x close

เดินสู่อิสรภาพในแบบ ... ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์
ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์
ประมวล เพ็งจันทร์

 



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

             เมื่อรู้สึกว่า "ตรรกะเหตุผล" เป็นเรื่องของอำนาจการใช้เหตุผล ซึ่งแม้จะเป็นระบบความคิดที่ดีและนำไปสู่การสร้างสรรค์ความรู้ แต่นั่นก็ไม่ใช่หนทางที่จะเข้าถึงความดีงามได้...

             อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ จึงเริ่มออกเดินทางค้นหาชีวิตความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ด้วยการเดินเท้า เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเรียนรู้ ที่ไม่ได้เกิดจากกระบวนการทางความคิด หากแต่เป็นการสัมผัสรู้ เป็นอะไรที่ตรงไปตรงมา เช่น ถ้าเราอ่านหนังสือท่องเที่ยว เราก็จะรู้ว่าประเทศไหนเป็นอย่างไรทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องเดินทางไป เพราะเรามีความรู้ เราเชี่ยวชาญในข้อมูล แต่ถ้าเราได้ไปเที่ยวจริง ๆ ไปสัมผัสจริง ๆ มันจะเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก เป็นผลิตผลของการประสานสมองกับใจไปด้วยกัน

ประมวล เพ็งจันทร์
ประมวล เพ็งจันทร์



             คงคล้ายกับความหมายการเดินด้วยศรัทธาของชาวอินเดีย และทิเบต ที่แม้ว่าพวกเขาจะมียวดยานพาหนะขับขี่ไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ยังเลือกที่จะเดินเท้าไปเอง ซึ่งถ้าหากขี่รถไป ก็เข้าถึงเหมือนกัน แต่ปราศจากความเคารพ การเดินจึงเป็นการเข้าถึงที่การแสดงความเคารพไปในตัว

             อาจเพราะการเดินมีความช้าเป็นตัวกำหนดด้วยส่วนหนึ่ง จึงทำให้อาจารย์ประมวลรู้สึกว่า การเดินนั้นสำคัญ เพราะปัจจุบันคนเราเสพติดความเร็ว อะไรที่ช้ามักจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดรำคาญ อะไรก็ได้ขอให้เร็ว ขอให้ถึงเป้าหมายเร็ว คนก็มักเห็นว่าเป็นความดี

             "ลองนึกดูสิ ถ้าเราจะเดินทางง่าย ๆ ไปหาแม่ กับเดินทางยาก ๆ ไปพบแม่ ความหมายต่างกันมากเลยนะ ยิ่งถ้าลูกคนไหนที่อยู่ไกลแล้วกลับไปหาแม่สักครั้ง แม่จะดีใจมาก ขณะเดียวกัน เราเองก็รู้สึกดีใจ เพราะว่าจะได้พบแม่แต่ละครั้งยากมาก เรื่องนี้ผมเข้าใจว่า เป้าหมายที่ได้พบแม่เป็นส่วนหนึ่ง แต่ความหมายที่ได้พบแม่มีความหมายไม่เท่ากัน ไม่ต่างกับความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ หากเราเข้าถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก หรือใช้ความเร็วมากำหนด ความหมายของสิ่งนั้นก็จะเบาบาง ไม่ยิ่งใหญ่"

             สำหรับ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ สำเร็จดอกเตอร์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยลัยไมซอ ประเทศอินเดีย เข้ามาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนจะตัดสินใจบอกลาอาชีพครูที่ทำมานานกว่ายี่สิบปี ออกเดินจากบ้านที่เชียงใหม่ไปยังบ้านเกิดที่เกาะสมุย ในเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งประสบการณ์การเดินเท้าคราวนั้น เปลี่ยนแปลงตัวเขาไปชั่วนิรันดร์ และการเดินทางไกลจากศาลายาสู่ปัตตานีจึงเกิดขึ้นในปีนี้ 2553

ประมวล เพ็งจันทร์
ประมวล เพ็งจันทร์



             การออกเดินทางทั้งสองครั้ง มีความหมายแตกต่างกัน หากแต่มีบางสิ่งบางอย่างเชื่อมโยง โดยอาจารย์ประมวล บอกว่า ถ้าไม่ผ่านการเดินครั้งแรก การเดินครั้งที่สองก็จะไม่มีความหมาย เพราะการเดินครั้งแรกมีจุดมุ่งหมายเพื่อเดินทางเข้าไปสู่มิติของจิตใจ เดินคนเดียว มีเงื่อนไขของตัวเอง แต่การเดินครั้งที่สอง เดินเพื่อสันติทางสังคม จึงเลือกเอาธงมาถือ เพื่อเชื่อมโยงตัวเองไปสู่สังคมได้

