตำบล คือ ต.ปะกาฮารัง ต.บาราเฮาะ และ ต.ตะลุโบะ โดยเฉพาะที่ ต.ปะกาฮารัง จมอยู่ใต้น้ำหมดระดับน้ำสูง 2- 3 เมตร ชาวบ้านกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ อพยพออกจากพื้นที่ไปก่อนแล้ว

          นอกจากนี้ที่ อ.หนองจิก สถานการณ์น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างอีกหลายตำบล บ้านเรือน ถนน และพื้นที่การเกษตรจมอยู่ใต้น้ำ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำปัตตานีเอ่อล้นตลิ่ง หลายครัวเรือนต้องอพยพหนีไปอยู่บนถนน ส่วนถนนสายหลักปัตตานี-ยะลา รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เช่นเดียวกับ อ.ยะรัง อ.แม่ลาน และ อ.โคกโพธิ์ หลายตำบลยังคงมีน้ำท่วม

 



ภาพสถานการณ์หลังเกิดเหตุพายุถล่ม เมื่อคืนวันที่ 1 พ.ย. 2553 ที่ชุมชนรูสะมิแล จังหวัดปัตตานี



ข่าวน้ำท่วมปัตตานี วันที่ 3 พฤศจิกายน

          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปัตตานี ล่าสุดยังมีอีก 6 อำเภอ ที่ยังอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วง คือ อ.เมือง อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ อ.แม่ลาน อ.หนองจิก และ อ.สายบุรี ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ได้เข้าให้การช่วยเหลือ พร้อมแจกข้าวสารอาหารแห้ง ให้กับประชาชนที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง ที่มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 400 ครัวเรือน และจากการสำรวจในเบื้องต้น ทาง อ.ยะหริ่ง พบว่ามีบ้านได้รับความเสียหายจำนวน 4,000 หลัง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 10,000 คน

          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดจังหวัดปัตตานีได้ประกาศให้พื้นที่ทั้ง 12 อำเภอทุกตำบลเป็นพื้นที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว โดยมีพื้นที่ประสบปัญหา 12 อำเภอ 97 ตำบล 405 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 23,694 ครัวเรือน จำนวน 95,305 คน และได้อพยพออกจากพื้นที่แล้ว 700 คน ส่วนพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายรวมทั้งจังหวัดกว่า 1 พันไร่ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก

 

 




 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
       ,  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือน 8 จังหวัดใต้ ระวังฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2553 เวลา 10:04:16 49,370 อ่าน
TOP