             "ครั้งที่สอง ผมมีเพื่อนร่วมเดิน จึงต้องคิดว่าจะเดินอย่างไรให้เพื่อนมีความหมายที่ดีเกิดขึ้นในใจ ช่วงเดินแรก ๆ ผมเป็นคนเดินนำ ปรากฎว่า เพื่อนบ่นว่าเหนื่อยเพราะผมเดินเร็ว ผมจึงปรับใหม่เลย บอกไม่เดินนำแล้ว ทีนี้ขอเดินตาม เดินช้า ๆ โดยเอาความรู้สึกเพื่อนมาเป็นที่ตั้ง เรารู้เลยว่า การเดินครั้งนี้มันมีความหมายที่แปรเปลี่ยนไปจากครั้งแรกที่เดินคนเดียว เพราะเราไม่เคยคิดถึงโลกภายนอก รู้แค่ว่าเราคิดอะไร"

             นอกจากจะเกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมเดินแล้ว คุณค่าอย่างหนึ่งของความช้าจากการเดินยังสร้างความทรงจำในรายละเอียดของถนนหนทาง ผิดจากปกติยามที่เดินทางไปไหน เราจะมีช่วงเวลาที่พบเห็นรายละเอียดต่าง ๆ เพียงไม่กี่นาทีที่รถขับผ่าน แต่การเดินทำให้เห็นรายละเอียดที่ละเอียดมาก ไม่ใช่เฉพาะคน รวมถึงพืชพันธุ์ สภาพความสูงต่ำของภูมิประเทศ ซึ่งการเห็นอย่างช้าแบบนี้ประทับความรู้สึกนุ่มลึกกว่ากันมาก

ประมวล เพ็งจันทร์
ประมวล เพ็งจันทร์



             "ผมว่าการเดินเป็นอุบายทำให้กายและใจประสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เราพูดกันเสมอในกลุ่มคนปฏิบัติธรรมว่า กายอยู่ไหน ใจอยู่นั่น แต่มันเหมือนเป็นแค่คำพูดเพราะ ๆ ใช้ในกรณีที่พูดถึงการกระทำในสถานที่ที่สะดวกสบายอย่างเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา แต่ผมรู้สึกเอ๊ะ..เราน่าจะต้องเอากายไปอยู่ในสถานการณ์ที่กำหนดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะในความจริง ถ้ากายอยู่ในที่คับขัน ใจเราล่ะจะไหวไหม..."

             แน่นอนว่า การเดินเท้าตลอด 66 วัน จากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย ย่อมส่งผลกระทบในทางกายภาพ อาจารย์ประมวล ยอมรับว่า เขามีบาดแผลเล็กน้อย ส่วนเท้าแตกถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในภาพรวมส่งผลดีต่อสุขภาพมาก ๆ จากที่เคยเป็นคนสุขภาพไม่แข็งแรง หลังจากผ่านการเดินไกล ก็แทบลืมไปเลยว่าตัวเองเคยเป็นหวัดง่าย นั่นแสดงว่าโครงสร้างทางกายเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา เหนือไปกว่านั้นคือการรู้ข้อจำกัดและเห็นค่าของร่างกาย

             จริงอยู่การเดินเป็นความลำบากที่คนเราคิดว่าไม่น่าปรารถนา เพราะโดยมากมักอยากให้ชีวิตสะดวกสบายจนกลายเป็นการเสพติด ยิ่งในปัจจุบันคนเรามีความกลัวความยากลำบากจนเหมือนถูกสาป เรียนหนังสือเพื่อที่จะได้ทำงานสบาย ๆ เก็บหอมรอมริบเพื่อหวังจะอยู่อย่างสบาย คือเราคิดฝันถึงแต่ชีวิตที่มันสบาย จนไม่มีโอกาสเสพสัมผัสรสชาติความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง

ประมวล เพ็งจันทร์
ประมวล เพ็งจันทร์



             "คือตามธรรมชาติของมนุษย์ต้องอยู่กันเป็นกลุ่ม ถ้าอยู่คนเดียวจะรู้สึกว้าเหว่ หวาดกลัว และความรู้สึกแบบนี้เราลืมไปเมื่อมาอยู่ในโลกปัจจุบัน เพราะเราอยู่ในสังคมซื้อขาย ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ทำให้มนุษย์อยู่กับตัวเองคนเดียวได้ ถ้าจะสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ก็จะสัมพันธ์ในมิติที่แปลก...ไปสัมพันธ์กันในโลกไซเบอร์ ซึ่งน่าเสียดายที่มนุษย์เราสูญเสียโอกาสที่จะได้สัมผัสความเป็นมนุษย์ในตัวมนุษย์คนอื่น ๆ โดยตรง"

             การเดินอาจไม่สามารถตอบโจทย์การเข้าถึงความเป็นมนุษย์ได้สำหรับทุกคน แต่อย่าลืมว่า ทุกครั้งที่คุณก้าวเดินจงใช้ใจและความคิดไปพร้อม ๆ กัน...ไม่แน่ว่าการเดินสั้น ๆ ของคุณก็อาจมีความหมายบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในใจได้....เช่นการเดินของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์

 ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์


   ร่วมปลุกพลังบวก เปลี่ยนประเทศไทย ได้ที่นี่ค่ะ    

 

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก





นิตยสาร ฅ คน ปีที่ 5 ฉบับที่ 12 (60) เดือนตุลาคม พ.ศ.2553

 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เดินสู่อิสรภาพในแบบ ... ประมวล เพ็งจันทร์ อัปเดตล่าสุด 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา 15:03:50 24,359 อ่าน
TOP